ตรัง - ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน สำรวจพะยูนล่าสุดในทะเลตรัง ยังเหลือราวๆ 170 ตัว หรือเหลือทั่วทุกน่านน้ำไทยเพียง 200 ตัว ขณะที่ยอดตายเฉลี่ยปีละ 8 ตัว
วันนี้ (4 พ.ค.) ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมคณะ ได้ทำการบินสำรวจพะยูนในท้องทะเลอันดามัน โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง และเกาะมุก แหล่งอาศัยที่สำคัญที่สุดในทะเลตรัง รวมทั้งสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเล อาหารของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักวิชาการประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทดลองนำหุ่นยนต์สำรวจทางอากาศ หรือโดรนมาใช้ จากที่ในปีก่อนๆ จะใช้เครื่องบินเล็ก และพารามอเตอร์เป็นหลัก
ทั้งนี้ ผลการสำรวจพะยูนในทะเลตรัง โดยเบื้องต้นพบว่า ช่วงระหว่างปี 2541-2553 มีพะยูนเฉลี่ยประมาณปีละ 200 ตัว จากนั้นในปี 2554 ลดลงเหลือ 150 ตัว และเหลือน้อยที่สุดในปี 2556 คือ 125 ตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2557 พะยูนก็เริ่มกลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 มี 160 ตัว และล่าสุด ปี 2560 มี 169 ตัว ขณะที่อัตราการตายของพะยูน ช่วงระหว่างปี 2541-2553 ตายไปรวมประมาณ 63 ตัว หรือเฉลี่ยปีละ 5.26 ตัว แต่เมื่อถึงปี 2555 พะยูนได้ตายเพิ่มขึ้นเป็น 13 ตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2556 พะยูนก็กลับมาตายลดลงเหลือปีละ 6-8 ตัว โดยในปี 2558 และ 2559 มีอัตราการตายเท่ากัน คือ ปีละ 8 ตัว
สำหรับสถานการณ์พะยูนโดยภาพรวมของประเทศไทยล่าสุดนั้น คาดว่าจะมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 200 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน โดยมีจำนวนมากที่สุดในจังหวัดตรัง ประมาณ 150-160 ตัว ตามมาด้วยจังหวัดกระบี่ 20 ตัว จังหวัดพังงา 10 ตัว และจังหวัดสตูล 5 ตัว ส่วนทะเลฝั่งอ่าวไทย พบพะยูนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 10 ตัว และจังหวัดปัตตานี 5 ตัว รวมทั้งจังหวัดแถบภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ถึงจังหวัดตราด ประมาณ 10 ตัว ทั้งนี้ แม้จากข้อมูลจะพบว่าพะยูนมีจำนวนเพิ่มขึ้น และตายลดลง แต่ก็ยังต้องติดตามดูแล และอนุรักษ์กันอย่างต่อเนื่อง