นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
----------------------------------------------------------------------------------------
การที่รัฐบาลปฏิเสธการ “อนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้แก่พยาบาลลูกจ้างสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 10,992 อัตรา”นั้น ทำให้เกิดคำถาม และกระแสการกระแหนะกระแหนต่อรัฐบาลต่อเนื่องในช่วงรัฐบาลขาลง และที่สำคัญระเบิดเวลาที่ ครม.และ คปร. (คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ) โยนกลับมาให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้ตำแหน่งว่างของกระทรวงเองจัดสรร ทำท่าจะบานปลาย
เรื่องกำลังคนในระบบสุขภาพนั้น ซับซ้อน และมีความชุลมุนอย่างมาก จนทำให้มีการระเบิดออกให้เห็นเป็นระยะๆ
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้ สธ.มาแล้ว 22,641 อัตรา ทยอยบรรจุ 3 ปี ตั้งแต่ 2556-2558 นับเป็นการบรรจุล็อตที่ใหญ่มากในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ที่ ก.พ.มีนโยบายคุมกำเนิดกำลังคนภาครัฐ แต่ในรอบนั้นเป็นการบรรจุทุกวิชาชีพ ซึ่งก็มีความวุ่นวายมากว่า ทำไมวิชาชีพนั้นได้บรรจุน้อย วิชาชีพนั้นไม่มีสิทธิบรรจุ มีทั้งม็อบ ทั้งการยื่นหนังสือ การประท้วงต่างๆ นานา แต่ก็ผ่านไปได้อย่างเหนื่อยล้า
ในรอบนี้ การที่ ครม.ตีกลับให้มาบรรจุพยาบาลโดยใช้ตำแหน่งว่างของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ย่อมเกิดปรากฏการณ์การขอแบ่งเค้กด้วยคนจากหลายวิชาชีพที่ก็ไม่ได้บรรจุเหมือนกัน โดยเฉพาะวิชาชีพสายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสหวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ นักการแพทย์แผนไทย นักอาชีวะบำบัด นักวิชาการรังสี รวมถึงแพทย์ที่จบช้า และสารพัดนักวิชาชีพที่มีกว่า 30 สายงาน
การบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพนั้นยุ่งยากมาก ทั้งหลากหลายวิชาชีพ และมีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีภาวะสมองไหลไปอยู่ภาคเอกชนมากน้อยตามแต่ภาวะเศรษฐกิจ มีปัญหาการกระจายและการคงอยู่ของบุคลากรสู่ชนบท มีปัญหาภาระงานเพิ่มขึ้นมาก และความคาดหวังจากสังคมก็มากจนเกิดเป็นแรงกดดันในหน้าที่ ปัญหาความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ที่ต้องตามให้ทัน รวมทั้งเรื่องสวัสดิการ ขวัญกำลังใจ และสุขภาพของบุคลากรสายสุขภาพเอง เป็นต้น
โจทย์พวกนี้คือทั้งหมดของภูเขาน้ำแข็ง การได้บรรจุนั้นเป็นหนึ่งในปัญหามากมายของภูเขาลูกนี้
ความจริงปรากฏการณ์การไม่บรรจุพยาบาลนั้น สำหรับผมแล้วไม่แตกต่างจากปรากฏการณ์ของการสร้าง หรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือจะซื้อหรือไม่ซื้อเรือดำน้ำ ทำไม?
