สตูล - เกษตรกรตัวอย่าง Young Smart Farmer ทำสวนผสมยึดหลักในหลวง ร.๙ โดยเฉพาะผลผลิตจากมัลเบอรี่ ทั้งปลูก-แปรรูปเอง รายได้งานป้อนตลาดรักษ์สุขภาพ
วันนี้ (22 พ.ค.) อากาศร้อนอบอ้าวในเดือนพฤษภาคม ในสวนมัลเบอรี่ หรือหม่อนกินผล เนื้อที่ 4 ไร่ ที่หมู่ 4 ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล มัลเบอรี่กำผลติดดอกออกผล แต้มสีม่วง สีแดง เต็มสวนที่ลงแรงปลูก ดูแล และรดด้วยหยาดเหงื่อของ น.ส.กัญจน์ศิรัตน์ หนูคำสวน หรือ “กัญจน์” เจ้าของบ้านสวนกัญจน์ศิรัตน์ ฟาร์มพอเพียง วัย 39 ปี ซึ่งควบตำแหน่งรองประธาน Young Smart Farmer จังหวัดสตูล ที่กำลังง่วนเก็บผลผลิตภายในสวน
น.ส.กัญจน์ศิรัตน์ หนูคำสวน กล่าวว่า กลางปี 58 ได้ผันตัวเองจากกิจการด้านปศุสัตว์ เลี้ยงหมู ซึ่งตนเองมีฟาร์มขนาด 200-300 ตัว เริ่มลดปริมาณลงเรื่อยๆ จนหมดไป แล้วจึงหันมาสนใจการทำสวนผสม เลี้ยงหมูรายได้ดีแต่มีความเสี่ยงสูงด้านความผันผวนของราคาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และต้นทุนอาหารเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีหลัง จึงเลือกที่จะหันมาทำสวนผสม จากการที่ได้ศึกษาแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งตนเองมีต้นทุนสวนยางพารา จำนวน 16 ไร่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว โดยให้ลูกจ้างกรีดแบบแบ่งครึ่งอยู่ จึงทำการยกเลิกสัญญา และเข้าไปกรีดด้วยตนเองแทน ทำให้สามารถลดรายจ่ายค่าจ้างแรงงานไปได้กว่า 1,500 บาทต่อ 1 เช้าของวันกรีด
ส่วนพื้นที่ที่เป็นฟาร์มเลี้ยงหมูเดิม จำนวน 4 ไร่ ได้ทยอยลงมัลเบอรี่ 2 ไร่ และอีก 2 ไร่ ผสมผสานระหว่างตะไคร้ ฟิกเบอรี่ หรือมะเดื่อฝรั่ง ชะอม มะนาว ซึ่งหลังจาก 8 เดือน มัลเบอรี่ทยอยให้ผลผลิต เริ่มแรกขายผลสดตามตลาดนัด กิโลกรัมละ 200 บาท แต่ในช่วงที่ผลผลิตออกมากไม่สามารถขายผลสดออกได้ทั้งหมด จึงได้ศึกษาการแปรรูปผลมัลเบอรี่เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต
โดยได้ลองผิดลองถูกหลายครั้ง ก่อนจะได้ผลิตภัณฑ์แปรรูปของสวน ณ ตอนนี้ เช่น แยมมัลเบอรี่ น้ำมัลเบอรี่สกัดเข้มข้น น้ำมัลเบอรี่พร้อมดื่ม ชาใบหม่อน สบู่ และโลชั่นทาผิว โดยขายผ่านระบบตัวแทนซึ่งจะมาติดต่อรับของไปขายอีกทอด โดยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กเพจของ “บ้านสวนกัญจน์ศิรัตน์ ฟาร์มพอเพียง” ซึ่งสามารถระบายสินค้าได้ดี ในตอนนี้นับว่าหมดปัญหาเรื่องผลผลิตมากเกินปริมาณความต้องการไปได้
ทั้งนี้ บ้านสวนกัญจน์ศิรัตน์ยังผลิต และจำหน่ายกิ่งพันธุ์มัลเบอรี่ ทั้งกิ่งตอน และกิ่งชำ โดยกิ่งตอนขายกิ่งละ 50 บาท กิ่งชำกิ่งละ 35 บาท 3 กิ่ง 100 สามารถสร้างรายได้เฉี่ยจากการจำหน่ายทั้งมัลเบอรี่ผลสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมัลเบอรี่ และกิ่งพันธุ์ รวมเดือนละประมาณ 10,000-15,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับรายได้สวนยาง 16 ไร่ เช้าละประมาณ 3,000 บาท และรายได้จากผลผลิตอื่นๆ ภายในสวน ทำให้มีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท
การทำการเกษตรเชื่อว่า เกษตรกรเกือบทุกคนมีทักษะ มีความชำนาญทางด้านของตนเอง แต่ส่วนมากจะขาดความรู้ หรือความเข้าใจทางด้านการตลาด การแปรรูปผลผลิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เกษตรกรส่วนมากผลผลิตล้นตลาดแล้วทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะทำยังไงต่อผลผลิตของตนเอง เราจะเห็นเกษตรกรเอาลองกอง เอาน้ำยาง ไปเทปิดถนนกันหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องการชดเชยทางด้านราคา โดยส่วนตัวเห็นว่าภาครัฐควรจะมุ่งเน้นสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรทางด้านการตลาด และการแปรรูปให้มากๆ จะเป็นการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดได้อย่างยั่งยืนต่อไป
“และโดยส่วนตัวได้มีโอกาสเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย Young Smart Farmer จังหวัดสตูล ทำให้สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้ และสินค้ากับ Young Smart Farmer คนอื่นๆ ได้ ทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัด ซึ่ง Young Smart Farmer แต่ละคนจะมีทักษะความรู้และคอนเน็กชันทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป ทำให้สามารถระบายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และขยายวงกว้างของสินค้าภายในสวนออกไปได้อีก ซึ่งต้องขอบคุณสำนักงานเกษตรอำเภอมะนัง และสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ที่เข้ามาสนับสนุนในการเชื่อมโยงเครือข่ายฯ นับว่าเป็นการติดปีกให้แก่ “บ้านสวนกัญจน์ศิรัตน์ ฟาร์มพอเพียง” รองประธาน Young Smart Farmer จังหวัดสตูล กล่าวทิ้งท้าย