xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.สภาเด็กฯ “อุปสรรค” ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน / เกรียงไกร คมขำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...เกรียงไกร คมขำ
 
ผู้แทนกลุ่มองค์กรด้านเด็กและเยาวชน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
นับเป็นการครบรอบหนึ่งทศวรรษ ต่อการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้เกิดการรวมตัวของเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มก้อน มีรูปแบบขององค์กรที่ชัดเจน ตำแหน่งคณะกรรมการ บทบาทหน้าที่ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการการกำหนดวาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชน ร่วมนำเสนอวาระเด็กแก่ผู้นำประเทศเพื่อผลักดันในเชิงนโยบาย โครงการกิจกรรม งบประมาณที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ และปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 
นับตั้งแต่มีข่าวออกมาว่าจะมีการปรับโครงสร้าง เปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบ และสาระสำคัญบางมาตราที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องภาคีต่างๆ เริ่มรวมตัวถกประเด็นแลกเปลี่ยน จึงมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ น่าจะเป็นอุปสรรคมากกว่าส่งเสริมตามบริบทที่เป็นอยู่
 
เนื่องจากดูตามสาระสำคัญแล้ว เหมือนเป็นการกีดกันเด็กและเยาวชน กลุ่มองค์กร นักกิจกรรมออกจากสภาเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด
 

 
นายเกรียงไกร คมขำ ผู้แทนกลุ่มองค์กรด้านเด็กและเยาวชน (อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.สงขลา) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ตัวใหม่ออกมาโดยไม่อิงตามสภาพความเป็นจริง มุ่งแต่กลยุทธ์ในเชิงการจัดตั้งให้ครบๆ แต่ไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นว่า สภาเด็กและเยาวชนจะเคลื่อนไปอย่างไร อยากให้ผู้ใหญ่ทบทวนอีกครั้ง อย่าหลงเชื่อแต่นักวิชาการจนลืมฟังเสียงของเด็กและเยาวชน เพราะการกำหนดที่มาของสภาเด็กตำบลต้องมีภูมิลำเนาในตำบลนั้น ส่งผลให้สภาอำเภอต้องมาจากตำบล และสภาจังหวัดต้องมาจากอำเภอ จึงแปลความว่าสภาจังหวัดต้องมาจากตำบลด้วย 
 
จะเห็นได้ว่าทุกขั้นตอนพยายามกีดกันองค์กรด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สถานศึกษา มหาวิทยาลัย เหมือนกับการออก พ.ร.บ.เพื่อให้สภาเด็กและเยาวชนเป็น “ลูกเมียหลวง” ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เราร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเด็กและเยาวนร่วมกันมาตลอด
 
เสมือนกับการ “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” วอนผู้ใหญ่อย่า Double Standard เปิดชงไว้ให้เฉพาะสภาเด็กฯ กทม. อย่าลืมว่าสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ก็มีกลุ่มองค์กรด้านเด็กเหมือนกัน วอนผู้ใหญ่ช่วยเปิดใจกว้าง อย่าตีกรอบการพัฒนาเด็กและเยาวชน
 

 
นายพงศธร บัวทอง ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จ.สงขลา พร้อมยอมรับที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญต่อเด็กและเยาวชน แต่ตนก็เป็นประธานคนหนึ่งที่มาจาก ศอ.ปส.ย. จ.สงขลา ที่ไปเข้าสมัครในนามอำเภอ และมาจังหวัด ซึ่งตนมองว่าสภาเด็กและเยาวชน ควรเป็นของเด็กทุกคน
 
แต่ส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ.ที่ตนไม่เห็นด้วยคือ เรื่องของการยึดโยงเชิงอำนาจ โครงสร้างแบบ Top-Down ซึ่งไม่มีความสอดคล้องต่อวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ และตนมองว่าวงจรชีวิตองค์การสภาเด็กและเยาวชน ที่เกิดขึ้นจะเหมือนกับยักษ์ที่ตัวใหญ่เป็นอัมพาต ยิ่งใหญ่แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะมัวแต่คำนึงอยู่ 2 เรื่องก็คือ เรื่องหมดวาระและเรื่องเลือกตั้งใหม่ หรือเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยากให้พวกเราสภาเด็กและยาวชน ฝึกทักษะการเป็นนักเลือกตั้งมากกว่านักพัฒนากันแน่
 
นายปริญญา บุญชูมณี ประธานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอรัตภูมิ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า ผมเด็กต่างอำเภอมาเรียนในเมือง ก็อยากช่วยงานสภาเด็กและเยาวชนต่อ แต่พอทราบข่าว ก็เหมือนนักกิจกรรมอย่างพวกเราโดนกีดกันโอกาสในการพัฒนาตนเอง และเพื่อนเยาวชน การพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนควรก้าวผ่านอาณาเขตพื้นที่ อย่าออกแบบให้สภาเด็กเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็นของเด็กทุกคน
 
ผมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จึงไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดของผู้ใหญ่ สภาเด็กไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน หากผมจะทำสภาเด็กและเยาวชน จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องแบกรับภาระสภาเด็กและเยาวชนตำบลด้วย “นายกคือใคร” เลือกตั้งประสานใคร เด็กกิจกรรมจะสามารถทำให้คนที่เราไม่รู้จักเชื่อได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่ แล้วกิจกรรมจะเดินอย่างไร วอนผู้ใหญ่ทบทวนแล้วฟังเสียงเด็กอย่างเราที่รักสภาเด็กและเยาวชนด้วย
 

 
นายสุวิทย์ สวัสดิรักษา ประธานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอระโนด กล่าวว่า ตั้งแต่ทราบว่าจะมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน 8,781 แห่งทั่วประเทศ สำหรับตนมองว่า มหากาพย์เรื่องนี้หากมองเชิงกลยุทธ์คนทำงานแล้ว ความสำเร็จถ้าจะนับเชิงปริมาณของการจัดตั้ง คงไม่ปฏิเสธว่าได้ผล แต่หากมองเชิงคุณภาพจะมีสภาเด็กตำบลสักกี่ตำบลที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง เข้มแข็ง แล้วสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้จริง
 
นายคงพันธ์ เชิดบำรุง นายกสมาคมเยาวชนจังหวัดสงขลา (อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า ตนในฐานะสัมผัสสภาเด็กและเยาวชนมาแล้วทุกระดับ เห็นด้วยต่อแนวคิดของเด็กๆ
 
การออกกฎหมายควรออกมาเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ออกมาเพื่อสร้างปัญหาให้แก่เด็กและเยาวชน มิฉะนั้น การพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเจตนารมณ์ของเด็กอาจผิดกฎหมาย ตนเชื่อว่าทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างหวังดี และอยากให้สภาเด็กและเยาวชนออกมาดี ดังนั้น จึงวอนผู้ใหญ่ทบทวนอีกครั้ง
 
สภาเด็กและเยาวชน จึงถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่จะมีบทบาทในเชิงนโยบาย และนับเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศในอนาคต จำเป็นต้องมีแบบแผน และกระบวนการที่ชัดเจนที่จะทำให้เด็กและเยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่จะต้องเข้ามาดูแล รับฟังความคิด ร่วมหาทางออก เพื่อให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น