xs
xsm
sm
md
lg

60 ปีชีวิตและงานบนเส้นทางการต่อสู้ของประชาชน : จรูญ หยูทอง - บรรจง นะแส - ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ / รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ สงขลา
--------------------------------------------------------------------------------
 
ผมรู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีอย่างที่สุดที่เพื่อนพ้องน้องพี่ให้ผมเป็นผู้กล่าวแนะนำผู้อาวุโสทั้ง 3 ท่าน “อ.จรูญ หยูทอง บรรจง นะแส และชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ เนื่องในโอกาส 60 ปี ชีวิตและงาน บนเส้นทางการต่อสู้ของประชาชน” ในค่ำคืนวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่อุ่นอวลด้วยรอยยิ้ม ความรัก และมิตรภาพอันผูกพัน เหนียวแน่นของบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงนักพัฒนาเอกชน
 
ชีวิตและงาน บนเส้นทางการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และการสถาปนาอำนาจ “ของ” ประชาชนให้เป็น “อำนาจนำ” ที่พอจะลงหลักปักฐาน หาญต่อกรกับโครงสร้างในสังคมการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยง่ายดาย หากต้องฝ่าฟัน เผชิญต่อแรงกดดันอันมากมายมหาศาล จากผู้คนที่รายล้อม แรงเสียดทาน อำนาจข่มขู่ คุกคาม บั่นทอนในทุกรูปแบบ
 
การยืนหยัดปฏิบัติการร่วมกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เปี่ยมล้นด้วยความกล้าหาญ แสดงให้เราเห็นอย่างประจักษ์แจ้งถึง “อุดมคติเพื่อสังคมที่เป็นไปได้” เพราะในขณะที่ผู้คนมากมายเปลี่ยนฝัน ผันเส้นทางอุดมคติด้วยเงื่อนไข และข้ออ้างอันมากมาย บ้างก็สร้าง “อุดมคติแบบเทียมๆ” หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณใหม่ที่ห่างไกลจากประชาชนผู้ยากจน ผู้ถูกกดขี่ในทุกรูปแบบ
 
แต่ทั้ง 3 ท่านกลับยืนหยัด ชูธงอุดมคติ และการแปรแปลงไปสู่การปฏิบัติการอันหลากหลาย เพื่อสร้างความเป็นธรรม การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ให้คุณค่าแก่เสรีภาพ อิสรภาพ  สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ความเป็นมนุษย์ที่เทียมเท่า
 
อ.จรูญ หยูทอง
 
นักวิชาการผู้ยืนหยัด ปักหลักสู่กับเผด็จการ อำนาจนิยมในทุกรูปแบบ เพื่อถากถางสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมีความเป็นประชาธิปไตย พร้อมไปกับการเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของภาคชาวบ้าน ชุมชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ครั้งเป็นนิสิต เป็นนายกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ภาคใต้ หรือบทบาทในการทำงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และสมัชชาสงขลาเพื่อการปฏิรูปการเมือง
 
กล่าวได้ว่า เป็นนักวิชาการในภาคใต้ที่แทบ “นับหัวได้” ที่ปักหลัก หยัดสู้ โดยไม่กลัวเกรงต่อภัยคุกคามใดๆ บทกวีของอาจารย์จึงก่อผลสะเทือนเลือนลั่น สร้างขวัญกำลังใจให้คึก ฮึกเหิม ให้แก่เหล่าบรรดาเยาวมิตรในทุกรุ่น การเป็นคนมีอารมณ์ที่ร้ายกาจ ช่างอุปมาอุปไมย และมีบทกวีที่ดุดัน ทรงพลัง ในแทบทุกสนามของการต่อเสียงหัวเราะของมวลชน จึงเขย่าขวัญเผด็จการและอำนาจนำอันอยุติธรรมได้อย่างมีพลังเสมอ
 
