xs
xsm
sm
md
lg

สรุปว่าสร้างได้นะ ที่ดินภูเก็ตยันบ้านหรูไหล่เขาติดทะเลโฉนดถูกต้อง อีก 1 สัปดาห์ได้ข้อยุติให้สร้างสูงกี่เมตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หลายหน่วยงานในภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านพักตากอากาศหรูบนเนินเขาริมทะเลทางไปอ่าวเลน และแหลมกระทิงอีกครั้ง วัดค่าพิกัดจุดน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เพื่อให้รู้ก่อสร้างได้สูงกี่เมตร รู้ผลชัดเจน 1 สัปดาห์ ด้านที่ดินยืนยันโฉนดออกถูกต้องตามกฎหมาย แม้ออกโดยไม่มีหลักฐานใดๆ แต่ยื่นขอก่อนปี 2537 ขณะที่ตัวแทนเจ้าของเผยพร้อมแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประกาศ แจงภาพที่แชร์ในโซเชียลเป็นแบบเก่าที่สร้างไม่ได้ เพราะติดกฎหมายหลายฉบับ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (3 ส.ค.) ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นาวาเอก บวร พรหมแก้วงาม รอง ผอ.กอ.รมน.ภูเก็ต เป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบบ้านพักตากอากาศหรู ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาริมชายหาด ทางไปอ่าวเสน และแหลมกระทิง หมู่ที่ 1 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ โดยมี นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ นายเกษม สุขวารี ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายอำนวย พิณสุวรรณ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต นายรักเกียรติ ดีดพิณ นักผังเมืองชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ตัวแทนจากเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ส.ป.ก.ป่าไม้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายปกครอง หมวดรักษาความสงบเรียบร้อยทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรูดังกล่าว ก่อนที่จะลงพื้นที่ก่อสร้างตรวจสอบอีกครั้ง

โดยการลงพื้นที่ในวันนี้ ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ได้นำกล้อง Total Station ซึ่งสามารถตรวจวัดค่าความแม่นยำได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไปตรวจวัดหาค่าพิกัดน้ำทะเลท่วมสูงสุด โดยมีเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต เป็นผู้ชี้แนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เพื่อหาพิกัดจุดที่มีการก่อสร้างว่าอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ 1 หรือ 2 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่กำหนดพื้นที่บริเวณที่ 1 ห่างจากจุดที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด 20 เมตร สร้างอาคารสูงได้ 6 เมตร บริเวณที่ 2 ห่างจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 50 เมตร สามารถก่อสร้างอาคารสูงได้ 12 เมตร โดยทางโยธาฯ จะใช้เวลาในการดำเนินการประมวลผล 1 สัปดาห์ จากนั้นก็จะทราบแน่ชัดว่าจุดที่มีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรูทั้ง 4 หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใด และแต่ละหลังสร้างได้สูงกี่เมตร โดยก่อนหน้าที่ทาง ทสจ.ภูเก็ต ได้นำเครื่อง GPS มาตรวจสอบครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ผลออกมาก้ำกึ่งจุดก่อสร้างอยู่ตั้งบริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 จึงต้องหาความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งในวันนี้

ด้าน นายอำนวย พิณสุวรณ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานถึงการตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินแปลงที่มีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศทั้ง 4 หลัง ว่า ทางสำนักงานที่ดินได้มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเสร็จแล้ว พร้อมทั้งรายงานให้ผู้ว่าฯ รับทราบแล้ว ว่า เป็นการออกโฉนดที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเจ้าของที่ดินเดิมได้ยื่นขอออกโฉนดมาตั้งแต่ปี 2531 เป็นการขอออกโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วสามารถออกโฉนดได้ เนื่องจากได้ยื่นขอก่อนปี 2537 ก่อนที่จะมีกฎกระทรวง 43 ที่ห้ามออกโฉนดที่ดินที่ไม่มีหลักฐานใดหลังปี 2537 โดยครั้งแรกยื่นขอออกทั้งหมด 83 ไร่ ได้มีการพิจารณาตัดออกไปในทั้งในส่วนของที่ป่า ที่ ส.ป.ก.ที่ลาดชันเกิน 35% และเขตภูเขา จนเหลือเนื้อที่ 30 ไร่เศษ ออกเป็นโฉนดในปี 2553 โฉนดที่ดินเลขที่ 96799 หลังจากนั้น เจ้าของได้ขอแบ่งแยกโฉนดออกเป็นแปลงเล็กๆ 11 โฉนด ตั้งแต่ปี 2559-2560

