ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “JTI”บริษัทเครือผู้ผลิตและจำหน่ายยาสูบอันดับ 3 ของโลก ที่รัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ลั่น ทุ่มไม่อั้นจัดการแก๊งขโมยบุหรี่ในท่าเรือคลองเตยให้ถึงที่สุด หลังกว่า 6 เดือนคดียังเงียบเป็นเป่าสาก แถมปล่อยให้ขายทางออนไลน์กันโจ๋งครึ่ม ชี้หากรัฐบาลบิ๊กตู่ยังเมินอาจกระทบแผนลงทุนในไทยที่มูลค่ามากกว่าเงินใช้ซื้อเรือดำน้ำจีนได้ทั้งฝูง เผยแก๊งลักสินค้าในท่าเรือเป็นปัญหาที่หมักหมมกว่า 3 ทศวรรษ ถึงขั้นถูกขนานนาม “ยากูซ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”
จากกรณีผู้บริหารบริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (JTI) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือเจที กรุ๊ป (JTI Group) ผู้ผลิตบุหรี่และยาสูบอันดับ 3 ของโลก ได้ร้องเรียนต่อ “MGR Online ภาคใต้” ว่าสินค้าบุหรี่ยี่ห้อ WINSTON COMPACT GREEN และ WINSTON COMPACT BLUE ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศมาเลเซีย และทางบริษัทได้สั่งนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยขนส่งผ่านทางท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ แต่ปรากฏว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าในความรับผิดชอบของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ถูกงัด และมีสินค้าหายไป จำนวน 67 ลัง ประกอบด้วย 1.บุหรี่ WINSTON COMPACT GREEN 66 ลัง (33,000 ซอง) 2.บุหรี่ WINSTON COMPACT BLUE 1 ลัง (500 ซอง) รวมมูลค่าความเสียหาย2,345,000 บาท และพบว่าสินค้าที่ถูกขโมยได้ถูกนำไปประกาศขายทางสังคมออนไลน์อย่างโจ่งแจ้ง
โดยผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กลับยังไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด โดยอ้างว่า ต้องให้ตำรวจเป็นผู้มาตรวจสอบ ต่อมา ตัวแทนบริษัทได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ท่าเรือ เพื่อให้มีการตรวจสอบ และเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ แต่ตำรวจกลับให้ลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความไม่ชอบมาพากล เชื่อว่าแก๊งงัดตู้คอนเทนเนอร์ขโมยสินค้าท่าเรือคลองเตย มีบุคคลภายในการท่าเรือฯ รู้เห็นเป็นใจ และทำกันเป็นขบวนการ เนื่องจากผ่านมาเกือบ 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดแสดงความรับผิดชอบ ตามข่าวที่ “MGR Online ภาคใต้” รายงานไปก่อนหน้านี้
นายเก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบรรษัท บริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมต่อ “MGR Online ภาคใต้” ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของการท่าเรือฯ และตำรวจ สน.ท่าเรือ ว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย คือ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็บ่ายเบี่ยงมาตลอด ทั้งที่ชัดเจนว่าของหายไปในขณะที่การท่าเรือฯ เป็นผู้เก็บรักษาไว้ในเขตหวงห้ามเฉพาะ ที่มีรั้วรอบขอบชิด มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนา
