xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการสิทธิขอจังหวัดสตูล ทบทวนการอนุญาตขอประทานบัตรเหมืองหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - กรรมการสิทธิขอจังหวัดสตูลทบทวนการอนุญาตขอประทานบัตรเหมืองหิน หลังพบเขาหลายลูกเป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารในชุมชนที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ ขณะที่ชาวบ้านรอบเขาร้องถูกละเมิดสิทธิ

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ อบต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมนักโบราณคดี สนง.ศิลปกรที่ 11 สงขลา อุตสาหกรรมจังหวัด สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เดินทางลงพบนายก อบต.ฉลุง และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชาวบ้านเพื่อลงตรวจสอบหลังมีกรณีการร้องเรียนว่า “เขาบังใบ” ซึ่งเป็นภูเขาในชุมชนเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งโบราณคดี ไม่เห็นควรให้มีการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินเขาบังใบ ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล

จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจรอบเขาบังใบ โดยก่อนหน้านี้ นักโบราณคดี สนง.ศิลปกรที่ 11 สงขลา ได้ลงสำรวจมาครั้งหนึ่งแล้ว และการลงในครั้งนี้ก็พบชิ้นส่วนของหม้อโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์ 1,500 ปี พร้อมทั้งชิ้นส่วนของกระดองเต่า และหอยหลายชนิด ทำให้เชื่อได้ว่าเขาแห่งนี้เคยเป็นที่พักพิงของมนุษย์โบราณ ดูได้จากบริบทรอบเขาที่เหมาะต่อการอยู่อาศัย
 
 

 
น.ส.ศิริพร สังข์หิรัญ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปกรที่ 11 สงขลา ยืนยันว่า จากการลงสำรวจครั้งที่ 2 นี้ ดูจากบริบทสภาพพื้นที่เป็นเพิงผา เหมาะต่อการตั้งถิ่นฐานหลบแดดฝน มีลำธารน้ำ และยังพบร่องรอยทางโบราณวัตถุ ดูจากสภาพแวดล้อมเชื่อได้ว่า ในอดีตเคยมีการอยู่อาศัย และเห็นควรให้มีการอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้ โดยหลังจากการสำรวจครั้งนี้จะทำหนังสือถึง อบต.ฉลุง และทางจังหวัดสตูล ให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีร่องรอยศิลปทางโบราณวัตถุควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า การเดินทางมาสำรวจในครั้งนี้ หลังมีการร้องเรียนไปทางคณะกรรมการฯ จึงเดินทางมาดูข้อเท็จจริงว่าประชาชนผู้เดือดร้อนถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ หรือถูกละเมิดสิทธิในด้านใดบ้างในจุดที่มีการร้องเรียนของชาวบ้านที่อาศัยรอบเขาบังใบ ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล และเขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน อ.ควนโดน จังหวัดสตูล

การลงสำรวจเขาบังใบ ต.ฉลุง ยิ่งได้รับคำยืนยันจากนักโบราณคดีแล้วว่า พื้นที่แห่งนี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้หลังพบโบราณวัตถุ การอยู่อาศัยของคนยุคโบราณ อีกทั้งพบตาน้ำลำธาร ที่เขาหินปูนนี้ก็ยิ่งตอกย้ำถึงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ไว้
 

 
“จากการรับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 100 คำร้องทั่วประเทศ กรณีการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินในหลายพื้นที่ และพบว่า จังหวัดสตูลมี 3 แห่งที่มีการขอประทานบัตร ซึ่งจะต้องมีการเสนอเรื่องให้ทางจังหวัดทบทวนการให้ใบอนุญาตอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องต่อคำขวัญจังหวัด หลังพบหลายพื้นที่เขามีความอุดมสมบูรณ์ของป่านานาพรรณ มีร่องรอยของโบราณวัตถุ มีร่องรอยของฟอสซิล และหินโบราณ มีแหล่งน้ำที่จะหล่อเลี้ยงหากมีการทำลายเขาหลายลูกในอนาคต อาจจะประสบต่อภาวะขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค” นางเตือนใจ กล่าวในที่สุด

สำหรับความคืบหน้าเขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล แม้ชาวบ้านจะออกมาคัดค้าน และทำหนังสือถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ระงับการขอประทานบัตร โดยขณะนี้ทางบัตรผู้ร้องขอได้ยื่นของประทานบัตรแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบก่อนจะมีการออกใบอนุญาต

การรุกหนักของนายทุนในการเดินหน้าขอสัมปทานเหมืองหินในพื้นที่ จ.สตูล กับภูเขา 8 ลูกที่ถูกประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ทำให้ชาวบ้านที่อยู่รอบภูเขา 3 กลุ่ม ออกมาค้านการระเบิดเขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน รอยต่อ อ.ควนโดน -อ.ควนกาหลง คัดค้านระเบิดเขาบังใบ ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล และเขาลูกเล็ก เขาลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเกิดความขัดแย้งกันเองภายในชุมชน ไม่ต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่
 

 
ในขณะที่นโยบายจังหวัดที่จะผลักดันให้สตูลเป็นอุทยานธรณีโลก หลังพบแหล่งหินโบราณที่ล้ำค่ายากจะประเมินหลายจุดในพื้นที่ โดยขณะนี้องค์กรยูเนสโกอยู่ระหว่างประเมินว่า ควรค่าจะให้เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลกหรือไม่ หากภาครัฐ และรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินการในการยกเลิกประกาศแหล่งหินทั้ง 8 ลูก ให้เป็นพื้นที่ทางทรัพยากรธรณีที่ทรงคุณค่า ก็คงเป็นปัญหาในพื้นที่ที่ยากจะแก้ไขทั้งชาวบ้าน และนายทุน

การประกาศเมื่อปี พ.ศ.2539 ต่อเนื่อง 2540 ตามประกาศอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมสตูล มีด้วยกัน 8 ลูก คือ 1.ภูเขาพลู ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 2.ภูเขาจำปา ภูเขาโต๊ะช่าง และภูเขาเณร หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 3.ภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า 4.เขาลูกช้าง โดยเขาโต๊ะกรังเป็นลูกเขาในกลุ่มนี้ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 5.เขาวังบุมาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 6.เขาละใบดำ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 7.เขาจุหนุงนุ้ย ต.กำแพง อ.ละงู และ 8.เขาละมุ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น