ตรัง - “หมอนยางพารา” ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก อ.รัษฎา จ.ตรัง ไปโลด แค่ปีเดียวรายได้ทะลุกว่า 20 ล้านบาท โดยเฉพาะส่งขายตลาดจีน และลาวยังคงสดใส เล็งต่อยอดผลิตที่นอน และหมอนข้างเป็นทางเลือกเพิ่มเติม
วันนี้ (8 พ.ค.) นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้นำคณะเดินทางไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก หมู่ที่ 8 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตหมอนยางพารา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยางพารา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่ายางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ด้วยการเปิดรับซื้อน้ำยางสดวันละไม่ต่ำกว่า 9,000 กิโลกรัม มาแปรรูปเป็นหมอน และที่นอนยางพารา โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก จำนวน 12,250,000 บาท และยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่มีรายได้จากการเย็บปลอกหมอนขายให้แก่สหกรณ์แห่งนี้
นายมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก กล่าวว่า หมอนยางพารา 1 ใบ จะใช้น้ำยางสดในกระบวนการผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม ขายราคาใบละ 450-500 บาท โดยแต่ละวันสามารถผลิตได้ประมาณ 400 ใบ และกำลังต่อยอดผลิตเป็นที่นอนขนาดเล็กความยาว 2 นิ้วครึ่ง ที่นอนเด็กอ่อน และหมอนข้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่กลุ่มลูกค้า ทั้งในและต่างประเทศ
ผลจากการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำยางสดในพื้นที่ไม่ลดลงต่ำกว่า 60-65 บาทต่อ 1 กิโลกรัม แถมยังมีรายได้จากการขายหมอนยางพาราแล้วกว่า 20 ล้านบาท ดังนั้น ทางสหกรณ์จึงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ให้เป็นหมอนชาร์โคล มีทั้งแบบผิวเรียบ และแบบหนามทุเรียน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และเพื่อสุขภาพของลูกค้า จนได้รับการตอบรับ และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ สามารถส่งไปขายยังประเทศจีน และลาวได้มากขึ้น
โดยในปีนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก วางแผนเจาะตลาดแถบยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก เนื่องจากแนวโน้มยังไปได้ดี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ อ.รัษฎา และใกล้เคียงไม่ต้องหวั่นวิตกต่อราคาที่อาจจะตกต่ำในอนาคต
ส่วนปัญหาที่พบคือ ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางพาราได้ หรือในช่วงฤดูกาลปิดกรีด ทำให้ทางสหกรณ์มีน้ำยางสดไม่เพียงพอในการผลิตหมอนยางพารา จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสั่งซื้อมาจากจังหวัดต่างๆ ที่ยังมีน้ำยางสด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการผลิตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