โดย..ณขจร จันทวงศ์
นับแต่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้ในสังคมไทย มีโซเชียลมีเดียใช้หลายแพลตฟอร์ม และฮิตที่สุดคือ เฟซบุ๊ก
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โลกในอินเทอร์เน็ต รวมถึงผู้ใช้ที่มีอิทธิพลมีผู้ติดตามจำนวนมากต้องกลายเป็นจำเลยสังคมมาโดยตลอด
เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอแพร่ข้อมูลเท็จบ้าง บิดเบือนบ้าง เป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ อำนาจรัฐจึงเอามาเป็นข้ออ้าง และพยายามหาจังหวะเข้ามาควบคุมอยู่ตลอด นี่ ถ้าเฟซบุ๊กเป็นผลิตภัณฑ์ Made in Thailand คงม้วนเสื่อปิดกิจการ หรืออาจถูกรัฐบาลสั่งปิดไปนานแล้วก็เป็นได้ ถ้านามสกุลไม่ใหญ่พอ หรือไม่รวยพอ
ใครบ้างที่ตั้งแง่รังเกียจ และเกลียดสื่อออนไลน์ กลุ่มแรกสุดคือ คนที่ไม่เคยใช้ ไม่เคยสัมผัส จะใช้ก็ใช้ไม่เป็น ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในวงการข้าราชการ ซึ่งมีอำนาจมีอิทธิพลทางความคิด แต่เมื่อมีอคติก็เลยตัดโอกาสในการเรียนรู้ไป
ตอนที่เฟซบุ๊กยังไม่แพร่หลายขนาดนี้ บางคนกล้าวิจารณ์ว่าโลกออนไลน์ “ไร้สาระ” ทั้งที่ยังไม่เคยลองกดสักจึ๊ก ว่ามันใช้งานยังไง หนักไปกว่านั้น บางคนไม่เคยเห็นหน้าตาโปรแกรม และเปิดคอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่สรุปไปก่อนแล้วว่าไม่มีประโยชน์
อย่างที่บอกว่าคนแบบนั้นส่วนใหญ่อาวุโส มีอำนาจ มีความรู้ แต่ไม่ได้รู้ทุกเรื่องของโลกสมัยใหม่ แต่ครั้นจะถามเด็กก็ไม่กล้า อาย เพราะกูอาวุโสกว่า โลกนี้กูรู้ทุกเรื่อง แต่พอเด็กถามว่าลุงเล่น Hi 5 เป็นด้วยเหรอ ถึงกับทำหน้างง ??? บางคนห้ามลูกหลาน ในที่ทำงานบางแห่งห้ามพนักงานใช้สื่อออนไลน์ก็มีเยอะแยะ ผู้หลักผู้ใหญ่จะน่ารักถ้าเรียนรู้โลกสมัยใหม่ไปด้วยกันกับเด็ก
ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายก็ต้านทานกระแสโลกไม่ได้ วันนี้เลยเห็นว่าคนที่เคยรังเกียจสื่อออนไลน์หันมาใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะ เลิกเถียงกันไปได้ในระดับหนึ่ง คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น เกิดกลุ่ม เกิดเครือข่าย เกิดความเหนียวแน่น และเกิดพลัง! ทั้งพลังสร้างสรรค์ และพลังทำลายล้าง...
