xs
xsm
sm
md
lg

ผมฝันอยากเห็น “รูปเคารพ” ของ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่หน้าสถาบันทักษิณคดีศึกษา เกาะยอ สงขลา / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (ซ้าย) กับ จรูญ หยูทอง (ขวา)
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
 
เมื่อวันที่ ๘ ส.ค.๒๕๖๐ ผมไปเป็นวิทยากรเรื่อง “ช้างแคระในความทรงจำ” ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ก่อนเข้าสู่ประเด็นตามที่รับเชิญ ผมได้เสนอความคิดเห็น ความฝันของผมต่อที่ประชุมว่า
 
“นอกจากทุ่งบ้านขาว/ตะเครียะ จะมีช้างแคระที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เรายังมี ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกับช้างแคระ คือ กำลังจะถูกเลือนหายไปกับสังคมบริโภคนิยม...
 
“ผมฝันอยากเห็นรูปปั้น รูปเคารพ หรืออนุสาวรีย์ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อดีตผู้อำนวยการและผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ประดิษฐานอยู่หน้าสถาบันทักษิณฯ เกาะยอ...
 
“เหมือนที่ชาวบ้านหัวป่า-บ้านขาว-ตะเครียะ และชาวระโนด มีรูปปั้น ครูผัด จันทน์เสนะ อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดหัวป่าอยู่หน้าโรงเรียนวัดหัวป่า รูปปั้น นายเปรม ชูเกลี้ยง ผู้ริเริ่มเรียกร้องให้มีโครงการชลประทานทุ่งระโนด อยู่ใกล้โรงสูบน้ำชลประทานทุ่งระโนดที่บ้านหัวป่า และมีรูปปั้น ๔ บูรพาจารย์ของชาวระโนด อยู่ที่สวนบูรพาจารย์ พิพิธภัณฑ์ระโนด”
 
ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ มีคุณูปการต่อบ้านเกิดเมืองนอน และประเทศชาติ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับอาเซียน และระดับสากล เป็นปราชญ์ทางคติชนวิทยา หรือวัฒนธรรมชาวบ้าน เป็นปูชนียบุคคลด้านความเป็นครู เป็นผู้ส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ และจรรโลงวัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นผู้ร่วมริเริ่มจัดทำพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ หัวหน้าโครงการ โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนาและโครงการอื่นๆ อีกมากมาย
 
ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สาขาสังคมศาสตร์ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับการเชิดชูเกียรติให้ได้รับรางวัลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมจากสถาบันที่มีชื่อเสียงต่างๆ มากมาย ทั้งในประเทศ และระดับอาเซียน
 
ตลอดชีวิตการรับราชการของ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปฏิบัติหน้าที่แบบ “ปรนนิบัติราชการ” จนได้รับความเชื่อถือจากแหล่งทุนสนับสนุน ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะมูลนิธิโตโยต้า และประเทศญี่ปุ่น สมาคม มูลนิธิ และตระกูลคหบดีต่างๆ เช่น สมาคมชาวปักษ์ใต้ ตระกูลรัตนเลิศ ตระกูลรัตนปราการ ตระกูลอุททกพันธุ์ ตระกูลศิรินุพงศ์ ตระกูลจารุวัฒนา เป็นต้น
 
ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ คือผู้ริเริ่ม และพัฒนาให้มีศูนย์ภาษาและวัฒนธรรม ที่ต่อมาพัฒนามาเป็นสถาบันทักษิณคดีศึกษาใน มศว สงขลา และย้ายมาอยู่ที่เกาะยอจนปัจจุบัน สร้างพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา-อาคารนวภูมินทร์ จัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (ปี ๒๕๒๙ และ ๒๕๔๒) โครงการวิจัยเกี่ยวกับภาคใต้อีกหลายโครงการ เช่น โครงการโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา เป็นต้น
 
เหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ และดำรงรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ และวัฒนธรรมไทย ตามปรัชญา แนวคิด ความเชื่อหลักที่ว่า “กุศลปรุงแต่งกรรม วัฒนธรรมปรุงแต่คน” หรือที่สุดแล้วคือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ นั่นเอง
 
เพราะท่านมองเห็นว่า “วัฒนธรรมพื้นบ้านไทยกำลังอยู่ในสภาพเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ หากไม่รีบช่วยเหลือคงจมน้ำตายอย่างแน่นอน”
 
อนุสาวรีย์ ครูผัด จันทน์เสนะ (ซ้าย) กับ อนุเสาวรีย์ นายเปรม ชูเกลี้ยง (ขวา)
 
บั้นปลายชีวิตแม้ว่าท่านจะยังทุ่มเทให้แก่งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการกำกับดูแลสถาบันทักษิณคดีศึกษา แต่ท่านก็มีมารผจญ และต้องฝ่าวิบากกรรมตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๓๙ ปีเดียวกับที่ท่านชวนผมมาอยู่สถาบันทักษิณคดีศึกษา และร่วมชะตากรรมกับท่านในบั้นปลายชีวิต
 
และเมื่อท่านผิดหวัง และถูกปฏิเสธจากผู้บริหารสถาบันทักษิณคดีศึกษาตามใบสั่งของอดีตอธิการบดีคน (ปาก) เก่งคนหนึ่ง ท่านจึงหันไปทำงานร่วมกับ ศ.ชวน เพชรแก้ว ศิษย์ผู้ให้ความเคารพ และสนองเจตนาของท่านด้วยความเข้าใจ (ไม่เหมือนบางคนที่ท่านเคยพูดต่อหน้าผมว่า “ไม่เห็นมันทำตามที่มันพูดสักอย่าง”)
 
จนในที่สุด จากการตรากตรำทำงานมาตลอดชีวิตราชการ และยังสมบุกสมบันในช่วงหลังเกษียณ เพื่อทำในสิ่งที่อยากจะทำ แต่ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ในช่วง “ปรนนิบัติราชการ” สังขารของท่านสู้ไม่ไหว จึงล้มป่วยลง และค่อยๆ ทรุดโทรมลง
 
จนอาจารย์จากลาไปในวัยอันสมควร แต่เชื่อว่าถ้าอาจารย์ไม่ล้มป่วย และสูญเสียศักยภาพเสียก่อน อาจารย์จะยังคงสร้างสรรค์งานเพื่อชาติบ้านเมืองต่อไปไม่หยุดยั้ง
 
ดังนั้น เพื่อแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อตอกย้ำถึงตำนานของ “คนสร้างทาง” ผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านคติชนวิทยาของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคใต้ และอาเซียน ผมจึงฝันอยากเห็นรูปปั้น ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ สถิตอยู่หน้าสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ สงขลา เพื่อให้ผู้ผ่านทาง และผู้มาเยี่ยมชมสถาบันทักษิณคดีศึกษาได้สักการะ หรือรับรู้ว่าท่าน คือ ผู้สร้างผู้ให้กำเนิดสถาบันแห่งนี้
 
ใครมีความคิดเห็นอย่างไร ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เอาด้วย ไม่เอาด้วย ทั้งมิตรและศัตรู เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นมาครับ ผมยินดีรับฟัง และน้อมนำเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
 
กำลังโหลดความคิดเห็น