xs
xsm
sm
md
lg

“หลาดหน้าพระธาตุ” รอยยิ้มคนเมืองคอนบนทางท้าทาย บทพิสูจน์หอการค้า ไม่ใช่เพื่อ “หน้าตา” ใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย..กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล

ผ่านมาได้ 5 เสาร์แล้ว “หลาดหน้าพระธาตุ” ตลาด และถนนคนเดินที่ถูกรังสรรค์ขึ้นบนถนนราชดำเนิน ช่วงบริเวณนอกรั้วหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ทุกเสาร์เต็มไปด้วยผู้คนชาวเมืองนครศรีธรรมราช และนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเข้ามาเดินเล่นยามเย็นจับจ่ายสินค้าวิถีแบบธรรมดาๆ หลายชนิดสินค้าเป็นของธรรมดาๆ ที่มีมาแต่เก่าก่อน แต่ความหมายมันมีมากกว่านั้น วิถีเช่นนี้มันหายไปจากเมืองนครศรีธรรมราช มานานมากแล้ว
 

 
รอยยิ้มของชาวบ้านชาวเมืองที่มาเดินเที่ยวชมกลิ่นอายธรรมดาๆ ที่คุ้นเคยเมื่อวัยเยาว์ สอดแทรกไปด้วยวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่หาดูได้ยาก เสียงว่า “เพลงบอก” เสียงว่ากลอนมโนราห์ คนเฒ่าคนแก่มายืน มานั่งล้อมวงชมการแสดง กับบรรยากาศยามเย็นเคียงคู่กับองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช บรรยากาศแบบนี้หายไปจากย่านนี้นานเท่าไหร่แล้ว
 

 
หลาดหน้าพระธาตุ กำลังเป็นที่รู้จัก และไม่น้อยหน้าแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบถนนคนเดินจับจ่ายใช้สอยแบบพื้นถิ่นที่ธรรมดาๆ แต่ไม่ธรรมดา ด้วยการเสพสรรค์บรรยากาศของวิถีผู้คน สินค้าหลากหลาย ภาพความสวยงามของตลาดแห่งนี้จึงแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่แปลกที่จะเห็นนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ชาวจีน หรือฝรั่งเดินเที่ยวเดินชมเดินจับจ่าย
 
กรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช
 
ความกล้าหาญที่จะนำพาปรากฏการณ์เช่นนี้ ต้องยกย่อง “กรกฎ เตติรานนท์” ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช หาญกล้าที่จะนำกรรมการหอการค้าส่วนหนึ่งร่วมกับน้องๆ นักธุรกิจหน้าใหม่ในกลุ่ม YEC หอการค้านครศรีธรรมราช สร้างสรรค์มิติที่สวยงามแบบเก่าๆ ให้กลับมาอยู่ในยุคใหม่อีกครั้ง
 

 
ท่ามกลางการนำพาเรือลำใหญ่ที่มีฝีพายบางคนไม่พายไม่ว่า แต่เท้ากลับราน้ำไปเสียอีก อันนี้น่าเจ็บใจ ที่น่าเจ็บใจยิ่งกว่าด้วยการอ้างเอาความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ความไม่เหมาะไม่ควรที่จะทำกิจกรรมเช่นนี้มาอยู่บนถนนหน้าพระธาตุ เป็นข้ออ้างสวยหรู และเลือกที่จะใช้วิธีการน้ำเน่าต่อพี่น้องเพื่อนพ้องได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
 

 
ย้อนอดีตไปหลายสิบปีก่อน ลานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นลานกิจกรรมในวันสำคัญ ผู้คนหลั่งไหล่มารวมตัวกัน นอกจากทำบุญตามหลักการศาสนาแล้ว ลานวัดกลายเป็นตลาด และแหล่งพบปะของผู้คน สินค้า ศิลปะ วัฒนธรรมหลั่งไหลมารวมอยู่ในลานวัด หอม กระเทียม ปลาเค็ม ปลาแห้ง อาหารสารพัด ที่มาจากท้องถิ่นสารทิศ สินค้าอุปโภคบริโภคเต็มลานวัดเป็นเรื่องธรรมดา
 

 
เพราะวัดคือแหล่งรวมของชีวิตผู้คน ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิมมาค้าขายได้อย่างผสมผสานรักสามัคคี เศรษฐกิจท้องถิ่นจึงสะพัด ไม่มีก็แค่การประกวดนางงาม และไม่ผิดตามนิยามของพระบรมธาตุเจดีย์ตามนัยสำคัญของยูเนสโก นั่นคือ “ปูชนียสถานที่มีชีวิต” แม้ว่าจะผ่านไปกว่า 1,200 ปีแล้ว ความมีชีวิตของปูชนียสถานถูกสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดสาย
 

 
ในรอบหลายปีปรากฏการณ์นำพาหอการค้านครศรีธรรมราช ที่ได้สร้างกิจกรรมนำพาผู้คนผสมผสานกับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานราก ผนวกกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ศาสนาได้อย่างลงตัว ในเชิงสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ยอมรับว่า การสังเกตวิถีวัฒนธรรม ผู้คน ตลาดคือแหล่งรวมของผู้คนชุมชนจะเป็นแหล่งแรกๆ ที่สามารถสัมผัสวิถีชีวิตของท้องถิ่นนั้นๆ ได้

สอดรับต่อบทของภารกิจหอการค้า นั่นคือ การนำพาเศรษฐกิจ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วหลายปีที่ผ่านมา ทิศทาง “บทบาทการนำพาเศรษฐกิจ” ไม่เคยปรากฏเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อน นับว่า หลาดหน้าพระธาตุ เป็นผลงานที่ “เป็นชิ้นเป็นอัน” งานแรกที่ กรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช กรรมการหอการค้าอีกบางส่วน รวมทั้งพี่น้องในกลุ่ม YEC ใหม่หมาดสามารถพิสูจน์ตัวเอง และนำพาได้อย่างเด็ดเดี่ยว เวลาหลังจากนี้เป็นเครื่องพิสูจน์
 

 
แม้ว่าจะเป็นงานแรกในการนำพอหอการค้านครศรีธรรมราช ของ กรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ใหม่หมาดได้เพียง 3-4 เดือน แต่นี่เครื่องพิสูจน์การนำพาหอการค้าให้ตรงทิศ ตรงทาง นำพาเศรษฐกิจ เป็นก้าวแรกที่ทำได้ และความกล้าหาญนี้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า “หอการค้านครศรีธรรมราช” เพื่อชาวนครศรีธรรมราช ไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการประกวดนางงาม

ไม่ใช่องค์กรเพื่อการฉกฉวยสร้างผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของใคร เพื่อธุรกิจของใคร เพื่อเพื่อน หรือพวกใคร และไม่ใช่เพื่อเป็นบันไดสร้างฐานะให้แก่ตัวเอง ตำแหน่งทุกตำแหน่งของหอการค้านครศรีธรรมราช มีไว้เพื่อช่วยนำพาสังคม นำพาเศรษฐกิจ ไม่ใช่มีไว้เพื่อเพียงขึ้นเวทีถือไมโครโฟน หรือเพื่อเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ผมเชื่ออย่างนั้น
 
กำลังโหลดความคิดเห็น