เพราะปัจจุบันเราอยู่ในระบบรัฐราชการที่รวมศูนย์อย่างรุนแรง ในขณะที่วิวัฒนาการของโลกนั้นหมุนอย่างรวดเร็วไปสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพที่เปิดกว้าง
ในอดีต รัฐราชการจะจัดสรรโควตาบรรจุให้เท่าไร จะสร้างกี่โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถังมากน้อย ทุกคนต่างไม่มีปัญหา เพราะไม่มีใครรับรู้ข้อมูล และถึงรู้ก็มีช่องทางเพียงเล็กน้อยในการแสดงออก
แต่วันนี้การเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น อีกทั้งทุกคนมีสื่อในมือ ทุกกลุ่มมีเครือข่ายที่ช่วยกันเรียกร้องความเป็นธรรมได้ การจัดการแบบเก่าๆ คือ แบบรัฐราชการตัดสินใจให้ด้วยความปรารถนาดี แต่ไม่มีส่วนร่วมนั้น จึงกลายเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะเรื่องยากๆ ซับซ้อนที่ไม่ถูกผิดชัดเจนเหล่านี้ ตัดสินใจแบบรวมศูนย์นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายผิดพลาด มากกว่าการเปิดพื้นที่ให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง และร่วมกันตัดสินโดยผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ปัญหาการที่รัฐรีรอไม่บรรจุพยาบาล ปัญหาการที่รัฐผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินในขณะที่ประชาชนไม่เอา หรือประเด็นคุ้มไม่คุ้มสำหรับเรือดำน้ำ แท้จริงนี้คือ “สัญญะ” ของปัญหา “ประชาธิปไตยไทย” เพราะประชาธิปไตย คือ รูปแบบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมรับรู้ ร่วมตัดสินใจ และติดตามแก้ปัญหาการตัดสินใจนั้นๆ ร่วมกัน
เพราะพี่น้องพยาบาลไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้ และตัดสินใจ เพราะพี่น้องในจังหวัดที่จะถูกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถูกปิดกั้นการรับรู้ และการร่วมตัดสินใจ ความรู้สึกที่ไม่ได้ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้น ผลลัพธ์ว่าจะบรรจุกี่คนนั้น เป็นเรื่องรอง หัวใจคือ กระบวนการมีส่วนร่วม และการเปิดพื้นที่ให้มีการแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยเหตุและผล นี่คือประชาธิปไตยทางตรงที่สังคมไทยต้องช่วยกันสร้างตัวแบบขึ้นมา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่ง ม.อ.ปัตตานี กล่าวเสมอประมาณว่า “ในโลกยุคใหม่ที่ซับซ้อน การเปิดพื้นที่กลาง หรือ space เท่านั้น ที่ปัญหายากๆ จะแก้ได้ space ที่ดีต้องเปิดกว้างเหมือนชานชาลารถไฟ คนสามารถสะดวกเข้ามาแจม มาร่วมขบวน หรือเดินจากไปก็ได้ รัฐต้องเป็นเหมือนนายสถานีที่คอยอำนวยความสะดวก และดูแลกติการ่วม จนเกิดฉันทมติของคนตรงนั้นในการแก้ปัญหาหนึ่งๆ แต่รัฐราชการต้องไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินใจแบบเผด็จการ เพียงแต่อำนายความสะดวกก็พอแล้ว”
พื้นที่กลาง หรือ space คือ พื้นที่ระดมความร่วมมือในการแก้ปัญหา ต่างกับ committee หรือคณะกรรมการ ที่คนมีส่วนร่วมมีเพียงหยิบมือ แถมยังต้องเกรงใจประธาน และผู้มีอำนาจมากมายเวลาจะให้ความเห็นอีกต่างหาก การแก้ปัญหาด้วยรูปแบบกรรมการจึงมักไม่สำเร็จ เพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบโลกยุคแอนะล็อก
ส่วนการเปิดพื้นที่กลางคือ การแก้ปัญหาแบบโลกยุคดิจิทัลท่ามกลางปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้น การเปิดพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนทุกวิชาชีพมาร่วมแลกเปลี่ยนอย่างใจเย็นด้วยสุนทรียสนทนาเท่านั้น จึงจะพอมีความหวังในการแกปัญหากำลังคนด้านสุขภาพได้ ไม่ใช่การตัดสินใจฉับๆ จากผู้มีอำนาจ
เพราะนั่นไม่ทำให้ปัญหาจบอย่างยั่งยืน อาจทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วซุกส่วนที่เหลือไว้ใต้พรมเท่านั้น
----------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) มีตำแหน่งข้าราชการว่าง ณ วันที่ 3 มีนาคม 2560 ถึง 11,213 อัตรา จึงขอให้ใช้อัตราว่างนี้บรรจุพยาบาล