สนธยา แก้วขำ
ผู้ประสานงานประชาคมทุ่งใหญ่คัดค้านเตาเผาขยะติดเชื้อ ม.อ. และศิษย์เก่า ม.อ.
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้าพเจ้า นายสนธยา แก้วขำ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จบจากคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2538
4 ปีภายในรั้วสีบลูอันห่างไกลสุดชายแดนใต้ ได้ปลุกจิตสำนึกหล่อหลอมให้ผม รวมถึงพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ให้เป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตัว ตามพระราชปณิธานของพระบิดาที่ว่า
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์”
ซึ่งคำสอนของพระบิดาได้ถูกถ่ายทอดจากอาจารย์ และจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง รุ่นต่อรุ่นเสมอมา เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ทรงคุณค่า และผมก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา
แต่ระยะหลังคำถามต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยเฉพาะผู้บริหารชุดปัจจุบัน ถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะต่อ “โครงการเตาเผาขยะติดเชื้อ” มูลค่า 270 ล้านบาท ที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย กำลังจะไปดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่หมู่ 6 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
รายละเอียดโครงการได้เขียนขึ้นอย่างสวยหรูจากห้องแอร์อันเย็นฉ่ำ โดยนักวิชาการผู้มากความสามารถ ทั้งโครงการจึงมีแต่ประโยชน์ ไม่มี “โทษ” หรือ “ข้อเสีย” แม้แต่นิดเดียว
โครงการนี้จะนำขยะติดเชื้อจากหลายจังหวัดภาคใต้มากำจัดที่นี่ที่เดียว ในรายละเอียดพบการ “หมกเม็ด” ข้อมูลจำนวนมาก หนึ่งในนั้นเป็นการ “ขี้หก (โกหก ) คำโต” บอกว่า “ผู้นำท้องถิ่น” เห็นชอบให้สร้าง
แต่สุดท้ายเมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ทั้งชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่นรวมตัวประท้วงไม่เอาโครงการ มีชาวบ้านมารวมตัวเต็มวัดทุ่งงาย เกือบ 1 พันคน พร้อมออกแถลงการณ์ให้ ม.อ.หยุดโครงการภายใน 15 วัน ในระหว่างการรวมตัวนาน 4 ชั่วโมง ชาวบ้านขอให้ “อธิการบดี” และ “นายอำเภอหาดใหญ่” มารับฟังข้อเรียกร้องของชาวบ้าน สุดท้ายนายอำเภอหาดใหญ่เดินทางมารับหนังสือแถลงการณ์
ส่วนคณะผู้บริหาร ม.อ. ซึงได้มาดูพื้นที่ก่อสร้างห่างจากจุดรวมตัวของชาวบ้านราว 800 เมตร ได้ทำพฤติกรรมที่ทำให้ชาวบ้านเสื่อมศรัทธาเป็นอย่างมาก ขับรถนำตราสัญลักษณ์ ม.อ.ผ่านสถานที่รวมตัวของชาวบ้านไป โดยไม่แยแสต่อความรู้สึกของชาวบ้านแม้แต่น้อยนิด
ถามว่าทำไมชาวบ้านเขารู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากการเอาของเสียมาไว้ในพื้นที่แล้ว สิ่งที่ถือว่าเป็นการทำร้ายน้ำใจของชาวบ้านที่นี่มากที่สุดคือ พื้นที่ที่จะนำมาใช้เป็นเตาเผาขยะติดเชื้อ เป็นพื้นที่ซึ่งผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านใน ต.ทุ่งใหญ่ และ ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ ได้ยกให้ทาง ม.อ.นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และการเรียนรู้
ย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน และเขายกให้ ม.อ. แต่สุดท้ายนอกจากไม่สำนึกบุญคุณแล้ว ม.อ.กลับหยามน้ำใจอันงดงามของชาวบ้าน ด้วยการเอ า “เตาเผาขยะติดเชื้อ” มาก่อสร้างในพื้นที่
อย่างนี้เรียกว่า ถ้าเป็นพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมว เขาเรียกว่า “กินบนเรือน ขี้บนหลังคา” ซึ่งหมาแมวที่น่ารักยังไม่ทำอย่างนี้?!
อันที่จริงแล้วใน ม.อ.มีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ซึ่งเป็นคนดีมีคุณธรรมอีกมากมาย และเชื่อว่าอีกหลายคนยังไม่รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้
ยกตัวอย่าง มีนักวิชาการท่านหนึ่งสังกัด ม.อ.ปัตตานี ผมขอไม่เอ่ยนาม เกือบทุกวันนอกเหนือจากภารกิจการสอน ท่านจะลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเสี่ยง จะไกล จะร้อน หรือจะลำบากแค่ไหน ท่านไม่เคยบ่น ห้องแอร์ท่านไม่ค่อยได้อยู่มาก เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คนรักและชื่นชมท่านมาก ส่วนท่านอื่นที่ผมไม่กล่าวถึงก็มีอีกมากครับ
ที่พูดมาทั้งหมดเพื่อสะท้อนว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยเป็นที่คาดหวังของสังคมสูงมาก แต่หากเราปล่อยให้ “ผู้บริหารเพียงไม่กี่คน” มากำหนดบทบาท โดยประชาคมของมหาวิทยาลัยในส่วนอื่นๆ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ภาพลักษณ์โดยรวมอันดีที่คนรุ่นก่อนสั่งสมคุณงามความดีไว้ อาจถูกทำลายไปชั่วข้ามคืน
สุดท้ายกระบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านเพิ่งเริ่มต้น ผมอยากเห็นการตัดสินใจของผู้บริหาร ม.อ. เห็นแก่ส่วนรวม การจะก่อสร้าง “เตาเผาขยะติดเชื้อ” ไม่ผิดหรอกครับ แต่สถานทีท่านควรใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองให้มากกว่านี้
ชาวบ้านเขาไม่ได้โง่นะครับ!!
ทุกวันนี้หลายท้องถิ่นเขาหาประโยชน์จากขยะกันเยอะ จะสร้างเตาเผาขยะได้กำไรหลายต่อ ถ้าเป็นขยะธรรมดาจะได้ค่ากำจัดขยะจากเจ้าของขยะกิโลกรัมละราว 1 บาท ส่วนขยะติดเชื้อราคากำจัดจะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว
มีการเล็งผลเลิศจากำไรในการกำจัดขยะติดเชื้อไว้แล้ว?!
เพราะจะมีปริมาณขยะติดเชื้อจำนวนมากจากหลายจังหวัดถูกส่งตรงมากำจัดที่นี่ เฉพาะโรงพยาบาล ม.อ.อย่างเดียววันละ 3 ตัน ปีละกว่า 1 พันตัน (ข้อมูลถ้าผิดพลาดช่วยท้วงติงนะครับ)
ในขณะเดียวกัน ขอฝาก “ประชาคม ม.อ.” ช่วยกันทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารด้วย!!
และหวังว่าการให้ข้อมูล และการตั้งคำถามถึงบทบาท “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” จะช่วยส่งต่อความคิด ความเดือดร้อนของชาวบ้าน และหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ขอบพระคุณอย่างสูงครับ