เมื่อครั้งผม และ อ.จรูญ โดนคดีในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 “ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน” จากการร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”  ทันทีที่ผมโทร.บอกกว่ามีหมายเรียกส่งมาถึง อาจารย์ “เงียบไปพักใหญ่” ผมอดสงสัยไม่ได้นักสู้ผู้ไม่เคยยอมแพ้ ไม่กลัวเกรงใดๆ ถึงออกอาการ “เงียบ” ได้ขนาดนี้ “กลัวภรรยาด่า” อาจารย์บอกอย่างกังวล
 
บรรจง นะแส
 
สนใจกิจกรรมทางสังคมมาตั้งวัยหนุ่ม จากแรงบันดาลใจในการศึกษา และเรียนรู้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการทำกิจกรรมอย่างเข้มข้นในรั้วมหาวิทยาลัย ได้บ่มเพาะอุดมคติ จิตสำนึก อุดมการณ์ทางสังคม และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
 
เมื่อสำเร็จการศึกษา บรรจง นะแส ได้ปณิธานสานต่อทางอุดมการณ์ด้วยการปวารนาทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนกับกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมมาตั้งปี พ.ศ.2524 และทำงานพัฒนาเอกชนต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
 
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ในการยืนหยัดทำงานกับประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม บรรจง นะแส ได้นำแนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม การเสริมอำนาจประชาชนด้วยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน และการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นอำนาจสร้างฐาน และแกนขับเคลื่อน ให้สามารถก้าวข้ามวัฒนธรรมแห่งความเงียบงัน และการสร้าง “จิตสำนึกใหม่” เพื่อการปกป้องฐานทรัพยากร และเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ในท่ามกลางกระแสการพัฒนาในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่แบบทุนนิยม
 
โดยเฉพาะอย่างกับชาวประมงขนาดเล็กทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน หรือที่ บรรจง นะแส นิยามและให้ความหมายว่า “งานพัฒนาคือ การปลดปล่อยพันธนาการ” โดยเครื่องมือสำคัญคือ การสร้างจัดตั้งกลุ่ม และองค์กรชุมชน ให้สามารถขับเคลื่อน และปฏิบัติการทางสังคมทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
 
ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์
 
ในบรรดาทั้ง 3 ท่าน ผมรู้จัก ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ก่อนใครเพื่อน ผ่านทาง พี่สุวิทย์ วัดหนู นักเคลื่อนไหวชื่อดังผู้ล่วงลับ ชาญวิทย์ เป็นนักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา และอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเข้าป่าก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เล็กน้อย ก่อนคืนเมืองในอีก 5 ปีต่อมา เขาเคยบอกว่า “มีช่วงวันที่ดีที่สุดในชีวิตคือ ชีวิตปฏิวัติในป่าเขา”
 
แต่ผมอยากจะกล่าวต่อไปว่า เขามีช่วงวันหลังจากนั้นในการทำให้นักแสวงหา นักอุดมคติ และนักเคลื่อนไหวยุคปัจจุบันจำนวนมากจากทั่วสารทิศ ได้เกิดแรงบันดาลใ จและวันดีๆ มาหล่อเลี้ยงความฝัน และจินตนาการได้อย่างสม่ำเสมอ และเสมอต้นเสมอปลาย
 
ขณะที่ตัวชาญวิทย์ เองก็เสมอต้นเสมอปลายต่อการรับใช้มวลชนของเขา ไม่ว่าจะในบทบาทนักพัฒนาเอกชน ทนายความ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้จัดรายการวิทยุ จึงไม่แปลกใจที่เขาจะเป็นขวัญใจของผู้คนหลายเพศหลายวัย และเรียกขานว่า “จัดตั้งใหญ่อย่างชื่นชม และยินดี (หากจะบ่นเบื่อบ้างก็ตอนทนฟังเขาร้องเพลง55+)
 
