xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมข้าราชการบำนาญภาคใต้ (สงขลา) จัดประชุมรับทราบข้อเท็จจริงปัญหาไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชมรมข้าราชการบำนาญภาคใต้ (สงขลา) ห่วงอนาคต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงช่วยหาทางดับไฟใต้

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ห้องประชุมต้นปาลม์ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดร์แอนด์รีสอร์ต หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายวิสุทธ์ สิงหขจรวรกุล ประธานชมรมข้าราชการบำนาญภาคใต้ (สงขลา) ได้มีการประชุมประจำเดือนขึ้นเป็นวาระพิเศษ เพื่อติดตามความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด มีการใช้คาร์บอมบ์ก่อวินาศกรรมห้างบิ๊กซี กลางเมืองปัตตานี ทำให้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 61 ราย

โดยในการประชุมประจำเดือนครั้งนี้ ประธานชมรมฯ ได้เชิญ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย/นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งปฏิบัติหน้าในสนามข่าว จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด และเป็นผู้ที่มีตำแหน่งในหน่วยงานความมั่นคง ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้รับทราบ เพื่อที่ทางชมรมฯ จะได้ใช้เป็นแนวทางในการร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นนักปกครอง

โดย นายไชยยงค์ ได้บรรยายสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดใน 13 ปีที่ผ่านมา เป็นการกระทำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดน ปัตตานีดารุซาลาม ซึ่งขณะนี้ บีอาร์เอ็น ได้มีการสรุปบทเรียนของความพ่ายแพ้ที่แผนบันได 7 ขั้น ไม่สามารถทำได้สำเร็จใน 1,000 วัน ตามแผนการลุกขึ้นมามาก่อการ ในปี 2547

โดยมีอาร์เอ็น ได้สรุปความพ่ายแพ้เนื่องจากงานการเมือง “มวลชน” ยังไม่เข้มแข็งพอ และงานทางการทหาร “ก่อการร้าย” ไม่ใช่การนำไปสู่ความสำเร็จในการได้เอกราช บีอาร์เอ็น จึงได้วางยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อการต่อสู้ไปอีก 15 ปี โดยการวางเป้าหมายไว้ที่ปี 2575 จะเป็นปีที่ประกาศความสำเร็จ
 

 
ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น คือ การใช้เวลานับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา สลายโครงสร้างเก่าในพื้นที่ ทั้งด้านการเมือง และการทหาร เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงรับรู้ได้หมดแล้วว่า ในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มีใครเป็นแกนนำ ทั้งด้านการเมือง และการทหาร ซึ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยเข้าใจผิดว่าสถานการณ์ดีขึ้น และมีการลดจำนวนหมู่บ้านสีแดงไปกว่าครึ่ง เพื่อให้สอดคล้องต่อการประกาศของรัฐบาลที่ว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น

ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น จึงการใช้เวลา 15 ปี สร้างมวลชนให้สนับสนุนยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นให้ได้ 1 ล้านคน สร้างกองกำกลัง หรือเปอร์มูดอ ให้ได้ 100,000 คน และสร้างนักปฏิวัติ หรือผู้นำรุ่นใหม่ให้ได้ 3,000 คน โดยวิธีการสุดท้ายของบีอาร์เอ็น คือ การสร้างกองกำลังเยาวชน หรือที่เรียกว่า “ทหารเด็ก” ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เข้าเงื่อนไขของยูเอ็น หรือสหประชาชาติ เพราะสิ่งที่บีอาร์เอ็น ต้องการไม่ใช่การต่อสู้แตกหักทางการใช้กำลังอาวุธ แต่ต้องการให้สหประชาชาติเข้ามาดำเนินการ เพื่อขอประชามติในการอยู่กับประเทศไทย หรือการตั้งประเทศใหม่ เช่นเดียวกับที่จังหวัดติมอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ทำสำเร็จ ด้วยการแยกจากประเทศอินโดนีเซียไปเป็นประเทศติมอร์เลสเต้ มาแล้ว

