ปัตตานี - 27 องค์กรชายแดนใต้บันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ในเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซี เอส ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวให้การต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลง เอ็มโอยู โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์พัฒนาเด็ก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา, ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา
เพื่อบูรณาการภารกิจของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ในการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตกลงดำเนินการร่วมกันภายใต้กรอบแนวคิดการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาบุคลากร 2.ด้านการดูแลสุขภาพ 3.ด้านการพัฒนาการศึกษาก่อนวัยเรียน 4.ด้านการปรับพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ และ 5.ด้านการสร้างความร่วมมือจากประชาชน
ซึ่งการบันทึกความร่วมมือจากหน่วยงานทั้ง 27 องค์กร มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเจ้าภาพ สภาพปัญหาของเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาสภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักและส่วนสูงเด็กไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ปัญหาสุขภาพอนามัยในช่องปาก ฟันผุ เป็นโรคในช่องปาก ปัญหาด้านการพัฒนาสติปัญญา รวมถึงปัญหาการรับรู้เชิงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทย พลเมืองไทย และการใช้ภาษาไทย
ดังนั้น การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กปฐมวัยที่มีช่วงอายุระหว่าง 2-5 ปี ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีคุณภาพที่มาตรฐานทัดเทียมภูมิภาคอื่น เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เกิดเป็นรูปประธรรม