กระนั้นด้านหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการยืนหยัด ปักหลัก รักษาอุดมคติที่เป็นไปได้คือ “ความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลง” ทั้งที่เป็นความเชื่อมั่นในการสร้างสังคม-ชุมชนใหม่ ที่ประชาชน คนทุกข์ คนยาก ผู้ถูกกดขี่ในแผ่นดินนี้จะสามารถลืมตาอ้าปาก ลุกขึ้นมาเปล่งเสียงได้อย่างมีศักดิ์ศรี และความเชื่อมั่นในพลัง ศักยภาพ และอำนาจ “ของ” ประชาชนในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง-จัดการตนเอง ปกป้องชุมชนของเขาได้
 
“ความเชื่อมั่น” จะเป็นหัวใจสำคัญของการ “ปลดปล่อยประชาชนออกจากพันธนาการ” ของโครงสร้างอันบิดเบี้ยว แล้วร่วมกันปฏิบัติการสร้างขบวนสังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้ รวมไปถึงการสร้าง “ขบวนการชุมชน” ที่หนุนเนื่องสู่การสร้างทางเลือกใหม่ของการพัฒนา ที่เป็นประชาธิปไตยจากข้างล่าง การสร้างเสมอภาค และเป็นธรรม ให้ความสำคัญยิ่งต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเป็นพลเมืองอันพึงมีพึงได้ในสังคมไทย
 
เป็นที่น่าสนใจว่า ทั้ง อ.จรูญ หยูทอง บรรจง  นะแส และชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ คือผู้ที่มีความสามารถหลากหลาก และรอบด้านมากๆ แต่ที่โดดเด่นมากๆ ในระยะหลังคือ การสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มี “แฟนคลับ” เฝ้าติดตามมากมาย
 
ความโดดเด่นประการหนึ่งอันเป็นจุดร่วมของทั้ง 3 ท่านก็คือ ความรื่นรมย์ ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และการใช้ชีวิต “ปลูกผัก ตกปลา กินหญ้า นินทาภรรยา” (อย่างหลัง อ.จรูญ อาจจะมากกว่าใครเขา)  และความรื่นรมย์ในการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม
 
สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่า จะปฏิบัติการและเคลื่อนไหวอย่างไรให้รื่นรมย์ในอนาคต?!
 
นักอุดมคติทางสังคมต้องมีด้านที่รื่นรมย์ ร่าเริง และตลกขบขัน ไม่ใช่แบกโลก อมทุกข์ ตาขุ่น ขวางหู ขวางตาไปทุกเรื่อง ความรื่นรมย์คือ หนทางแห่งความเรียบง่าย ร่าเริง ผ่อนคลาย มีชีวิตชีวา และ “น่ารัก”
 
ผมอยากจะบอกว่า เมื่อมี อ.จรูญ หยูทอง บรรจง นะแส และชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อยู่เคียงข้าง เราจะไม่รู้สึกเหงา ไม่โดดเดี่ยว มีแรงบันดาลใจและวันดีๆ มาหล่อเลี้ยงความฝัน อุดมคติ จินตนาการ และแรงปรารถนาได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ถือเป็นแรงกระตุ้นเตือนอันสำคัญที่จะบอกกับเราว่า จง “กล้าหาญ เชื่อมั่นต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง”
 
ท้ายที่สุด พูดในสำนวนนักเขียนชื่อดังท่านหนึ่งว่า “ตราบเท่าที่โลก สังคม ชุมชน ยังทุกข์ทรมาน เจ็บปวดจากการถูกกดขี่ และถูกเพิกเฉย ตราบนั้นนักอุดมคติทั้งหลาย ต้องถึงพร้อมต่อการลงมือสร้างเปลี่ยนแปลง”
 
การจัดกิจกรรมในวันนี้ไม่ได้หมายถึงการเสร็จสิ้นภารกิจ หรือพิธีส่งมอบอุดมคติ และ/ หรือภารกิจประวัติศาสตร์ หรือมุ่งยกย่อง เชิดชู แต่อย่างใด แต่คือการแสดงออกอย่างมี “จิตวิญญาณ” และ “การหลอมรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสลัดพันธการอันยืดยาว ฝ่าผ่านคืนวันอันมืดมิดกว่าครั้งไหนๆ ในสังคมไทย-ด้วยกัน”
 
กำลังโหลดความคิดเห็น