สำหรับแปลงที่มีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรูทั้ง 4 หลังนั้น เป็นโฉนดเลขที่ 113311 เนื้อที่ 1 ไร่กว่าๆ ออกเมื่อปลายปี 2559 ทางที่ดินจังหวัดภูเก็ตตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่า โฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย

ด้าน นายรักเกียรติ ดีดพิณ นักผังเมืองชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การสร้างบ้านพักตากอากาศในบริเวณดังกล่าวมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ กฎหมายผังเมือง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเหลือง สามารถสร้างบ้านพักอาศัยได้ ฉบับที่สอง คือ กฎกระทรวงฉบับที่ 20 พ.ศ.2532 ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 บริเวณ คือ จากชายทะเลขึ้นไป 50 เมตร บริเวณที่ 2 ห่างจากทะเล 150 เมตร และจุดที่ 3 ห่างจากทะเล 500 เมตร ซึ่งสอดคล้องต่อประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ ที่กำหนดบริเวณที่ 1 สร้างได้สูง 6 เมตร บริเวณที่ 2 สร้างได้สูง 12 เมตร ซึ่งในวันนี้จะนำเครื่องมือไปตรวจวัดว่าจุดที่สร้างอยู่ในบริเวณใดบ้าง โดยจะตรวจวัดอย่างละเอียด หลังจากนั้น จะนำไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์ เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น จะสรุปว่าในแต่ละจุดที่สร้างบ้านไปแล้ว สร้างสูงได้กี่เมตร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของป่าไม้ และ ส.ป.ก.ได้ยืนยันว่า ที่สร้างบ้านหรูดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. และไม่ได้อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด และป่าถาวรแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่พบหลักมุด ส.ป.ก.ในพื้นที่ก่อสร้างนั้น ทาง ส.ป.ก.รายงานว่า จากการสอบถามทราบว่าคนงานก่อสร้างพบหลักมุดตกอยู่ในบริเวณก่อสร้าง จึงน้ำมาปักไว้ ซึ่งทาง ส.ป.ก.จะได้เก็บคืนต่อไป

ขณะที่ นายอนันต์ จันทมาศ ตัวแทนเจ้าของบ้านพักตากอากาศหรู ระบุว่า หลังจากที่เทศบาลตำบลราไวย์ ได้นำหนังสือสั่งระงับการก่อสร้างมาติดไว้ที่โครงการ ทางเราก็ได้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อสั่งการของเทศบาล ทุกประการ โดยขณะนี้กำลังแก้ไขในส่วนของโรงจอดรถบ้านหลังที่ 1 และ 3 ส่วนของหลังที่ 2 และ 4 นั้น กำลังรอผลสรุปว่าอยู่ในบริเวณที่ 1 หรือ 2 ซึ่งทางเราพร้อมที่จะแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

โดยในส่วนของเจ้าของบ้านเองพร้อมที่จะทำตามที่กฎหมายกำหนด และมั่นใจว่าทั้งที่ดิน และการก่อสร้างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะก่อนที่จะตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงนี้ ได้มีการตรวจสอบการออกโฉนด พร้อมศึกษา และหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเรื่องก่อสร้าง ว่าสามารถที่จะทำได้หรือไม่ ก่อนตัดสินใจชื้อที่ดินแปลงนี้ เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา รวมถึงทางเจ้าของบ้านได้จ้างเอกชนเข้ามาทำการตรวจวัดว่าที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ 1 หรือ 2 ตามประกาศกระทรวงทรัพยฯ ซึ่งเราได้ทำตามกฎหมาย โดยสร้างบ้านสูง 6-9 เมตร ไม่ได้สร้างสูงถึง 12 เมตร ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่ได้สร้างเต็มพื้นที่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ที่มีการแชร์ภาพของบ้านหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วเป็นภาพที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด 4 หลังในโซเชียลนั้น ขอชี้แจงว่า ภาพนั้นเป็นภาพเก่าเมื่อปีที่แล้ว ที่ตอนนั้นได้มีการออกแบบเพื่อสร้างในจุดนี้ แต่ติดกฎหมายหลายตัวมาก ไม่สามารถสร้างได้ จึงได้มีการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องต่อกฎหมาย ที่บ้านแต่ละครั้งไม่ได้เชื่อมต่อกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น