xs
xsm
sm
md
lg

ชง “มาราปาตานี” ดันวิกฤตโรงไฟฟ้าถ่านหินถ่านหินใต้ขึ้นโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” กับรัฐไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมันโซร์ สาและ นักวิชาการอิสระและปัญญาชนสาธารณะจังหวัดชายแดนใต้
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาคประชาสังคมใต้เตรียมหอบปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลา-ปัตตานี ไปฝากกลุ่มมาราปาตานีให้ชงขึ้นโต๊ะเวทีสันติสุข ว่า เป็นปัญหาแทรกซ้อนในชายแดนภาคใต้

วันนี้ (4 พ.ค.) เครือข่ายพลเมืองสงขลา ร่วมกับนักวิชาการ และภาคประชาชน จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ EHIA และการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก” ณ อาคารวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ท่ามกลางประชาชนผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ประชาชนผู้ให้ความสนใจประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กว่า 300 คน และนักวิชาการร่วมแสดงทัศนะวิพากษ์ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้กล่าวนำการจัดเวทีและร่วมนำวิพากษ์ “ทำไม EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจึงสอบตก” กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำรายงาน EIA/EHIA สอบตก เวลาเราเป็นนักศึกษาเราสอบตกก็กลุ้มใจมาก ที่นี้รัฐบาลสอบตกคนทั้งประเทศก็กลุ้มใจ

ตนมีข้อเสนอแนะที่ตนเองคิดว่าจะไม่ทำให้รายงาน EIA/EHIA สอบตก คือ ภาครัฐ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับฟังล่วงหน้าก่อนแผนก่อสร้าง อย่าฟันธง ถ้าฟันธงก็ไม่มีทางเลือกให้คนเห็นแตกต่าง ความขัดแย้งยังเป็นเรื่องบวก ถ้ารู้แล้วแก้ไขเพื่อความรอบคอบอยู่ร่วมกัน ใช้วิธีการแก้อย่างสันติ รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายให้มากที่สุด และข้าราชการในพื้นที่ต้องเป็นกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่เพิกเฉย หรือกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
 

 
รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าเวทีแสดงความคิดเห็น หรือ ค.1 ตามระเบียบกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การสำรวจความคิดเห็น ประชุมปรึกษาหารือ หรือการทำประชาพิจารณ์

อยากจะให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่าเวที ค.1 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 ที่สำนักงาน อบต.ปากบาง ผ่านหรือว่าสอบตก ในการประชุมมีคนเข้าถึงประมาณ 3,000 คน มีการแจกยาสามัญประจำบ้าน น้ำยาล้างจาน ลองกอง 2,000 กิโล ข้าวสาร 5,000 กิโล และค่าเดินทาง 500 บาท ปรากฏว่า เมื่อรับของเสร็จผู้เข้าร่วมก็กลับหมด ผมในฐานะเป็นอาจารย์ผมคิดว่าให้ EHIA ตกกระบวนการการรับฟังความเห็น

รศ.ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า ข้าราชการต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่เรื่องคุณธรรมของราชการ โดยเฉพาะความเป็นกลางการเมืองเพราะมีความสำคัญมาก ตนมองว่าเวลาเจอปัญหาต้องมีทางออก เช่น กรณีการต่อต้านว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะสม ควรศึกษาและหาทางเลือกอื่นๆ เช่น โซลาร์เซลล์ เป็นต้น

อาจารย์เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ส่วนตัวมีความถนัดด้านทรัพยากรชีวภาพ พบเนื้อหาด้านทรัพยากรชีวภาพ 10 เปอร์เซ็นต์ในรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่กลับพบความผิดปกติ กล่าวคือ สิ่งที่มีอยู่ในรายงานไม่ได้ปรากฏอยู่ในสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ สัตว์น้ำ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

“ข้อสังเกตตามที่ปรากฏในรายงานที่จัดทำโดยบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด มีระยะเวลาการจัดทำเพียง 9 เดือน ในการเก็บข้อมูลที่ไม่ถึง 1 ปี จะทำให้เกิดความผิดพลาดไปจากสภาพแวดล้อม และพื้นที่จริง เพราะสิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนภายในระยะเวลา 1 ปี” อาจารย์เกื้อ กล่าวเพิ่มเติม
 

  
ด้าน ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองมิติด้านเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 เรื่องด้วยกัน คือ สิ่งที่ไม่เป็นตัวเงิน และการมองระยะยาว เพราะตนมองว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขาดมุมมองในเรื่องนี้จึงทำให้ขาดคุณค่าไป

ตนมองว่าตอนนี้เรากำลังทำสิ่งที่ขัดแย้งกัน รายงาน EHIA มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ขาดชุดข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ที่มาของโครงการโรงไฟฟ้ถ่านหินมาจากพลังงานไม่เพียงพอ ภาครัฐยืนยันว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ต้องการโรงไฟฟ้า แต่ประชาชนต้องการทางเลือก ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ถ่านหิน 

“ภาครัฐยังขาดการเปรียบเทียบความคุ้มค่า ไม่ได้มีการศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้มีความผิดพลาด ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยเอางบประมาณไปทำสิ่งสกปรก (ถ่านหิน) ให้สะอาด แทนการใช้พลังงานทางเลือก” ดร.สินาด กล่าวเพิ่มเติม

นายมันโซร์ สาและ นักวิชาการอิสระ และปัญญาชนสาธารณะจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา และปานาเระ ให้นำเสนอข้อสรุป และประเด็นปัญหาไปพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานีในเวทีพูดคุยสันติสุขวันที่ 15 พ.ค.นี้ ระหว่างกลุ่มมาราปัตตานี กับตัวแทนภาครัฐของไทย ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตนจะเดินทางไปกับคณะ ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 

 
นอกจากนี้ สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ EHIA และการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก” ยังมีนักวิชาการร่วมแสดงทัศนะวิพากษ์ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอีกมากมาย เช่น ดร.นริศ ดวงสุวรรณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นต้น

ภาคบ่ายวันเดียวกันนี้ เครือข่ายพลเมืองสงขลา นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาชนมีกิจกรรมมอบดอกไม้ และพร้อมเพลงเพื่อให้กำลังใจนักสู้แก่ นายไกลวุฒิ ชูสกุล และนายปฏิหาริย์ บุรัตน์ กรณีมีหมายกิจเรียกรายงานตัวข้อหา ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน กรณีคัดค้านเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล
 
กำลังโหลดความคิดเห็น