“แต่ว่าสินค้าก็ยังถูกขโมยไปได้ ผมบอกได้เลยว่าบุหรี่ 67 กล่องนี่ มันไม่ใช่น้อยๆ เลยนะครับ ต้องขนด้วยรถกระบะถึงจะหมด และคงเต็มท้ายรถกระบะพอดี มันเป็นไปได้ยังไง...แต่โอเคเรามองว่าสินค้ามันก็คงจะมีโอกาสโดนขโมยได้เป็นธรรมดา ก็เลยไปขอตรวจสอบดูกล้องวงจรปิดจากการท่าเรือฯ เพราะมีกล้องอยู่ตรงบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ปรากฏว่า การท่าเรือฯ ไม่ให้เราดู ทั้งที่สินค้าที่หายไปอยู่ในพื้นที่ของเขา และเราซึ่งเป็นผู้เสียหายก็ใช้บริการของเขา แต่กลับไม่ให้เราดู เพราะถ้าได้ดูเราก็จะรู้ได้ทันทีว่าใครเป็นคนขโมยไป เขาอ้างว่าต้องไปแจ้งความต่อตำรวจ” นายเก่งการ กล่าวและเสริมว่า
“แต่พอไปแจ้งความตำรวจ สน.ท่าเรือ ก็แค่ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ จะให้เราเข้าใจว่ายังไง และถ้าคนที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบออกมาบ้าง แต่นี่ผ่านมาเกือบจะ 6 เดือน ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย จนกระทั่งเรามาพบเมื่อ 3-4 วันก่อนมีคนเอาสินค้าที่ขโมยไป ไปประกาศขายทางออนไลน์ เราเลยคิดว่าต่อไปนี้เราจะไม่เงียบอีกต่อไปแล้ว เมื่อพึ่งหน่วยงานรัฐ พึ่งตำรวจไม่ได้ ก็ต้องขอพึ่งสื่อให้ช่วยสื่อสารในเรื่องนี้ ประเด็นหลักเราไม่ได้ต้องการสินค้าคืน แต่เราอยากให้มีการตรวจสอบ และปรับปรุงการให้บริการ เพราะท่าเรือคือสถานที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์ กระทบต่อการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติอย่างมากแน่ๆ ครับ”
นายเก่งการ กล่าวด้วยว่า สินค้าที่ถูกขโมยมีการนำไปประกาศขายทางสังคมออนไลน์ ครั้งแรกเห็นแค่เจ้าเดียว แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีเจ้าอื่นๆ ตามมาอีก 3-4 ราย เพราะบุหรี่ที่ขโมยไปนั้นมีจำนวนถึง 3 หมื่นกว่าซอง ฉะนั้นเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีหลายคน ซึ่งในส่วนของสินค้าที่ถูกขโมยไปมีตราสัญลักษณ์กำกับอยู่หลายจุด เช่น หมายเลขบนตราของสรรพวสมิต วันเดือนปีที่ผลิต ทางบริษัทได้เก็บรวบรวมหลักฐานไว้หมดแล้ว จึงขอเตือนประชาชนว่าไม่ควรไปสนับสนุนสินค้าที่มีที่มาที่ไปไม่ถูกกฎหมายแบบนี้ เพราะผู้ที่ซื้ออาจจะทำผิดกฎหมายไปด้วยฐานรับของโจร
ในส่วนตรงนี้เราคิดไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน แต่มันก็มีโจทย์ให้คิดอีกว่า แล้วเราจะไปแจ้งความต่อตำรวจท้องที่ไหนให้ดำเนินการทางกฎหมายให้เรา ในเมื่อ สน.ในพื้นที่เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเขาปฏิบัติต่อเราอย่างไร ในวันที่เราไปแจ้งความของหาย จะมีที่ไหนให้เรามั่นใจอีกบ้างว่าจะช่วยเราได้ นอกจากเราก็ต้องออกมาพูดผ่านสื่อ ขอให้สื่อช่วยนำเสนอเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
“บริษัทเราเจ้าของใหญ่คือ รัฐบาลญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เรื่องนี้สถานทูตรับรู้นะครับ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศนะครับ ผมว่ามากกว่าราคาของที่หายไปเยอะ จริงๆ แล้วบริษัทแม่คือรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้มอบหมายงานให้ผมมา คือจะมาลงทุนขนาดใหญ่ ใหญ่มากๆ ซื้อเรือดำน้ำได้หลายลำเลยล่ะ เป็นทีมเลย อยากเอาเงินมาลงทุนในเมืองไทย เพราะเป็นแหล่งที่ชาวญี่ปุ่นเขาชอบมาลงทุนอยู่แล้ว”
