ตรัง - น้องน้ำขิง หนูน้อยวัย 3 ขวบ ซึ่งโชคร้ายป่วยด้วยโรคตุ่มน้ำในเด็ก จนปวดแสบปวดร้อน และคันอย่างรุนแรง ล่าสุด อาการดีขึ้นมากแล้ว แต่หมอขอให้หยุดเรียนก่อน 1 ปี และกินยาต่อเนื่องถึง 2 ปี
วันนี้ (17 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ ด.ญ.จิรัชญา กมุทรัตน์ หรือน้องน้ำขิง วัย 3 ขวบเศษ อยู่บ้านเลขที่ 279/142 ถ.ห้วยยอด ในเขตเทศบาลนครตรัง ได้ป่วยด้วยโรคภูมิต้านทานตัวเอง และเม็ดเลือดขาวไม่ทำงาน จนทำให้เกิดตุ่มใสขึ้น ปวดแสบปวดร้อน และมีอาการคันอย่างรุนแรง เมื่อแผลแห้งตกสะเก็ดก็มีตุ่มใสๆ ขึ้นใหม่อีก
โดยหลังจากมีการเสนอข่าว และได้เข้ารักษาตัวที่ รพ.ศูนย์ตรัง ช่วงระหว่างวันที่ 17-25 ก.ค.60 เป็นเวลา 8 วัน ซึ่งทีมแพทย์ก็ได้ระดมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จนในที่สุดขณะนี้อาการ น้องน้ำขิง ดีขึ้น และแพทย์ก็ได้อนุญาตให้น้องกลับไปพักรักษาตัวบ้านได้แล้วนั้น
น.ส.จิรา พรหมราช อายุ 37 ปี ซึ่งเป็นมารดาของ ด.ญ.จิรัชญา หรือน้องน้ำขิง กล่าวว่า แม้อาการของลูกสาวจะดีขึ้นมากแล้ว แต่หมอได้ขอให้หยุดเรียนไปก่อนเป็นเวลา 1 ปี และให้กินยาต่อเนื่องถึง 2 ปี หากร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มได้ อาการป่วยก็จะหายไปเองในที่สุด ทั้งนี้ เดิมที่ตนเองได้ทำงานอยู่ที่ จ.ภูเก็ต แต่ต้องลาออกมาดูแลลูกสาวด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด เพราะจะเจออากาศร้อน โดนฝุ่น ถูกฝน ตากแดดมากไม่ได้ ต้องให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ หากมิเช่นนั้นตุ่มน้ำใสๆ จะขึ้นมาอีก ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีขึ้นอยู่บ้าง ทำให้ต้องระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงให้มากที่สุด
มารดาของน้องน้ำขิง กล่าวด้วยว่า การที่ลูกสาวของตนได้มีโอกาสรักษาจนอาการป่วยดีขึ้นได้ถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะสังคมสื่อ ทั้งสื่อโซเชียลออนไลน์ ทีวี ทำให้เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ โดยเฉพาะทีวีช่อง 3 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่ได้รับ น้องน้ำขิง เข้าอยู่ในกองทุนช่วยเหลือฯ และยังมีการโอนเงินให้เดือนละ 10,000 บาททุกเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาจนกว่าจะหาย ซึ่งนับเป็นความโชคดีบนความโชคร้ายของลูกสาวจริงๆ และตนต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือไว้ ณ โอกาสนี้
สำหรับ ด.ญ.จิรัชญา หรือน้องน้ำขิง ทางกุมารแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง รพ.ตรัง ได้ให้การวินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำในเด็กที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งมักพบในเด็กเล็กช่วงอายุ 2-5 ปี สาเหตุเกิดจากร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองขึ้นมาต่อต้านกับโปรตีนที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวระหว่างชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดการแยกชั้นขึ้น ทั้งนี้ จากการวินิจฉัยโดยการส่งชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา พบรอยแยกระหว่างหนังกำพร้ากับหนังแท้ ส่วนการตรวจ Direct immunofluorescence พบเป็น Linear lgA deposit at basement membrane ซึ่งสามารถรักษาโดยการให้ยารับประทาน เช่น dapsone สักระยะหนึ่ง และโรคมักหายได้เอง