แต่สื่อมวลชนที่ใกล้ชิดชาวบ้านน่าจะทราบดีว่า ความต้องการพื้นฐานของชาวบ้านในการใช้สื่อ ในกรณีที่มีสื่อเป็นของตัวเอง นั่นคือ ใช้สื่อในการอำนวยความยุติธรรม และต่อสู้กับความอยุติธรรม เป็นหลัก ไม่ใช่จะเอาไว้ด่าใครพร่ำเพรื่อให้เขาฟ้องร้องเอา...ยกเว้นเมียใช้สื่อด่าผัว นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
ยังไงก็ตาม ก่อนหน้าที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลาย ผู้ที่มีสื่ออยู่ในมือคือนายทุน คืออำนาจรัฐ สื่อที่มีสร้างภาพพวกเขาเองให้ดูยิ่งใหญ่ดูดีได้ทุกเรื่อง และประชาชนก็ไม่มีทางเลือก ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก ก็ทนดูกันมา
แต่ถึงยุคนี้ ระหว่างที่อำนาจรัฐ ข้าราชการ ยืนบนโพเดียมผายมือเฟื่องฟุ้งโม้เป็นคุ้งเป็นแคว รักประชาชนอย่างโน้นอย่างนี้ รักชาติเป็นชีวิตจิตใจ เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฯลฯ...ถ้าเป็นเมื่อก่อนพูดจบจะต้องได้ยินเสียงปรบมือ ไชโยโห่ร้อง แต่ยุคนี้ เงียบ... แป้ก! ชาวบ้านปิดทีวีไปหาอะไรดีดีดูในอินเทอร์เน็ตกันหมดแล้ว การโฆษณาของรัฐเลยไม่เห็นผล เรียกว่าล้มเหลวก็น่าจะได้ ที่ล้มเหลวไม่ใช่เพราะใช้สื่อไม่เป็น แต่ล้มเหลวเพราะไม่ใช้สื่อเพื่อพูดความจริง หรือปฏิบัติจริงไม่ได้ในเรื่องที่คุยเขื่องออกทีวีไว้
อะไรที่ชาวบ้านมีก่อน ได้ครอบครองก่อน รู้วิธีใช้ก่อน คนในรัฐบาลบางคนอาจจะไม่ชอบ ยิ่งชาวบ้านรู้มากกว่ายิ่งรับไม่ได้ ต้องหาทางจัดการควบคุม หรือทำให้หายไปเลย ล่าสุดอย่างที่เห็นว่าทุนสื่อกลุ่มหนึ่งยกขบวนไปร้องหน่วยงานรัฐให้จัดการสื่อออนไลน์ อ้างเหตุผลแบบเห็นชัดถึงสันดาน คือ อ้างว่าสื่อออนไลน์มาแย่งรายได้ แย่งลูกค้า...น่าอนาถ!
อำนาจรัฐซึ่งมีอคติอยู่แล้วกับสื่อออนไลน์ ก็รับลูกนายทุนสื่อทันที เพราะวันนี้ชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้รับสารอย่างเดียวแล้ว แต่สามารถผลิตสื่อได้ด้วยตัวเองในต้นทุนที่ถูกมากหากเทียบกับทีวี ดิจิทัล หรือทีวี ดาวเทียม
ในโลกออนไลน์มักพูดจากันโผงผาง ไม่กระมิดกระเมี้ยน ไม่อ้อมค้อม ส่งเสริมการเผยแพร่ความจริง แต่ความจริงบางเรื่องสังคมก็ไม่อาจรับได้ เช่น ความรุนแรง อนาจาร ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้ และผู้ให้บริการมีกฎกติกาดูแลกันอยู่...ขณะที่อำนาจรัฐอยู่ในอาการกินข้าวไม่อร่อย นอนไม่ค่อยหลับ กังวลว่าโลกออนไลน์มันจะแฉเรื่องอะไรให้รัฐบาลเสียหมาอีก...จัดการเสียก่อนดีกว่า!
ก็เหมือนเดิมๆ นั่นแหละ...ข้ออ้างที่อำนาจรัฐเอามาใช้เพื่อผลักดันกฎหมายมาควบคุมสื่อหลักที่วิจารณ์รัฐแบบกัดไม่ปล่อย รวมถึงสื่อออนไลน์ คือมักอ้างว่าเพื่อป้องกันการใช้สื่อไม่ให้กระทบความมั่นคง ป้องกันอาชญากรรม อ้างว่าโลกออนไลน์เป็นต้นตอของอาชญากรรม ก็ถูก ในเมื่อคนหันมาใช้สื่อออนไลน์กันเยอะ จึงไม่มีแล้วโจรมุมตึก มีแต่โจรออนไลน์
ทั้งหมดทั้งปวงหากอำนาจรัฐจะอ้างว่าโลกออนไลน์เป็นต้นตอของอาชญากรรมมากที่สุด ก็ต้องแย้งว่า ไม่จริง! เพราะไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีโอกาสเกิดอาชญากรรมได้หมดสำหรับในประเทศไทย ทุกที่สามารถตกเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรได้ทุกแห่ง
ไม่เว้นแม้ในทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ที่ทำการ หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในวัด ก็อาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโสมมเป็นต้นตอของอาชญากรรมได้เท่าๆ กันกับที่อื่นๆ ไม่ใช่หรือ!?
ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสื่ออย่างชาญฉลาด และมีอิสระ น่าจะส่งผลดีต่อความมั่นคงของประชาชาติไทยได้มากกว่าที่อ้างว่าจะทำลายความมั่นคง
ประชาชนชอบแบ่งปันข้อมูลอะไรกันในโลกออนไลน์? ลองพิจารณาดีดีนะครับ คนใช้โซเชียลมีเดีย น่าจะพอนึกภาพรวมออก...
ข้อมูลที่ชาวบ้านแชร์กันมากที่สุด คือ ข้อเท็จจริงที่อยากให้สังคมช่วยกันตรวจสอบว่าจริงเท็จประการใด ข้อมูลการทุจริต ความไม่ยุติธรรม การบกพร่องต่อหน้าที่ของพลเมือง ข้าราชการ รัฐบาล องค์กร และสถาบันต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลที่ส่อไปในทางอาชญากรรม
หลายครั้งหลายประเด็น หลายกรณี ชาวบ้านอึ้ง ตะลึง และตื่นเต้นมากที่พบว่าบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร กลายเป็นบุคลากรของภาครัฐ! หลายๆ กรณีมีหลักฐานชัดเจน เช่น คลิปต่างๆ
คลิปต่างๆ นี้ไม่ใช่หรือที่ยังช่วยพยุงให้สถานีโทรทัศน์หลายๆ ช่อง ยังพอมีคนดูอยู่บ้าง และไม่แปลกเลยที่ยังมีคนเฝ้าจอทีวี คนเหล่านั้นส่วนใหญ่เขายังเข้าไม่ถึงสื่อออนไลน์ เช่น ผู้สูงอายุที่มีจำนวนลดลงทุกวันตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปไม่หยุดนิ่ง
การส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิมีเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อ จึงเป็นการส่งเสริมการสร้งชาติ พัฒนาชาติ สร้างความมั่นคงของชาติ ประชาชนมีเครื่องมือพร้อมจะเปิดรับบทเรียน และสาระความรู้ต่างๆ รอบโลก
แทนที่จะควบคุม คุกคาม ถ้าอำนาจรัฐนอกจากจะดูแข็งแรง แข็งแกร่งแล้ว หากมีสมองด้วย ประชาชนจะได้ประโยชน์มาก เช่น รัฐลองคิดสิ ควรจะเป็นเจ้าภาพตั้งงบประมาณส่งเสริมให้ประชาชนผลิตสื่อตามความถนัด ตามความสนใจ เด็กๆ นักเรียนนักศึกษาได้ทดสอบความรู้ นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ
รัฐไม่ต้องแจกแท็บเล็ต แต่พัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์มาหนุนเสริมประชาชน เรียนรู้ร่วมกัน สร้างภูมิปัญญาร่วมกัน พัฒนาประเทศชาติไปด้วยกัน อย่าปล่อยให้ชาวบ้านตื่นเต้นอยู่กับข้อมูลใหม่ๆ ที่บางเรื่องพวกเขาไม่รู้มาก่อน ท่านก็เห็นแล้วว่ายุคสมัยนี้ลับสุดยอดแค่ไหนก็ไม่มีอะไรรอดพ้นจากการรับรู้ไปได้
อย่าคิดแค่ว่าจะปิดมันยังไง ด้วยอะไร เพราะสัจจะความจริงคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนกระหายใคร่รู้ ไม่ว่าจะในกลุ่มของคนโง่ หรือคนฉลาด สมบูรณ์แข็งแรง หรือพิการ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพอย่างไร และไม่ว่าจะถูกหลอก ถูกมอมเมามาด้วยข้อมูลเท็จ หรือความจริงครึ่งเดียวมาเป็นระยะเวลานานแค่ไหนแล้วก็ตาม
ทุกสิ่งทุกอย่างในขอบเขตของรัฐรวมทั้งอำนาจ ประชาชนทุกคนคือผู้เป็นเจ้าของร่วมกัน พวกเขามีสิทธิ มีความต้องการ และจำเป็นจะต้องใช้มันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ!
...แต่ถ้าจะถือดี ยึดหลักอำนาจบาตรใหญ่ไม่สนใจใครทั้งนั้น ทำได้ก็ทำไป เพราะไหนๆ ก็ทำมาแล้ว วันนี้ประชาชนเจ้าของอำนาจรัฐเขาทำอะไรไม่ได้มาก...แต่เชื่อเถอะว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงคุณ!