xs
xsm
sm
md
lg

“เตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้ ม.อ.” นอกจากมากมายความฉงน! ยังล้นเหลือไปด้วยวิชามาร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ป้ายโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ตระหง่านอยู่ด้านหน้าพื้นที่ก่อสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้ของ ม.อ.
 
แล้ว “ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)” ชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ “นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล” อธิการบดี ม.อ. ซึ่งเวลานี้กำลังเป็นที่กล่าวขวัญอย่างหนาหู ก็ได้ตัดสินใจให้ใช้พื้นที่บนเนินเขากว่า 400 ไร่ ใน ต.ทุ่งใหญ่ คาบเกี่ยวกับ ต.ท่าขาม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เร่งเครื่องเต็มเต็มสูบเพื่อเดินหน้าก่อสร้าง
 
“โครงการศูนย์ทำลายวัสดุและของเสียทางการแพทย์ เพื่อการเรียนรู้และเป็นต้นแบบภาคใต้”
 
แต่เมื่อสำรวจเอกสารข้อมูลพื้นฐานของโครงการบางส่วน ซึ่งเพิ่งจะหลุดถึงมือชาวบ้านไม่กี่วันก่อนหน้า ม.อ.นัดผู้นำท้องถิ่นตั้งไปเปิดเวทีชี้แจงคุณงามความดีของโครงการในวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้น ทั้งผู้นำ และชาวบ้านตื่นตัวไม่เข้าร่วม แถมนัดรวมพลังแสดงการคัดค้าน ณ วัดทุ่งงาย เกือบ 1,000 คน ทำให้เวทีล่มไปไม่เป็นท่า โดยเนื้อหาในข้อมูลพื้นฐานของโครงการดังกล่าวไม่มีการระบุเลยว่า แท้จริงแล้วโครงการนี้ควรเรียกให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือ
 
“เตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้”
 
เพียงแต่เมื่อถูกชาวบ้านซักถามมากๆ เข้าก็เลยหลุดคำเรียกดังกล่าวออกมาว่า ซึ่งนอกจากเตาเผาขยะติดเชื้อที่กำลังจะสร้างนี้กำหนดให้รองรับขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล ม.อ.เองแล้ว ยังมีแผนให้เปิดรับรับบริการจากทุกโรงพยาบาล คลินิก และสถานบริการต่างๆ ใน จ.สงขลา รวมถึงอีกหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ด้วย
 
ต้องนับว่าผู้บริหาร ม.อ.ชุดนี้เดินหน้าชนโดยไม่สนใจกระแสเสียงคัดค้านของผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะวานนี้ (12 ก.ค.) ได้มีการออกประกาศ “คำชี้แจงโครงการศูนย์ทำลายวัสดุและของเสียทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บ้านทุ่งงาย ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา” พร้อมด้วย “10 คำถามกับศูนย์ทำลายวัสดุและของเสียทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เผยแพร่ต่อสาธารณะ
 
พร้อมกันนั้น ก็มีผู้ที่อ้างตนว่าเป็น “สื่ออิสระ” ที่ถนัดหาประโยชน์กับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจเงินหนา และกลุ่มทุน รับทำหน้าที่นำไปช่วยกระจายเผยแพร่ ทั้งนี้ ก็เพื่อหวังผลสร้างกระแสกดดันกลุ่มผู้นำ และชาวบ้านที่รวมตัวกันคัดค้าน
 
ไม่เพียงเท่านั้น วันนี้ (13 ก.ค.) มีข่าวสะพัดว่า ผู้บริหาร ม.อ.จะยกทีมพร้อมด้วยนายอำเภอหาดใหญ่ กำนันตำบลทุ่งใหญ่ และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา เข้าพบ “นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม” ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อหาวางแผนเดินหน้าก่อสร้างโครงการให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะการผลักดันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เด็ดเอาเฉพาะผู้บริหาร อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงผู้นำชุมชนต่างๆ เพราะไม่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม
 
เป็นที่ร่ำลือกันว่า การเดินหน้าสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้ของ ม.อ.เที่ยวล่าสุดนี้ มากมายไปด้วยความอึมครึม ความฉงนสนเท่ห์แก่สังคม แถมบางเรื่องราวยังส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลเอาเสียด้วย
 
ซ้ายสุดนายอำเภอหาดใหญ่ ตามด้วยกำนันตำบลทุ่งใหญ่ และขวาสุดนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ.
 