นายเก่งการ กล่าวย้ำด้วยว่า แต่ว่าพอเจอเรื่องอย่างนี้ ท่าเรือที่เป็นทางการที่สุดก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือรักษาความปลอดภัย หรือดูแลรับผิดชอบให้เราได้ ความจริงของหายได้แต่ถ้าเขาช่วยติดตามช่วยรับผิดชอบเราก็ยังโอเค แต่นี่เขาเหมือนไปในทางเดียวกันหมด ตนจึงคิดว่ามันก็จะยากนะที่เราจะมีความเชื่อมั่น จะทำอะไรต่อไปในประเทศไทยได้
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบรรษัท บริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ยอมรับว่าหลังเกิดเหตุสินค้าถูกขโมยจากตู้คอนเทนเนอร์ ได้มีการประสานงานกับสถานทูตญี่ปุ่นแล้ว แต่ลักษณะของคนญี่ปุ่นจะไม่ทำอะไรผลีผลาม เพราะเป็นห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สร้างกันมานาน
“เขาขอให้เราอดทน และดูสิว่า จะไปหาช่องทางยังไง หรือทำอะไรได้ไหม แต่ถ้าสุดๆ แล้วเขาอาจจะต้องออกโรงมาช่วยพูดกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเรา แต่ผมว่าถ้าถึงวันนั้นในมุมประเทศไทยเราเอง ผมว่าคงเสียชื่อ เสียภาพลักษณ์ไปเยอะกว่า 2 ล้านกว่าบาท หรือมากกว่าตามราคาสินค้าที่หายไปเยอะ ผมก็ไม่อยากให้ไปถึงตรงนั้น สิ่งที่เราอยากเน้นคือการท่าเรือฯ เพราะเราต้องเอาของเข้าเรื่อยๆ เราก็เป็นห่วงว่า แล้วในอนาคตมันจะมีความปลอดภัยไหม ถ้าเขาเห็นว่าขโมยไปบริษัทยังทำอะไรไม่ได้เลย ก็อาจจะเอาอีก หรืออาจจะเกิดขึ้นต่อบริษัทเพื่อนๆ ของเราอีก”
นายเก่งการ กล่าวอีกว่า ตนเป็นห่วงแทนระบบของบ้านเรา คิดว่าปัญหาที่เกิดในทุกวันนี้มาจากระบบใหญ่มีปัญหา ถ้าระบบใหญ่ไม่มีปัญหาก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะไม่ว่าที่ไหนของก็หายได้ แม้จะมีการรักษาความปลอดภัยอย่างดีแค่ไหนของก็หายได้ แต่ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันมันก็คงไม่ยากที่จะตามได้ ไม่ว่าประเทศไหนถ้าเขาได้ยินแบบนี้ตนเชื่อว่ามันก็แปลกนะ มันไม่ธรรมดา เพราะว่าที่อื่นคงไม่มีหรอก
“สำหรับการต่อสู้ในทางคดี หากพบว่ามีคนของหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง ต้องบอกอย่างนี้ว่าบริษัทที่มีธรรมาภิบาลจะปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ภาษีเท่าไหร่ต้องจ่ายตามกฎกติกาได้หมด แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเรารู้ว่าใครมากลั่นแกล้ง หรือว่ามาทำลักษณะอย่างนี้ เราก็ต้องเอาให้ถึงที่สุดเหมือนกัน ไม่ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเท่าไหร่ก็ตาม”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัญหาการขโมยสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือคอลงเตย ซึ่งแม้จะเก็บไว้ในเขตหวงห้ามที่มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนาของท่าเรือคลองเตย แต่ปัญหานี้ก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า ปัญหาแก๊งขโมยสินค้าจากท่าเรือเกิดขึ้นมานานควบคู่กับปัญหาเรื่องการเรียกรับส่วยของพนักงานการท่าเรือ ที่จนถึงวันนี้ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้
ทั้งนี้ จากสกู๊ปข่าวที่เคยตีพิมพ์เป็นเรื่องปกในนิตยสาร “ผู้จัดการ” ฉบับเดือนธันวาคม 2531 ในชื่อเรื่อง “การท่าเรือฯ ยากูซ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เขียนโดย “รุ่งอรุณ สุริยามณี” กล่าวถึงปัญหาการลักขโมยสินค้าท่าเรือคลองเตยไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่งของโรงพักสินค้า คือ การลักขโมยสินค้าที่มีราคาแพงซึ่งเก็บไว้ในโรงพักสินค้าเป็นขบวนการที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ร่วมมือกับคนภายนอก โดยการรู้เห็นเป็นใจของยาม และตำรวจท่าเรือด้วย
