xs
xsm
sm
md
lg

มันหยด! “ด็อกเตอร์ ม.อ.” ท้ารบ “ด็อกเตอร์ กฟผ.” กรณีนำ นศ.ม.อ.ปัตตานีไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ด็อกเตอร์ ม.อ.” ฝากการบ้านถึง “ด็อกเตอร์ กฟผ.” เรื่องพานักศึกษา ม.อ.ปัตตานีไปดูงานที่ จ.ลำปาง แล้วประชาสัมพันธ์หนุนปักหมุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใต้เสียใหญ่โต ติงอย่าแค่ฉวยโอกาสสร้างภาพสวยหรู ขู่พร้อมจะนำคลิปพูดคุยกับชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาเปิดเผย
 
จากกรณีไม่นานมานี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทไทย (กฟผ.) ได้จัดทำโครงการนำคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง แล้วเมื่อกลับมามีการนำภาพ และเรื่องราวออกทำการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เกิดการสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งในภาคใต้ โดยเฉพาะล่าสุด กฟผ.รุกหนักแบบต้องการปักหมุดก่อสร้างในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา กับ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี และที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ปัตตานี ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า Somporn Chuai-Aree โดยต้องการส่งสารถึง ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. รับผิดชอบงานด้านชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ หรือที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Anuchart Palakawongse ความว่า
 
“เรียน ดร. Anuchart Palakawongse สืบเนื่องตอนพานักวิชาการไปดูงานแม่เมาะ ก็ไม่ได้พาลงชุมชน พานักศึกษา ม.อ.ปัตตานีไปคราวนี้ ได้ลงชุมชนด้วยหรือเปล่าละครับ?...
 
“โชคดีที่ไปครั้งนั้นผมลงไปหาชุมชน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ฟังจากปากชาวบ้าน พานักศึกษาไปครั้งนี้ได้พาไปถ่ายรูปใกล้บ่อบำบัดน้ำเสียด้วยไหมครับ น่าจะพาเด็กๆ ไปเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน โคลน ตะกอน มาตรวจวัดเชิงประจักษ์ด้วยนะครับ น่าจะดีกว่าแค่ถ่ายรูป ซึ่งไม่รู้ว่าอากาศดีพิสูจน์ด้วยภาพอย่างไร?...
 
“น่าจะมีการจับปลาในบ่อน้ำจากแหล่งต่างๆ มาตัดชิ้นเนื้อดูด้วยนะครับว่า มีสารแปลกปลอมในเนื้อปลา ในเครื่องในด้วยไหมครับ ตรวจในต้นธูปฤาษีด้วยครับว่า กรองได้กี่เปอร์เซ็นต์ครับ ปล่องควันของท่อไอเสียของโรงไฟฟ้า น่าจะเปิดให้คนไทยดูออนไลน์ด้วยสดๆ จะดีมากๆ ครับ...
 
“เวลาพูดถึงโรงไฟฟ้า อย่าพูดแต่ทางอากาศครับ ต้องพูดทางด้านน้ำด้วยครับ ลองเขียนสมดุลมลสารที่เป็นข้อกังวลแต่ละตัวดูไหมครับว่า ไม่ออกทางปล่อง หรือค่าต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว มลสารที่เหลือไปกองอยู่ทางไหนบ้างครับ สังคมจะได้รับทราบสมดุลทางเคมีได้อย่างเข้าใจครับ”
 
นอกจากนี้แล้ว ในตอนท้ายของโพสต์ดังกล่าว ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ยังมีการฝากการบ้านให้ ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา อย่างเป็นพิเศษด้วยว่า

“ผมยังมีคลิปที่เคยสอบถามชาวบ้านอยู่ครับ จะได้เตรียมนำมาสะท้อนให้นักศึกษาเหล่านี้ได้ทราบว่า เค้าได้มุมมองรอบด้านแล้วหรือยังครับ หลังจากกลับมาจากแม่เมาะ ผมนั่งดูการสื่อสารของคุณมาตลอดครับ เมื่อใดที่ผมรู้สึกว่ามากไป เกินงาม ผมก็จะออกมาครับ ด้วยมิตรภาพครับ”
 
กำลังโหลดความคิดเห็น