*** จาก “แคมปัส” แปลงโฉมเป็น “โรงงานกำจัดขยะติดเชื้อของภาคใต้”
 
จากการเปิดเผยของ นายณัฐจักษ์ สุนทโร นายก อบต.ทุ่งใหญ่ และนายธีรวัฒน์ เพชรสลับศรี รองนายก อบต.ทุ่งใหญ่ รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทราบเรื่องราวเล่าว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผู้บริหาร ม.อ.สมัยนั้นได้ขอใช้พื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์กว่า 400 ไร่ บนเนินเขาของหมู่บ้านทุ่งงายไป “ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา” โดยให้สัญญาลูกผู้ชายไว้ว่าจะ “มุ่งเน้นการเรียนการสอน” ซึ่งผู้นำ และชาวบ้านต่างเห็นด้วย และพร้อมใจกันยกให้
 
หลังได้ที่ดินผืนงามกลางชุมชนไป ม.อ.ก็ได้ประกาศให้สาธารณะรับรู้ทั่วกันว่า จะมีการโยกย้ายการเรียนการสอนไปเปิดเป็น “แคมปัสใหม่” รวม 4 คณะ โดยเน้นคณะที่เกี่ยวข้องต่อการเกษตรเป็นหลัก
 
ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งงบ 270 ล้านบาท ให้จังหวัดต่างๆ บนแผ่นดินด้ามขวานรับไปสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อรองรับพื้นที่ทั้งภาคใต้ แต่แทบทุกจังหวัดปฏิเสธ จึงมีการเล็งแลมาที่ จ.สงขลา เนื่องจากมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และสถานพยาบาลในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก แล้วกลางปี 2558 ได้มอบหมายให้เทศบาลนครหาดใหญ่ ผลักดันตั้งที่ ต.คูเต่า แต่ถูกประชาชนชุมนุมต่อต้านจน นายไพร พัฒโน นายเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ยินยอมประกาศล้มโครงการในที่สุด
 
นับเนื่องจากปลายปี 2558 เป็นต้นมา ข่าวคราวการใช้ประโยชน์ในที่ดินบนเนินเขาที่ ม.อ.ขอไปจากชาวบ้านก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป แทนที่จะก่อตั้งแคมปัสใหม่ที่ตามประกาศไว้ กลับกลายเป็นเรื่องของการทำ “โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้” โดยขึ้นป้ายไว้เด่นชัด ซึ่งเมื่อชาวบ้านรับรู้รับต่างก็ไม่ได้เอะใจอะไร แถมยังร่ำลือกันไปว่าจะมีการก่อสร้าง “หอดูดาวขนาดใหญ่” ให้เป็นหน้าเป็นตาของคนพื้นที่ด้วย
 
แต่แล้วจู่ๆ ต้น มี.ค.2560 ที่ผ่านมา กลับมีข่าวเล็กๆ ปรากฏเล็ดลอดจากรั้ว ม.อ.สู่ผู้นำ และชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทุ่งใหญ่ ว่า ผู้บริหาร ม.อ.ได้ประสานไปทางอำเภอหาดใหญ่ ให้เกณฑ์แก่นแกนผู้นำในพื้นที่ไปร่วมเวทีรับฟังการชี้แจงโครงการก่อสร้าง “เตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้” ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้นั่นเอง
 
ซึ่งเวลานั้นนับว่าโชคดีอยู่บ้างที่มีข่าวลือตามมาว่า มีนักวิชาการบางคนถอนตัว แถมมีการระบุว่าผู้ว่าฯ “ไม่ชอบของร้อน” ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย จึงมีการเลื่อนการตั้งเวทีชี้แจงไปไม่มีกำหนด
 