เมื่อปี 2527 ได้เกิดไฟไหม้โรงพักสินค้าที่ 12 จนแหลกลาญไปเกือบหมด สาเหตุที่กล่าวอ้างคือ ไฟช็อต แต่เบื้องหลังแล้วคือ การกลบเกลื่อนทำลายหลักฐานการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของสินค้าจำนวนมาก
“รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นเรื่องจงใจทำให้ไฟไหม้ แต่เราก็เหมือนตกบันไดพลอยโจนโยนให้เป็นสาเหตุจากไฟช็อตไม่อย่างนั้นแล้วบริษัทประกันจะไม่ยอมจ่าย” เจ้าหน้าที่ระดับบริหารขั้นต้นผู้หนึ่งเปิดเผยต่อ “ผู้จัดการ”
หลังจากการไฟไหม้ครั้งนี้ หัวหน้าโรงพักสินค้าต้องออกจากงานไป นัยว่ามีคนรู้เห็นเบื้องหลังกันมาก และจะเอาเรื่องเพื่อให้เรื่องเงียบไป จึงหาทางออกอย่างนี้ พอออกจากท่าเรือ คนคนนี้ก็ไปทำงานกับบริษัทรับจ้างบรรจุตู้สินค้าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของอดีตผู้บริหารระดับสูงของท่าเรือกรุงเทพ
รายได้จากผลประโยชน์รูปแบบต่างๆ เหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะถูกกันเอาไว้แล้วรวบรวมส่งต่อให้ผู้บริหารระดับเหนือขึ้นไปเป็นทอดๆ เหมือนกับระบบส่งส่วยของตำรวจ ว่ากันว่าหัวหน้าโรงพักสินค้าทุกโรงนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องจัดสรรเงินก้อนหนึ่งให้แก่เบื้องบนเป็นประจำทุกๆ เดือนเป็นระบบการจัดสรรผลประโยชน์ที่กระจายไปทั่วทุกระดับอย่างทั่วถึง!!!
ทั้งนี้ สกู๊ปปกนิตยสาร “ผู้จัดการ” เรื่อง “การท่าเรือฯ ยากูซ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ระบุว่า สภาพปัญหาที่เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาการท่าเรือฯ ทั้งหมดมาจากเรื่องของจิตสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรแห่งนี้ในทุกระดับชั้น
“หน่วยงานนี้มีบทบาทสำคัญต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไทย แต่ปัญหาความแออัดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี (2531) สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานได้เป็นอย่างดีว่ามีน้ำยาแค่ไหน สาเหตุนั้นกล่าวอ้างกันต่างๆ นานา ลึกลงไปถึงเนื้อแท้แล้วก็คือ ความล้าหลัง ปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากจิตสำนึกที่ฉ้อฉล อันหยั่งรากฝังลึกตั้งแต่ชั้นผู้บริหาร ยันกรรมการแบกขน...
“ทำให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ แทนที่จะเป็นกลไกรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากองค์กรเถื่อนๆ ที่รีดนาทาเร้น สูบเลือดเถือหนังจากสุจริตชน ความหวังที่จะเยียวยาเนื้อร้ายนี้ยังรางเลือนห่างไกล เมื่อมือที่ยื่นเข้ามาล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของเจตจำนงแห่งการกอบโกยทั้งสิ้น”
(อ่านสกู๊ปที่เคยตีพิมพ์เป็นเรื่องปกในนิตยสาร “ผู้จัดการ” ฉบับเดือนธันวาคม 2531 ในชื่อเรื่อง “การท่าเรือฯ ยากูซ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เขียนโดย “รุ่งอรุณ สุริยามณี” ได้จากลิงก์ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=7948)