ปัตตานี - แม่ทัพภาค 4 เชิญผู้นำศาสนา 8 องค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หลังพบกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้สถานที่สำคัญทางศาสนาก่อเหตุ และให้การสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง
วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เชิญผู้นำศาสนา 8 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา สภาอูลามาอฺฟาฎอนีย์ดารุสลาม สมาคมสถาบันปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชมรมมุสลิมภราดรภาพ ร่วมประชุม และแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “รวมพลัง สร้างสันติสุข” เนื่องในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1438
โดยวาระการประชุมสำคัญ ประกอบด้วย การหารือมาตรการดูแลความปลอดภัย และแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในห้วงเดือนรอมฎอน หรือการถือศีลอดของพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญของวาระการประชุมหารือ ทางแม่ทัพภาค 4 ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้นำศาสนาทั้ง 8 องค์กร ในการขอข้อเสนอชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หลังจากที่พบว่า มีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้สถานที่ทางศาสนาในการก่อเหตุ และมีผู้นำศาสนาบางรายให้การสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา
โดยหลังการประชุมเสร็จ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกันในวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งตนเองได้ให้การบ้านกับผู้นำศาสนาไป เพื่อสรรหาแนวความคิดและวิธีการในการร่วมกันป้องกันเหตุ ในกรณีของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ใช้สถานที่ปฏิบัติกิจทางศาสนาเป็นที่ก่อเหตุ และมีผู้นำศาสนาบางรายมีส่วนร่วมรู้เห็น หรือให้การสนับสนุนในการก่อเหตุความไม่สงบ
ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรทางศาสนา โดยตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมาผู้นำศาสนาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด โดยจะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 23 พ.ค.60 นี้
อย่างไรก็ตามถึงแม้หลายฝ่ายได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ แต่มีบุคคลบางกลุ่มยังคงพยายามสร้างสถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอิสลามเป็นสถานที่ในการก่อเหตุ และสนับสนุนการก่อเหตุโดยมีผู้นำศาสนาบางคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนาช่วยกันเสนอแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อไป