ทว่าเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.มานี้ จากที่เคยเป็นข่าวเล็กๆ ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาใหม่ แถมสะพัดไกลไปทั่ว จนเป็นที่รับรู้รับทราบของคนไทยทั้งใน และนอกประเทศ เนื่องจากมีสื่อหลายสำนักรายงาน แถมมีปฏิบัติการเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ให้ชมกันอย่างทั่วถึง และจุใจกับเหตุการณ์ชาวบ้านทุ่งงาย และจากพื้นที่โดยรอบที่ตั้งโครงการทั้งใน ต.ทุ่งใหญ่ ต.ท่าข้าม ต.พิจิตร และ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ ลุกขึ้นฮือต้านเตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้ จากจำนวนสิบเพิ่มเป็นร้อย แล้วในเวลานี้จำนวนพันเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ง่ายดาย
 
ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อว่า วันที่ 20 ก.ค.นี้ ที่ผู้นำ และชาวบ้านหลายตำบลรอบๆ โครงการ รวมถึงชาวเมืองหาดใหญ่ ที่เห็นว่าจะมีผลกระทบไปด้วย ได้นัดฟังคำตอบจากผู้บริหาร ม.อ.หลังยื่นข้อเสนอเมื่อครั้งร่วมชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยฝ่ายชาวบ้านประกาศไว้ชัดเจนว่า หากได้คำตอบไม่เป็นที่พอใจ ก็จะมีการยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นขึ้น 
 
กลุ่มคัดค้านโครงการเคลื่อนขบวนผ่านเลยแวะถ่ายภาพกับป้าย ม.อ.
 
*** “เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่” โยกย้ายที่ตั้งได้เหมือน “เด็กเล่นขายของ”
 
มีเรื่องที่น่าสนใจทั้งที่ถูกเล่าผ่านเรียวปากนายก และรองนาย อบต.ทุ่งใหญ่ รวมถึงผู้นำ และผู้หลักผู้ใหญ่ใน ต.ทุ่งใหญ่ และ ต.ท่าข้าม ด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหาร ม.อ.ชุดนี้แสดงความไม่จริงใจ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นความกะล่อนก็น่าจะได้ นั่นคือ แต่เดิม “เอกสารแผนผังแสดงที่ตั้ง โครงการศูนย์ทำลายวัสดุและของเสียทางการแพทย์ เพื่อการเรียนรู้และเป็นต้นแบบภาคใต้” ซึ่งได้นำมาให้ผู้นำ และชาวบ้านดู เคยมีการระบุที่ตั้งโรงกำจัดขยะไว้ “บนพื้นที่เล็กๆ มุมด้านข้างด้านหนึ่ง” เท่านั้น
 
จากนั้นไม่นานได้มีการโยกย้ายพื้นที่ตั้งโรงกำจัดขยะ โดยนำไปไว้ “มุมเล็กๆ ด้านข้างฝั่งเดิม แต่อยู่ฟากตรงข้ามกัน” ซึ่งได้สร้างความแปลกใจให้แก่ผู้นำและชาวบ้านพอสมควร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีเสียงติติงเรื่องอยู่ติดที่ตั้งสำนักงาน อบต.หรือใกล้บ้านเรือนผู้คนมากเกินไป
 
แต่ที่ต้องนับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อก็คือ ภายหลังจากที่เป็นข่าวครึกโครม ทาง นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ได้ประกาศว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่หวั่นวิตกเรื่องมลพิษ ม.อ.จึงขอกำหนดใหม่ว่า ขอเตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้ไปตั้งไว้ “บนเนินเขากึ่งกลางพื้นที่” ที่จะทำเป็นโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งเรื่องนี้มีการยืนยันไว้หนักแน่นในเอกสาร 10 คำถามฯ ที่นำออกแจกจ่ายเมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) อีกด้วย
 
