xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิปัญญาท้องถิ่น “ซั้งเชือก” แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - “ซั้งเชือก” ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนรักษ์เล แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน สร้างอาชีพที่ยั่งยืนช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน ลดการทำประมงผิดกฎหมาย

วันนี้ (29 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณสัตว์น้ำตามธรรมชาติที่เริ่มมีปริมาณลดลง หลังชาวประมงเพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทำให้มีต้นทุนการทำประมงสูงขึ้น และเกิดความไม่แน่นอนของปริมาณสัตว์น้ำ ซึ่งต้องคอยพึ่งพาการเพิ่มขึ้นของปริมาณสัตว์น้ำทะเลโดยธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวนั้น
 

 
โดยในวันนี้ ที่อาคารอเนกประสงค์ สวนสาธารณะหาดราไว ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล โดย เครือข่ายประมงพื้นบ้านหมู่ที่ 1, 2, 3 และหมู่ที่ 4 ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล 150 คน ร่วมกับ อบจ.สตูล ประมงจังหวัด และฝ่ายปกครองอำเภอทุ่งหว้า ได้ทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อหาแนวทาง และกระบวนการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ โดยมีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเข้ามามีส่วนร่วมดูแลในการสร้างความมั่นคงทางอาชีพของชุมชน ที่ไม่ต้องออกไปทำประมงไกลฝั่งมากนัก ในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

โดยการทำประชาคมในครั้งนี้มีมติในการทำประมงชนิด “ซั้งเชือก” ซึ่งเป็นวิถีของภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยซั้งเชือก เสมือนหญ้าเทียมในทะเลมาทดแทนหญ้าจริง มีประสิทธิภาพใกล้เคียงหญ้าจริงมาก ส่วนประกอบคือ เชือกใยยักษ์ แยกเชือกจากเส้นใหญ่ให้เป็นเส้นเล็กฝอยนำไปวางลงในทะเลจุดที่มีความลึกของน้ำทะเลที่พอเหมาะ จะเป็นแหล่งเพาะฟักตัวของสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลขนาดเล็ก รวมถึงปลานานาชนิดมาอาศัยอยู่รวมกัน ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้ชาวประมงพื้นบ้าน โดยเลิกใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย
 

 
โดยเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ต.ขอนคลาน 4 หมู่บ้าน อบจ.ส่วนท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุน และประมงจังหวัด รวมทั้งอำเภอทุ่งหว้าที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันร่างกฎ และลงบันทึกเป็นข้อตกลงในการที่จะช่วยกันดูแลแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน “เชือกซั้ง” นี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน

นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล ระบุว่า งบประมาณที่ทาง อบจ.ให้การสนับสนุน 4 หมู่บ้าน 3 แสนบาท จำนวนซั้งเชือก 70 ต้น เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนทางอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ซึ่งจัดว่าเป็นปีที่ 2 ของการสนับสนุนโดย อบจ. โดยที่แรกจัดขึ้นที่ ต.สาคร อ.ท่าแพ ซึ่งได้รับผลตอบรับคือ ทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้นเพียงปีเดียว และในปีงบประมาณ 2561 จะสนับสนุนให้เกิดการสร้างแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน โดยใช้ภูมิปัญญาลักษณะนี้ในทุกพื้นที่
 
กำลังโหลดความคิดเห็น