สตูล - แม่ทัพภาค 4 ลงลุยพื้นที่บุกรุกป่าต้นน้ำเขาบรรทัด จ.สตูล 2.6 พันไร่ถูกบุกรุกปลูกปาล์ม ยันพร้อมเดินหน้าจัดระเบียบทุกผืนป่าให้อยู่ในกรอบกฎหมาย สั่งบริษัทปาล์มไทยพัฒนาฯ ห้ามเข้าดำเนินการใดๆ ระหว่างดำเนินคดี
วันนี้ (5 พ.ค.) พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วย นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายยงยุทธ นาควิโรจน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายประไพย์ศักดิ์ สุขย้อย หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และตัวแทนทางบริษัท ปาล์มไทยพัฒนา ได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนี้ เพื่อเข้าตรวจสอบบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด หมู่ที่ 11 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล เพื่อดูความเสียหายจากการบุกรุกป่าต้นน้ำ 2,600 ไร่ และปลูกปาล์มน้ำมันของบริษัท ปาล์มไทยพัฒนา หลังชุดพญาเสือ ได้เข้าตรวจยึดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมรถแบ็กโฮ 3 คัน และผู้ต้องหา 1 คน ส่งเรื่องดำเนินคดีทางกฎหมายท้องที่ สภ.ควนกาหลง แล้วนั้น พร้อมใช้ ม.40 ของทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ห้ามเข้าดำเนินการใดๆ ในพื้นที่บุกรุกโดยเด็ดขาดในช่วงที่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงการเดินทางมาในครั้งนี้ว่า ต้องการมาดูให้เห็นกับตาว่ามีใครอยู่เหนือกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทุกอย่างก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย ส่วนการจะใช้ ม.44 หรือไม่นั้น คงจะต้องนำเรียนเรื่องนี้เสนอให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง สำหรับแนวทางปฏิบัติด้านทหารยังคงเดินหน้าในการจัดระเบียบปัญหาการบุกรุกผืนป่าให้หมดไป โดยให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในกรอบของกฎหมาย ใครที่อยู่ในกรอบแล้วก็ไม่ต้องกังวล สามารถดำเนินการต่อไปได้เลย ส่วนใครที่อยู่นอกกรอบก็ต้องว่าด้วยกฎหมาย ว่าไปตามผิดให้มาเจอกันตรงกลาง ส่วนคดีนี้ในพื้นที่ที่มีการบุกรุกแล้วก็ต้องให้หยุด เพื่อว่ากันในขั้นตอนของกฎหมาย จะเข้ามาดำเนินการใดๆ ไม่ได้ ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หากกำลังไม่พอสามารถร้องขอสนับสนุนในการออกลาดตระเวนสำรวจผืนป่าเพื่อปกป้องได้เช่นกัน
โดยบริษัท ปาล์มไทยพัฒนา ได้เช่าดินจากผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล ผ่านกรมประชาสงเคราะห์ และกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2518 แรกเริ่มเช่า จำนวน 10,000 ไร่ ต่อมา ทางบริษัทฯ แจ้งว่า ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้จริง เพราะมีประชาชนอาศัยอยู่ ต่อมา ได้เช่าล่าสุดเพียง 8,023 ไร่ โดยเพิ่งต่อสัญญาเมื่อปี 2558 และจะไปหมดอายุในปี 2588 ระยะเวลาในการเช่าแต่ละครั้ง 30 ปี