นายไชยยงค์ ยังกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เป็นกังวลสำหรับฝ่ายความมั่นคงคือ จำนวนไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งวันนี้เหลือเพียง 60,000 กว่าคน จาก 130,000 คน เมื่อปี 2547 ซึ่งหากจำนวนไทยพุทธลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายรัฐบาลอาจจะต้องจ้างให้คนไทยพุทธอยู่ในพื้นที่ เพื่อรักษาแผ่นดินหรือเป็น “สัญลักษณ์” ของแผ่นดิน และประเด็นในเรื่องการจัดการศึกษา ซึ่งบีอาร์เอ็นสามารถแทรกแซง จนขณะนี้การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นการศึกษาเชิงเดี่ยว เพราะคนมุสลิมสามารถจัดการศึกษาได้เอง ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ในขณะที่โรงแรมของรัฐปิดตัวไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีนักเรียน และหากการจัดการศึกษาเชิงเดียวถูกบีอาร์เอ็นเข้าไปแทรกแซงก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่แก้ยากขึ้น

นอกจากการทำให้การศึกษากลายเป็นการศึกษาเชิงเดี่ยวแล้ว บีอาร์เอ็นยังใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างสังคมเชิงเดี่ยวที่ได้ผล ซึ่งจะพบว่า 13 ปีผ่านไป คนในพื้นที่ถูกแยกจากกันอย่างชัดเจน มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แยกการทำกิจกรรมทุกอย่างแบบของใครของมัน นโยบายพหุวัฒนธรรมที่ ศอ.บต. และ กอ.รมน.ใช้ในการแก้ปัญหายังไม่เห็นมีอะไรที่บอกได้ว่า การใช้พหุวัฒนธรรมทำได้สำเร็จ
 

 
โดย นายไชยยงค์ ได้ยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น หลังจากที่ได้สลายโครงสร้างเก่า อย่างเช่นใน จ.ปัตตานี มีการ แบ่งเป็น 2 เขตงาน เขตงานที่ 1 คือ อ.เมือง ยะหริ่ง หนองจิก ยะรัง โคกโพธิ์ แม่ลาน และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา มีการจัดตั้งเปอร์มูดอ หมู่บ้านละ 8 คน มีการจัดตั้งผู้นำศาสนาหมู่บ้านละ 5 คน เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนแผนงานทั้งหมด โดยที่ จ.ปัตตานีมีการใช้ยุทธศาสตร์ให้ผู้นำศาสนานำหน้า เปอร์มูดอตามหลัง ในขณะที่ จ.ยะลา และ นราธิวาส ใช้ยุทธศาสตร์ เปอร์มูดอนำหน้า และผู้นำศาสนาตามหลัง

นอกจากนี้ นายไชยยงค์ ยังกล่าวว่า ในงานการเมืองบีอาร์เอ็นสามารถปลูกฝังจิตสำนึกของคนในพื้นที่ให้ยอมรับได้ถึงความสูญเสียที่มุสลิมต้องได้รับจากการทำสงครามประชาชน เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมาย ซึ่งสังเกตได้จากการวางระเบิดที่บิ๊กซีก็ดี การระเบิดเส้นทางรถไฟ และการวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยที่คนในพื้นที่ไม่มีใครออกมาประณาม หรือแสดงความไม่พอใจต่อบีอาร์เอ็น แต่กลับไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐแทนที่ไม่สามารถซ่อม สร้างสิ่งที่ถูกทำลายให้ใช้ได้โดยเร็ว

ในทางการเมืองสิ่งที่น่ากังวลคือ วันนี้บีอาร์เอ็นสามารถจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงแสวงหาความชอบธรรมต่อสังคมในพื้นที่ และสังคมโลก ด้วยการจัดตั้งองค์กรภาคเอกชนถึง 18 องค์กรในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดที่ได้บรรยายสรุป นายไชยยงค์ กล่าวว่า หน่วยงานความมั่นคง ทราบถึงสัญญาณอันตราย และอยู่ในระหว่าของการแก้ไขสถานการณ์

ในขณะที่ นายวิสุทธ์ สิงห์ขจรวรกุล ประธานชมรม ข้าราชการบำนาญ ภาคใต้ (สงขลา) กล่าวว่า ทุกคนที่เป็นอดีตนักปกครองมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงแต่อย่างใด โดยทางชมรมฯ จะสรุปการบรรยายของนายไชยยงค์ พร้อมทั้งหาข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วน และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาส่งไปให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
 
กำลังโหลดความคิดเห็น