xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ส่งคณะลงติดตามและประเมินผลโครงการของสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยาที่ปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการของสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะที่ 4 ลงพื้นที่ปัตตานี เพื่อสอบถามถึงปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่พร้อมให้กำลังใจ

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการของสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะที่ 4 ซึ่งมี นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้เชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องที่ และบัณฑิตอาสาจากทุกตำบลของ อ.โคกโพธิ์ เพื่อเป็นการให้กำลังใจ และสอบถามถึงปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ของสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ที่ ศอ.บต. ให้การอุดหนุนในเรื่องของงบประมาณ เช่น โครงการพนม โครงการตำบลสันติธรรม และอื่นๆ
 

 
ซึ่งปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นตัวแทนของนายอำเภอ ได้ทำการบรรยายสรุปถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ในพื้นที่ให้คณะทำงานฯ ได้รับทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของบัณฑิตอาสา ซึ่งขณะนี้กลายเป็นกำลังหลักของทุกหมู่บ้านในการประสานงานระหว่างฝ่ายปกครอง กับท้องที่ และประชาชน ซึ่งต้องการให้ ศอ.บต.พิจารณาในการเพิ่มสวัสดิการให้แก่บัณฑิตอาสาที่ยังมีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย

โดยประธานบัณฑิตอาสาของแต่ละตำบล กล่าวว่า ต้องการให้ดูแลในเรื่องของสวัสดิการ เช่น การประกันชีวิต การมีเบี้ยเสี่ยงภัย การช่วยเหลือในเรื่องเครื่องมือสื่อสาร และห้องทำงาน เพราะบัณฑิตอาสาของ อ.โคกโพธิ์ ได้มีการพัฒนาการทำงานจนเป็นชมรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และการให้การดูแลช่วยเหลือกันเองในชมรม
 

 
ในส่วนของโครงการพนม ของ อ.โคกโพธิ์ ซึ่งได้รับงบประมาณจาก ศอ.บต. นั้น ทั้งบัญฑิตอาสา ผู้นำท้องที่ และหน่วยงานฝ่ายปกครอง กล่าวว่า ทาง ศอ.บต. มีการวางกรอบให้ทำได้ในเรื่องการทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้ทำประชาคมในทุกหมู่บ้าน ซึ่งมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน แต่ในที่สุดก็ต้องทำตามกรอบของ ศอ.บต. ที่กำหนดขึ้น จึงทำโครงการปลูกกล้วยไข่ บ้านละ 10 ต้น และเลี้ยงไก่ครอบครัวละ 5 ตัว ในขณะที่คนในพื้นที่ต้องการที่จะนำงบประมาณไปทำโครงการอื่นๆ ที่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น การปลูกกล้วยน้ำว้าแทนกล้วยไข่ เพราะมีตลาดรองรับ หรือต้องการนำเงินไปทำอย่างอื่นในแบบกลุ่มแทนการเลี้ยงไก่ ที่หลายคนเห็นว่าเป็นภาระ แต่ทำไม่ได้เพราะกรอบกติกาที่กำหนดมาทำไม่ได้ จึงขอให้คณะทำงานฯ นำปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นไปแจ้งให้ ศอ.บต.ทราบ เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนโครงการให้สอดคล้องต่อความต้องการของคนในพื้นที่

เช่นเดียวกับโครงการตำบลสันติธรรม ที่ผู้นำท้องที่ต้องการที่จะแปรงบประมาณจากการฝึกอบรมจากการทำป้ายชื่อ จุดตรวจ ไปเป็นการซื้อกล้องวงจรปิดเพื่อประโยชน์ในการจับกุมคนร้ายที่เข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ และวัสดุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย หรือความมั่นคง แต่ไม่สามารถทำได้ จึงอยากจะให้มีการปรับกรอบที่วางไว้ให้เหมาะสมต่อปัญหาในแต่ละพื้นที่
 

 
ในส่วนของ ทสปช. ซึ่งมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเขตเทศบาล ซึ่งมีอยู่ จำนวน 35 คน เป็นชุดที่ทำงานหนัก เพราะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา เป็นผู้ช่วยของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้รับเข้าเวรทำงาน 24 ชั่วโมงด้วยการหมุนเวียนกัน โดยได้รับค่าตอบแทนคนละ 5,000 บาทต่อเดือน และยังขาดแคลนในส่วนของอุปกรณ์ เช่น ไฟฉาย อาวุธปืน ซึ่งขอให้ ศอ.บต. ให้การสนับสนุนเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

หลังจากนั้น คณะทำงานได้ลงพื้นที่ไปติดตามดูความก้าวหน้าของโครงการพนม คือการส่งเสริมให้ปลูกกล้วยไข่ครัวเรือนละ 10 ต้น ที่หมู่ที่ 2 ต.นาเกตุ และการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่หมู่ 6 ต.นาประดู่ และการเยี่ยมจุดตรวจของ ทสปช. ในเขตเทศบาลนาประดู่ เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น