xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฟาร์ม “ผักโต้วเหมี่ยว” แห่งแรกในภาคใต้ที่สงขลา เผยทำเงินหลักแสนบาทต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดฟาร์ม “ผักโต้วเหมี่ยว” เจ้าแรกในภาคใต้ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เผยทำมาแล้วกว่า 20 ปี และเป็นผักปลอดสารพิษ ส่งขายสร้างรายได้นับแสนต่อเดือน

วันนี้ (15 ส.ค.) “ผักโต้วเหมี่ยว” เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะรู้จัก และเคยได้ลิ้มลองในเมนูอาหารประเภทผัด เมื่อก่อนหารับประทานได้เฉพาะตามร้านอาหารใหญ่ๆ เพราะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มมีขายตามท้องตลาด และตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เพื่อให้ผู้ที่ชื่นชอบซื้อไปประกอบปรุงเป็นอาหารรับประทานได้

ซึ่งแหล่งปลูกหลัก และที่มาของผักโต้วเหมี่ยวในภาคใต้อยู่ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ปลูกโดยครอบครัวของ นายชาญณรงค์ วิเชียรขจร อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/1 หมู่ที่ 5 บ้านนา ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยบอกว่า ครอบครัวของตนเองปลูกผักโต้วเหมี่ยว ส่งขายมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 20 กว่าปี เป็นเจ้าแรกในภาคใต้ และเจ้าเดียวใน จ.สงขลา
 

 
แม้ในปัจจุบันก็คงเป็นเจ้าเดียวอยู่ โดยได้จดเป็นบริษัทชื่อ บริษัทเสริมมิตร รุ่งเรือง จำกัด เพื่อเป็นมาตรฐานในด้านการค้า ในส่วนการปลูกผักโต้วเหมี่ยว ที่สำคัญคือ ต้องมีพื้นที่เพื่อสร้างเป็นโรงเรือน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับของตนเองได้ใช้อิฐก่อเป็นฐานสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ด้านบนใช้ปูนทำคล้ายๆ กระบะกว้าง 150 เซนติเมตร ยาว 20 เมตร ค่อยๆ ลดระดับความสูงของฐานลงมาเพื่อให้น้ำไหลได้

ส่วนวิธีการปลูกต้องเตรียมขี้เลื่อย ซึ่งจะใช้ขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา ที่จากการทดลองขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราจะทำให้เมล็ดพันธุ์โต้วเหมี่ยว งอก และให้ผลผลิตดีที่สุด โดยนำขี้เลื่อยมาแช่น้ำไว้ 1 คืน ล้างด้วยน้ำสะอาด 3 ครั้ง แล้วนำมาผึ่งไว้ให้แห้ง 1 วัน จากนั้นนำไปใส่บนกระบะปูนเกลี่ยให้เสมอ ความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หว่านลงให้ทั่ว แล้วใช้ขี้เลื่อยโรยด้านบนบางๆ แล้วเอาตาขายกรองแสงกั้นล้อมไว้ เพราะโต้วเหมี่ยว ชอบแสงแบบทึบๆ

หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน เมล็ดพันธุ์ก็เริ่มงอก และอีก 9-10 วัน ก็สามารถตัดได้ ซึ่งระหว่างที่ต้นงอก และเจริญเติบโต ต้องคอยดูขี้เลื่อยอย่าปล่อยให้แห้ง ปล่อยน้ำ หรือพรมน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ บางวันตนต้องเปิดสปริงเกอร์เพื่อพ่นน้ำให้อากาศเย็น ซึ่งต้นโต้วเหมี่ยวจะชอบอากาศที่เย็นๆ ทำให้ต้นโตเร็วมาก
 

 
นายชาญณรงค์ เปิดเผยว่า ผักโต้วเหมี่ยวของตนเองสามารถเก็บได้ทุกวัน เพราะในการปลูกจะกะเวลาในการเก็บไว้ให้พอดี เก็บรุ่นนี้รุ่นต่อไปก็เก็บได้ในอีกวัน ซึ่งจะเก็บวันละ 4 ร่อง หรือ 4 แถว โดยให้คนงานตัดตั้งแต่เวลา 05.00 น.ของทุกวัน ซึ่งคนงานจะใช้กรรไกรตัดต้นโต้วเหมี่ยว แล้วใส่ตะกร้าที่เตรียมไว้ ก่อนนำไปแพกลงถุง และกล่องขนาดต่างๆ เพื่อส่งให้ลูกค้าในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนเอง และครอบครัวมีโกดังอยู่ที่นั่น เพื่อกระจายสินค้าอีกต่อหนึ่งให้แก่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ และทั่วๆ ไป สำหรับลูกค้าในภาคใต้จะมีที่ จ.ภูเก็ต ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และส่งไป 3 จังหวัดบ้าง

ซึ่งมองว่าการตลาดยังคงไปได้ดี แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำ ราคาขายผักโต้วเหมี่ยวกิโลกรัมละ 150 บาท เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนก็กว่าแสนบาท ถึงแม้จะทำรายได้ดี แต่การลงทุนก็ยังสูง โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่ในประเทศไทยไม่มี ต้องสั่งนำเข้าจากประเทศแคนาดา และนิวซีแลนด์ ขั้นตอนการปลูกที่ต้องอาศัยประสบการณ์ อย่างเช่น น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำสะอาดผ่านการกรอง หากน้ำไม่สะอาดอาจทำให้ผักโต้วเหมี่ยวเป็นเชื้อราเสียหายได้ อากาศที่ร้อนจะทำให้เมล็ดไม่งอก หรือได้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี อัตราการงอกน้อย สิ่งเหล่านี้คงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้การปลูกไม่แพร่หลาย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น