xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรจะนะพลิกผืนนาร้าง 12 ไร่ ปลูกส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง อนุรักษ์พันธุ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกร อ.จะนะ พลิกผืนนาร้าง 12 ไร่ ปลูกส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ส้มจุกไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ไป ทางจังหวัดสงขลา ได้สนับสนุนการจัดระบบน้ำเพื่อเป็นแปลงตัวอย่าง และสร้างแบรนด์สินค้า บรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาด และเป็นพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ

วันนี้ (10 พ.ค.) ที่สวนส้มจุกคุ้งคลองวัวของ นายดนหลีม สุนทรมาลาตี อายุ 58 ปี ที่หมู่ที่ 5 ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา จากเดิมที่พื้นที่ตรงนี้เมื่อก่อนเป็นนาร้างไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงพลิกผืนนาร้างโดยทำการขุดยกร่องทำไร่นาสวนผสมทั้งหมด 12 ไร่ ปลูกส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง 600 ต้น ตามมาตรฐาน ความกว้างของต้น 6 x 8 เมตร ปลูกส้มจุก 3 รุ่น รุ่นแรก อายุ 3 ปีครึ่ง รุ่นที่ 2 อายุ 2 ปีครึ่ง และรุ่นที่ 3 อายุ 1 ปีเศษ รวมทั้งปลูกกล้วยน้ำว้า สับปะรด ถั่วฝักยาว และแตงโม แซมในร่องส้มจุก ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙
 

 
นายดนหลีม สุนทรมาลาตี บอกว่า ครอบครัวปลูกส้มจุกมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด รุ่นพ่อ และถึงรุ่นตนสำหรับที่สวนแห่งนี้ส้มจุกมีทั้งรุ่นอายุ 3 ปีครึ่ง และรุ่นอายุ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเริ่มให้ผลผลิต แต่ต้องปลิดทิ้งบ้างเหลือไว้แค่ต้นละ 9-10 ลูกเท่านั้น เพราะถ้าเก็บลูกไว้มากกว่านี้ต้นจะโทรม เพราะโครงสร้างของต้นมันยังไม่แข็งแรงพอ

ที่สำคัญส้มจุกที่ปลูกเป็นส้มจุกพันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์จะนะโดยตรง รสชาติ ความหอมของกลิ่น และขนาดของผลจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูส้มสายพันธุ์นี้ให้กลับมามีชื่อเหมือนดังเดิมอีกครั้ง เพราะปัจจุบันในพื้นที่ อ.จะนะ เหลือพื้นที่ปลูกส้มจุกน้อยมาก และยังมีต้นพันธุ์ของแท้ดั้งเดิมขายต้นละ 200 บาทอีกด้วย
 

 
สำหรับผลผลิตส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองจะนะ ผลมาตรฐาน 4 ผลต่อ 1 กิโลกรัมๆ ละ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่พ่อค้ามารับซื้อจากสวน เนื่องจากส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองต้องใช้ระยะเวลา 8 เดือนหลังออกดอกจนส้มสุกจึงจะเก็บขายได้ ตกราคาผลละ 50 บาท และหลังจากสุก 8 เดือน จะเก็บไว้ที่ต้นได้อีก 3 เดือน สำหรับผลส้มจุกจะสุกเต็มที่ให้รสชาติหวาน ร่อยพร้อมออกจำหน่ายในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี

นอกจากนี้ สวนส้มจุกคุ้งคลองวัวของ นายดนหลีม ทางจังหวัดสงขลา โดยนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ให้การสนับสนุนการจัดระบบน้ำเพื่อเป็นแปลงตัวอย่าง และสร้างแบรนด์สินค้า บรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการตลาด และเป็นพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะอีกด้วย
 

กำลังโหลดความคิดเห็น