xs
xsm
sm
md
lg

ชาวควนปริง อ.เมืองตรัง หันเก็บ “ลูกลาน” นำแปรรูปขายสร้างรายได้เสริม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาว ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง หันมาเก็บ “ลูกลาน” เพื่อนำไปแปรรูปสร้างรายได้เสริม เพราะหายากจึงได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 60 บาท รวมทั้งยังนำไปทำขนมหวาน เช่น ลูกลานลอยแก้ว หรือลูกลานเชื่อม

วันนี้ (16 พ.ค.) นายสมบูรณ์ รองวัง หรือลุงดำคาน อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 6 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งมีอาชีพเป็นสัปเหร่อในหมู่บ้าน ได้นำผู้สื่อข่าวลงไปดูวิถีชีวิตของชาวควนปริง ที่ได้หันมาเก็บลูกลาน เพื่อไปแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายเป็นรายได้เสริม นอกจากทำงานประจำ หรือเหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน โดยลักษณะของต้นลาน จะมีขนาดเล็กคล้ายกับต้นมะพร้าว เมื่อมีอายุย่างเข้า 10 ปี ใบจะเริ่มร่วงหมดทั้งต้น พร้อมกับออกดอก จนกระทั่งจะเหลือเพียงผลลาน หลังจากนั้น ก็จะยืนต้นตาย ซึ่งในอดีตบรรพบุรุษได้นำลูกลานมาแปรรูป และขายได้ในราคากิโลกรัมละไม่กี่บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันยุคที่ข้าวยากหมากแพงและของหายาก ทำให้ราคาขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 60 บาทแล้ว
 

 
ทั้งนี้ ต้นลานจะถูกตั้งฉายาจากคนโบราณเอาไว้ว่า “ลูกฆ่าแม่” เนื่องจากเมื่อต้นออกลูกแล้ว ก็จะยืนต้นตายทันที และกว่าที่แต่ละต้นจะออกลูกต้องใช้เวลา 30-40 ปี สำหรับวิธีการทดสอบว่าต้นไหนสามารถเก็บลูกได้ก็คือ การเอาหนังสติ๊กยิงให้ผลร่วงลงมา แล้วกระเทาะดูว่าเนื้อข้างในแก่ หรืออ่อน ซึ่งหากต้นไหนสามารถเก็บลูกได้ ก็จะต้องโค่นลงมา เนื่องจากต้นลานมีความสูงมากประมาณ 30-40 เมตร และลำต้นใหญ่ขนาด 1 คนโอบ พร้อมเชื่อว่าต้นลานไม่สูญพันธุ์ เนื่องจากลูกที่ร่วงลงมาจะมีการงอก และขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เป็นระบบนิเวศ ส่วนการแปรรูปจะต้องนำลูกลานมากะเทาะเปลือกออก แล้วเอาแต่เนื้อข้างในที่เป็นสีขาว ซึ่งจะต้องรีบทำเลยหลังจากเก็บลูกลานมาแล้ว เพราะหากเก็บไว้หลายวัน เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเปื่อยยุ่ย

นายทักษิณ รักจริง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ควนปริง กล่าวว่า ต้นลานเป็นต้นไม้ท้องถิ่นของ ต.ควนปริง มานานแล้ว มีอยู่ตามทุ่งนา ตามลำคลอง หรือบริเวณที่มีความชื้นมากๆ และจะมีอายุ 30-40 ปี ซึ่งทาง อบต.กำลังส่งเสริมให้เป็นวัฏจักรการเจริญเติบโตแบบธรรมชาติ คือ เติบโตจากผลร่วง แต่ที่มีการสูญหายไปในบางพื้นที่ เนื่องจากมีการเข้ามาจับจองเพื่อทำผลประโยชน์ และทำลายต้นลานขนาดเล็ก จึงทำให้สูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะผลของลูกลาน สามารถนำมาแปรรูปเป็นขนมหวาน เช่น ลูกลานลอยแก้ว หรือลูกลานเชื่อม เพื่อนำไปขายในท้องถิ่น นับเป็นวิถีชาวบ้านที่แบ่งปันช่วยเหลือกันอย่างเหมาะสม
 



กำลังโหลดความคิดเห็น