ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยหลังภาคธุรกิจในกรุงเทพฯ ให้การสนับสนุนขึ้นป้ายรณรงค์ “หยุดทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ”ปรากฏว่า ประชาชนให้การตอบรับดี วันเดียวสังคมออนไลน์ช่วยเผยแพร่ต่อกว่า 2,000 ครั้ง ด้านเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ จ.นครปฐม เตรียมให้พื้นที่ขึ้นป้ายอีก 1 แห่ง วัดใจภาครัฐเห็นความสำคัญเอาจริงเอาจังต่อการปราบปราม ก่อนทรัพยากรทะเลไทยถึงคราล่มสลาย
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผย “MGR Online ภาคใต้” ว่า ด้วยสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่าวันนี้สังคมไทยกำลังเจอปัญหาเรื่องทรัพยากรทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ โดยเฉพาะปลาทูที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่วันนี้ปลาทูเริ่มหายไป และคนไทยต้องบริโภคปลาทูนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ทะเลไทยเคยอุดมไปด้วยปลาทู
“เราพบว่าการปล่อยให้มีการทำการประมงแบบทำลายล้าง โดยเฉพาะการใช้แสงไฟในการทำประมงเป็นตัวทำลายลูกปลาทูมากที่สุด”
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ในขณะที่ พ.ร.ก.ประมง 2558 มาตราที่ 57 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีเกษตรฯ ในการออกประกาศห้ามทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน แต่กว่า 2 ปีที่ พ.ร.ก.ออกมา รัฐมนตรีไม่ได้ออกประกาศที่ให้อำนาจไว้
“เราฝ่ายภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องลุกกันขึ้นมารณรงค์ให้สังคมได้รับรู้ปัญหา จึงได้ออกแบบการรณรงค์ไว้หลายๆ แบบ โดยในวันนี้ได้ร่วมมือกับนักธุรกิจเจ้าของป้ายที่บริจาคให้ทางสมาคมฯ ขึ้นป้ายรณรงค์ได้ ก็ต้องขอบคุณ คุณชิดชัย แหวนเพชร เจ้าของป้ายด้วย และหวังว่าจะมีนักธุรกิจบริษัทห้างร้านต่างๆ จะออกมาช่วยๆ กัน เพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรในทะเลของเราให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนสำหรับลูกหลานเราต่อไป”
นายบรรจง กล่าวว่า หลังการติดตั้งป้ายรณรงค์หยุดทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะลูกปลาทู ที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการนนทบุรี 2 ด้าน พบว่า มีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากพอสมควร ซึ่งในสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างทวิตเตอร์ พบว่า มีคนรีทวีตเรื่องราวเหล่านี้ถึง 2 พันกว่าครั้งในวลาไม่นาน
“เท่าที่คุณชิดชัย แหวนเพชร บอกไว้ ท่านจะให้ติดป้ายตรงนั้นไว้ประมาณ 3 เดือนและมีเจ้าของโรงเรียนนานาชาติที่ติดถนนเพชรเกษม ในจังหวัดนครปฐม ก็ได้เสนอมาอีก 1 แห่ง ผมรู้สึกว่าคนไทยเริ่มตื่นตัวต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ขอเพียงขอให้เขาได้ประจักษ์ในข้อเท็จจริง ได้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นด้วยตา และมีงานวิชาการที่เชื่อถือได้รองรับ”
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวและว่า กรณีเรื่องปัญหาทรัพยากรในทะเลตนเชื่อมั่นว่ามีข้อมูลมากพอทั้งในแง่รูปธรรมในพื้นที่ หรือข้อมูลทางวิชาการว่าทะเลไทยของเราวิกฤตอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงข้อเสนอในการแก้ไขทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับนโยบาย
“หลังการรณรงค์มายาวนาน ผมคิดว่าวันนี้คนไทยเริ่มเห็นข้อเท็จจริง และเริ่มเห็นทางออก ว่า เราจะเอาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลกลับมาให้ลูกหลานได้ยังไง เพียงแต่ปัญหานี้มันหมักหมมมานาน จึงไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ผมเชื่อว่าเมื่อสังคมตื่นรู้ สิ่งดีๆ จะต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน”