โดย..ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
ก“ารเกิดขึ้นของเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ การเอาน้ำมาจัดการแล้วจะให้ใครใช้ก็ได้ โดยมีแนวโน้มว่าใครจ่ายแพงคนนั้นได้ใช้น้ำ หรือรัฐมีนโยบายให้ใครใช้น้ำคนนั้นก็จะได้ใช้ ส่วนประชาชนนั้นคงได้เป็นลำดับสุดท้าย ตัวอย่างของบริษัทอีสวอเตอร์ ภาคตะวันออก เป็นตัวอย่างที่ดี น้ำจากธรรมชาติถูกนำมาขาย”
การพัฒนาทุกแบบย่อมมีรหัสแฝงอยู่เสมอ ถ้าใครคุมทรัพยากรไว้ได้ คนนั้นเท่ากับคุมโลก ถ้าใครอยากคุมประเทศไทยก็ต้องคุมทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมันคือรากฐานของการทำเงิน อีกนัยหนึ่งการคุมทรัพยากรได้คือ การคุมชีวิตคนได้ด้วย
เช่นนั้นแล้ว ปิโตรเลียมจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติตกอยู่ในมือกลุ่มทุนไทย และต่างชาติเพียงหยิบมือ แร่อยู่ในมือของบริษัทสัมปทานเพียงไม่กี่เจ้า
อาหารและการเกษตรอยู่ในมือบรรษัทขนาดใหญ่เพียงเจ้าเดียว
ในอนาคต ทรัพยากรที่จำกัดย่อมจำกัดขึ้นเรื่อยๆ เช่นนั้นแล้วจึงต้องหาวิธีการควบคุมทรัพยากรไว้ในมือ เพื่อที่จะสามารถเลือกใช้ทรัพยากรนั้นไปเพื่อการใดก็ได้
การสร้างเขื่อนในภาคใต้จำนวนมาก ทั้งในชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล จึงมีนัยมากกว่าการใช้งบของกรมชลประทาน มากกว่าการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร แต่หากมองทั้งระบบเราจะพบว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิตคน การเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
ใครก็ตามที่เป็นผู้นำเอาน้ำจากธรรมชาติซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันไปจัดการโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งนั้น มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อการใช้ของสาธารณะอย่างแน่นอน
ในภาคใต้ถูกกำหนดให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในหลายพื้นที่ ปัจจัยสำคัญสำหรับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือ ต้องมีน้ำรองรับ การเตรียมน้ำไว้ให้เพียงพอจึงกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดของอุตสาหกรรมหนักว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว บริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมสิชล จ.นครศรีธรรมราช ในการประชุมคราวหนึ่งตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาบอกว่า เราจะนำน้ำมาจากเขื่อนเชี่ยวหลาน มาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมสิชล จำนวนพื้นที่ 20,000 ไร่
การเกิดขึ้นของเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คือ การเอาน้ำมาจัดการแล้วจะให้ใครใช้ก็ได้ โดยมีแนวโน้มว่าใครจ่ายแพงคนนั้นได้ใช้น้ำ หรือรัฐมีนโยบายให้ใครใช้น้ำคนนั้นก็จะได้ใช้ ส่วนประชาชนนั้นคงได้เป็นลำดับสุดท้าย ตัวอย่างของบริษัทอีสวอเตอร์ ภาคตะวันออก เป็นตัวอย่างที่ดี น้ำจากธรรมชาติถูกนำมาขาย
นอกจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากจากการสร้างเขื่อน สายน้ำ ลำคลอง สายเดิมก็จะเปลี่ยนไป ส่งผลให้วิถีชีวิต และอาชีพเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตัวอย่างอ่างเก็บน้ำที่สร้างเสร็จแล้วในพัทลุง เป็นตัวอย่างที่ดี ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพียงพอในการปล่อยออก เพราะป่าเหนืออ่างนั้นยังมีอยู่หรือไม่คงตอบกันได้ดี ส่วนฤดูฝนก็ปล่อยน้ำลงท่วมพื้นที่ของประชาชน
หัวใจของการจัดการน้ำไม่ใช่การทำลายป่า แล้วสร้างคอนกรีตขึ้นมาเก็บน้ำ หัวใจของการจัดการน้ำคือ ไม่ทำลายป่า ไม่ทำลายคลอง การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยอ้างการสร้างเขื่อนนั้นไร้เดียงสามาก
หัวใจของการสร้างเขื่อน คือ การกุมทรัพยากรน้ำเอาไว้ในมือ กุมการจัดการน้ำในธรรมชาติเอาไว้แต่ผู้เดียว สามารถบงการได้ว่าจะเอาน้ำไปให้ใครใช้
มันคือรหัสหนึ่งของการกุมสภาพทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีเป้าหมายว่าต้องกุมให้ได้ทุกชนิด น้ำ ป่า ทะเล ปิโตรเลียม แร่ อาหาร
เราเป็นประเทศที่โคตรอุดมสมบูรณ์ แต่มีคนยากไร้เต็มประเทศ เพราะอะไร?!