นี่จึงนำไปสู่เสียงติติงกลับไปยังผู้บริหาร ม.อ.หนาหูว่า ทำไมจึงสามารถโยกย้ายเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่ได้ง่ายเหมือนกับ “เด็กๆ กำลังเล่นขาย” กันก็ไม่ปาน 
 
ผู้คร่ำหวอดเกี่ยวกับงานก่อสร้างโรงานจำจัดขยะให้ข้อมูลว่า หาก ม.อ.ตั้งใจสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อให้เป็นของภาคใต้จริง การตั้งชื่อว่าโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และที่สำคัญเมื่อนำเตาเผาขยะติดเชื้อไปตั้งกึ่งกลางพื้นที่ เรื่องนี้นับว่าเหมาะสมแล้ว เพราะต้องมีการเตรียมพื้นที่โดยรอบให้สามารถที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากเตาเผาขยะได้ในปริมาณที่เพียงพอ
 
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ “เตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้” ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลาง “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้” นั่นจึงคือคำตอบที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วทำไมผู้บริหาร ม.อ.จึงมีการล่มเลิกโครงการตั้ง “แคมปัส” เพื่อการเรียนการสอนนั่นเอง 
 
ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์
 
*** จับตาปฏิบัติการ “แบ่งแยก..แล้วเด็ดหัวแกนนำทีละคน” 
 
ว่ากันว่าภายหลังเมื่อมีผู้นำท้องถิ่น ผนึกผู้ตื่นรู้ในชุมชน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่รายรอบพื้นที่ ได้รวมพลังกันนับพันคนลุกขึ้นต่อต้านเตาเผาขยะภาคใต้ของ ม.อ. ตลอดเวลาที่สถานการณ์ยังดำเนินต่อเนื่องกว่าสัปดาห์ ปรากฏว่า ในเวลานี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การที่ผู้บริหาร ม.อ.ไม่ยอมอ่อนข้อย่อมต้องมีการงัด “ตำรับพิชัยสงคราม” ขึ้นมาใช้อย่างเป็นด้านหลัก แทนที่จะเป็นตำราวิชาการเพื่อการชี้แจงทำความเข้าใจ
 
ประกฎการณ์หนึ่งก็คือ นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล จะใช้วิธียกหู ไม่ก็ให้คนใกล้ชิด วานใช้คนใน ม.อ. หรือแม้แต่วานผู้มีอิทธิพลภายนอก โทรศัพท์ไปหาบรรดาแกนนำชาวบ้าน ทั้งที่เป็นผู้นำทางการและผู้นำธรรมชาติ ซึ่งได้ร่วมกับขับเคลื่อนมวลชนอยู่ในพื้นที่ด้วยกัน โดยเสนอให้ไปจับเข่าพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี หากใครที่คิดว่าคุยด้วยไม่ได้ยากก็จะใช้วิธีต่างๆ นานาจัดการ
 
มีกรณีที่ยืนยันแล้วคือ ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 12 สงขลา ถึงกับโยนคำถามให้ที่ประชุมแกนนำชาวบ้านว่า ควรรับนัด และควรมีผู้นำคนอื่นๆ ร่วมไปด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับ นายสนธยา แก้วขำ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ถูกนัดหมายผ่านคนใน ม.อ. นอกจากนั้น ก็ยังมีผู้นำคนอื่นๆ ที่ได้รับการติดต่อในลักษณะเดียวกัน ส่วนนายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวหาดใหญ่เครือผู้จัดการ-นิวส์วันส์ เคยได้รับโทรศัพท์โน้มน้าวจากนายชูศักดิ์ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีอย่างน้อย 2 กรณีใช้วิธีกดดันคือ โทรศัพท์ไปยังผู้บริหารหน่วยงานให้ปรามและสั่งการให้หยุดเคลื่อนไหว กับให้นายทหารติดต่อกดดันไปยังองค์กรต้นสังกัด เป็นต้น
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมชายแดนใต้รายหนึ่งให้ความเห็นว่า การที่อธิการบดี และทีมผู้บริหาร ม.อ.ใช้วิธีนัดหมายพูดคุยกับแกนนำรายคน อาจจะนำไปสู่ภาพ หรือเสียง หรือคลิปหลุดได้ เพื่อนำไปใช้ในการสลายพลังการนำมวลชน ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าปฏิบัติการแบ่งแยกเพื่อปกครอง แค่จากความเคลื่อนไหวคัดค้านเตาเผาขยะติดเชื้อ ม.อ.เที่ยวนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ปฏิบัติการแบ่งแยก..แล้วเลือกเด็ดหัวแกนนำทีละคน” ซึ่งก็ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริง
 
