xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานจังหวัดภูเก็ตหนุนตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ตากส้มควาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - พลังงานจังหวัดภูเก็ต หนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวาน พัฒนาตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

วันนี้ (21 ก.ค.) สำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต กระทรวงพลังงาน นำโดย นายวิโรจน์ ดำคง พลังงานจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย น.ส.ลัดดาวัลย์ วายุพัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน และนางเสาวนีย์ ศักดิ์สมกุลอุทัย ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการแปรรูปส้มควายตากแห้งด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบางหวานพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

โดยมี นายยุทธพงศ์ ยายี กำนันตำบลกมลา นายกฤษณ์ สาริยา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.กมลา น.ส.ลัดดา คาวิจิตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และสมาชิกกลุ่ม และ พ.ต.ท.ประมวล จ่ายกระโทก รอง ผกก.สภ.กมลา ร่วมให้การต้อนรับคณะดังกล่าว และมีสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายวิโรจน์ ดำคง พลังงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้มีนโยบายการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา หมู่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่กระทรวงพลังงาน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการพลังงานทดแทนให้สอดคล้องต่ออาชีพของชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ

ร่วมส่งเสริมนวัตกรรมระบบอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 2 เมตร จำนวน 3 ตู้ งบประมาณโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2560 จำนวน 50,000 กว่าบาท เพื่อใช้ในการแปรรูปผลผลิต “ส้มควาย” พืชท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ได้แก่ ส้มควายกวน ส้มควายแช่อิ่ม ส้มควายแก้ว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร

ที่ผ่านมา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา ใช้วิธีแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีธรรมชาติ พึ่งพาแสงอาทิตย์ในกระบวนการอบแห้ง ทำให้สูญเสียเวลาไม่น้อยกว่า 3 วันต่อรอบการผลิต โดยได้นำมากตาก และวางบนพื้นแบบชาวบ้าน รวมถึงประสบปัญหาเรื่องความสะอาดและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ แต่ภายหลังจากเปลี่ยนมาใช้ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้สามารถประหยัดเวลาลงได้ 1-1.5 วัน ต่อรอบการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มากขึ้น และยังทำให้ส้มควายที่ผลิตนี้สะอาดได้มาตรฐาน ปลอดภัยมากขึ้น

นายวิโรจน์ กล่าวต่ออีกว่า การสนับสนุนตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา เพื่อแปรรูปผลผลิตส้มควายเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสื่อถึงการตระหนักถึงคุณค่าของพืชท้องถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต และยังส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นส้มควายให้คงอยู่สืบไป

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา ถือเป็นโครงการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาการแปรรูปผลไม้ถิ่นที่ประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนอย่างลงตัว จนต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอร่อย สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนการกระจายรายได้ชุมชนอย่างแท้จริง

ด้าน นางลัดดา คาวิจิตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรบางหวานพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เป้าหมายของกลุ่มทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ให้ชุมชนมีรายได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ปีนี้เป็นมิมิตหมายที่ดีที่ได้รับการสนับสนุนตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย มีเวลาทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น