xs
xsm
sm
md
lg

รมต.เสี่ยงคุก!? เหตุไม่บังคับใช้ ม.57 พ.ร.ก.ประมง ปล่อยขบวนการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนย่ำยีทะเลไทยเละ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ บังคับใช้ ม.57 พ.ร.ก.ประมง 2558 เพื่อยับยั้งการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เผยไม่เข้าใจมีกฏหมายมา 2 ปี แต่ยังไม่บังคับใช้ให้จริงจัง ชี้ส่อละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ชวนสังคมร่วมกันตรวจสอบ และจับตาดูการทำงาน 

วันนี้ (27 มิ.ย.) นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า มีประชาชนที่สนใจเรื่องการรณรงค์หยุดทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งสมาคมฯ ได้รณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องข้อกฎหมาย ม.57 ของ พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ที่จะหยุดการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ระดับหนึ่ง

“แต่เหตุใด 2 ปีกว่าที่ออกมา ท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ถึงไม่ทำอะไร เอา ม.57 ของจริงมาให้ท่านๆ ได้อ่านกัน และข้อสังเกตของผมมีดังนี้ครับ”

1.ในขั้นต้นต้องให้เครดิตท่านผู้ยกร่างมาตรานี้ว่ามองเห็นปัญหาว่าสาเหตุของความเสื่อมลงของทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย เพราะมีการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนมีอยู่จริง 2.ระยะเวลา 2 ปีกว่า มีคำถามว่า ทำไมท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ถึงไม่ออกข้อกำหนดออกมาบังคับใช้ ทั้งๆ ที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจไว้ชัดเจน

“หรืออาจจะเป็นเพราะเครื่องมือทำการประมงในประเทศเรามีหลากหลาย ทุกเครื่องมือมักมีสัตว์น้ำขนาดเล็กติดมาด้วย คือถ้าตีความแบบเถรตรง ติดมาตัวเดียวก็ผิด สัตว์น้ำขนาดเล็กหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ขึ้นมาบนฝั่งคงไม่ได้ใส่เครื่องบินมา ลูกปลาทู หรือปลาเล็กๆ ชนิดต่างๆ ถูกจับนำขึ้นเรือมาทั้งนั้น พ.ร.ก.นี้ห้ามไว้ชัดเจน และยังถูกนำขึ้นเรือมาทุกวัน อย่างนี้ถือว่ารัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่”

3.ข้าราชการกรมประมง ที่มีความรู้ความสามารถมีมากมาย ที่จบมาจากต่างประเทศก็เยอะแยะ (รวมถึงอธิบดีคนปัจจุบัน) ทำไมไม่ศึกษาบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ดีๆ ที่ไปพบเห็น ไปร่ำเรียนกันมาปรับใช้ มัวแต่กลัวความขัดแย้งจนไร้หลักการ ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังจนพ้นตำแหน่งหน้าที่ตัวเองไปแค่นั้นหรือ
 
บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
4.ทางออกน่าจะมีเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมตามเจตนาของ พ.ร.ก.เช่น ตรวจสอบแจกแจงผลการใช้เครื่องมือทำการประมงแต่ละชนิด เช่น อวนปลาทู อวนปู อวนกุ้ง อวนล้อม เรือปั่นไฟ รวมไปถึงอวนลากเดี่ยว ลากคู่ แล้วเก็บข้อมูลว่าเครื่องมือแต่ละชนิดติดสัตว์น้ำวัยอ่อนมากี่ชนิด กี่เปอร์เซ็นต์ อยู่ในวิสัยที่ทางวิชาการมองว่าทำลายรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

“และควรทำบัญชีสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนที่มีคุณค่า จากมากไปหาน้อย ในทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน เช่น กุ้ง ปู ปลา หอย หมึกชนิดต่างๆ แล้วมาดูว่าเครื่องมือทำการประมงชนิดใดทำลายในสัดส่วนที่สูงมากๆ ก็ออกมาตการ เช่น ให้หยุดทำ อย่างกรณีอวนรุน โพงพาง ไซพับ หรือขยายตาอวน กำหนดเขตในการทำประมง เป็นต้น”

5.สิ่งที่สังคมเห็นชัดๆ จะจะ ว่ามีการทำการประมงแบบทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็กมากๆ บรรทุกลูกกุ้งหอยปูปลาเล็กๆ มาเป็นลำๆ เรือ เช่น เรืออวนลาก เรือปั่นไฟที่ทำลายลูกปลาทูเป็นตันๆ นี่แทบจะไม่ต้องทำวิจัย แค่ไปดูด้วยสายตาท่านก็จะตกใจ และเห็นว่าควรใช้ ม.57 ออกมาบังคับใช้

“ข้อสุดท้าย เมื่อท่านอธิบดีกรมประมง และรัฐมนตรีเกษตรฯ ต่างคิดไม่ออกว่าจะนำวิธีการใดมาให้ ม.57 มีผลบังคับใช้ ผมขอเสนอให้เรียกประชุมกรรมาธิการ หรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการออก พ.ร.ก.ประมงฉบับนี้มาประชุมกัน เพื่อเสนอแนะเพราะจะได้รู้เหตุผล และเจตนารมณ์จริงๆ ของคณะผู้ร่าง จะได้ทราบกันเสียทีว่า พวกท่านร่างมาแต่ฝ่ายปฏิบัติไม่ดำเนินการ หรือคิดวิธีไม่ออกพวกท่านจะได้ร่วมคิดทางออกให้เขา แต่การที่ท่านรัฐมนตรีไม่คิดทำอะไรเลยเนี่ยหมายความว่ายังไง ช่วยตอบสังคมให้เข้าใจหน่อยสิครับท่าน” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
 
กำลังโหลดความคิดเห็น