ความจริงแล้วสำหรับคนสงขลา-หาดใหญ่ อาจจะไม่แปลกใจกับคำกล่าวขวัญอย่างหนาหูถึงผู้บริหาร ม.อ.ชุดปัจจุบัน เพราะมีหลายกรณีที่ ม.อ.ต้องปะทะกับสังคมภายนอก แล้วการแก้ปัญหากลับเป็นไปแบบพิกลพิการ สร้างความไม่เข้าใจให้แก่สังคมไม่เฉพาะคนนอกรั้วเท่านั้น แม้กระทั่ง “ประชาคม ม.อ.” เองก็เคยตั้งคำถามบ่อยครั้ง
 
กรณีที่น่าจะเป็นตัวอย่างดีที่สุด ซึ่งเสียงโจษขานยังคงมีกระเพื่อมให้เห็นก็คือ การสร้าง “อาคารโรงพยาบาลสัตว์” ชิดรั้วกำแพงมหาวิทยาลัยใกล้ประตู 109 ริมถนนปุณณกัณฑ์ ช่วงตรงกันข้ามตลาดศรีตรัง ซึ่งถือเป็นพื้นที่จอแจแบบสุดๆ แถมการจรจรก็ติดๆ ขัดๆ เป็นระยะทางยาวนับกิโลเมตร ต่อเนื่องไปจนผ่านหอประชุมนานาชาติ โดยปกติกว่าจะคลี่คลายได้ต้องเลยโรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ไปแล้วเท่านั้น หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วนยิ่งหนักหน่วง แถมถ้ามีการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยเมื่อไหร่แทบไม่ต้องพูดถึง
 
ทั้งนี้ การสร้างอาคารโรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ชิดกำแพงที่เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นานของผู้บริหาร ม.อ.ชุดนี้ ต้องถือว่าเป็นการดำเนินงานบนเสียงเรียกร้องของสังคมให้ “ม.อ.ช่วยเสียสละ” เพื่อแก้วิกฤตปัญหาการจราจรนั่นเอง 
 
คำชี้แจงโครงการศูนย์ทำลายวัสดุและของเสียทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บ้านทุ่งงาย ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
10 คำถามกับศูนย์ทำลายวัสดุและของเสียทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
--------------------------------------------------------------------------------
 
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง 
 
- ชมคลิป! รวมพลคนไม่เอา “เตาเผาขยะติดเชื้อ ม.อ.”
 
- ชมคลิป! ชาวบ้านแสดงพลังค้าน “เตาเผาขยะติดเชื้อภาคใต้” ที่ ม.อ.หาดใหญ่ ทำลับๆ ล่อๆ จะเร่งสร้าง 
 
- ชมคลิป! ชาวบ้านทุ่งงายคัดค้านโครงการศูนย์ทำลายวัสดุทางการแพทย์ และเตาเผาขยะติดเชื้อ 
 
- บทบาท “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ตาม “พระราชปณิธานของพระบิดา” / สนธยา แก้วขำ 
 
- คน 10 หมู่บ้านโห่ไล่โครงการเตาเผาขยะติดเชื้อ นายกฯ นครหาดใหญ่ ประกาศยอมถอย (ชมคลิป) 
 
- ข่าววาระประเทศไทย เรื่องเตาเผ่าขยะติดเชื้อ 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น