xs
xsm
sm
md
lg

“อัปยศ” อีกแล้ว! เมื่อชาวสวนยางต้องใช้ปุ๋ยแพงกว่าชาวบ้านกระสอบละ 10 บาท! / ศิวะ ศรีชาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
ศิวะ ศรีชาย
แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
การยางแห่งประเทศประเทศไทย (กยท.) ได้พยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการในการดำเนินงานจัดหาปุ๋ยบำรุงให้เกษตรกรผู้ได้รับการปลูกแทน ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ กยท.ประมาณการปริมาณปุ๋ยที่ใช้ในสวนปลูกแทนปีงบประมาณ 2560 ไว้ที่จำนวนปุ๋ยเคมี 80,000 ตัน และปุ๋ยอินทรีย์ 100,000 ตัน
 
โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2560) กยท.ประกาศกำหนดเปิดประมูล 1.ปุ๋ยเคมี จำนวน 34,724.20 ตัน 2.ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 30,000 ตัน ด้วยวิธีการประมูลทางอีเล็กทรอนิกส์
 
ในการเปิดประมูลซื้อปุ๋ยในปี 2560 ที่ผ่านมาในไตรมาส 1 และ 2 กยท.ใช้วิธีการให้สถาบันเกษตรกร และเกษตรกรเจ้าของสวนยางเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเอง แต่ในไตรมาสที่ 3 ได้มีการเปลี่ยนแปลง กยท.ได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อหารายได้มาเป็นค่าบริหาร กยท. ซึ่งติดลบประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี
 
โครงการดำเนินการจัดหาปุ๋ยบำรุงให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จึงถูกกำหนดให้เป็นภารกิจแรกเพื่อหารายได้ของ BU โดย กยท. โดยมีเป้าหมายกำไรจากค่าดำเนินการกิโลกรัมละ 20 สตางค์ กระสอบละ 10 บาท หรือตันละ 200 บาท และคาดหวังว่า BU จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ กยท.ถึง 12.9 ล้านบาท
 
โดยยึดหลักสำคัญที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย คือ 1.บริษัทมีความมั่นใจเรื่องการชำระเงิน สามารถขายสินค้าในปริมาณมากได้ 2.เกษตรกรได้สินค้ามาตรฐานในราคาถูกกว่าท้องตลาด 3.หน่วยธุรกิจ (BU) ได้กำไรจากค่าการจัดการ
 
การเริ่มต้นธุรกิจแรกที่พลาดเป้าหมาย การประกาศเปิดประมูลซื้อปุ๋ยเคมี จำนวน 34,724.20 ตัน และปุ๋ยอินทรีย์ 30,000 ตัน รวมมูลค่าประมาณ 556 ล้านบาท ซึ่งจะทำกำไรจากค่าดำเนินการให้กับ กยท. 12.9 ล้านบาท พลาดเป้าหมาย เพราะ...
 

 
การประกาศขายซองประกวดราคาในเวลากระชั้นชิด และน้อยเกินไป กยท.ประกาศกำหนดขายซองประกวดราคาในวันที่ 30 มีนาคม โดยกำหนดขายซองระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2560 รวม 5 วัน ซึ่ง 2 ใน 5 วันนั้นเป็นวันเสาร์-อาทิตย์
 
ระเบียบกำหนดให้ประกาศขายซองอย่างน้อย 3-90 วัน กยท.เลือกที่จะขายซอง 3 วันทำการ และในวันแรกของการขายซองเป็นวันเดียวกันกับวันที่ประกาศ วันที่ 2 ของการขายซองได้มีการประกาศแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้ายื่นราคาประมูล วันที่ 3 และ 4 ของการขายซองประมูลเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ วันที่ 5 วันสุดท้ายของการขายซองประมูลเป็นวันปิดการขายซองประมูล
 
ผู้สนใจ และผ่านคุณสมบัติน้อยราย การประมูลปุ๋ยที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 556 ล้านบาท แต่มีระยะเวลาประกาศขายซองเพียง 5 วัน ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม ถึงวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2560 โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลปุ๋ยเคมี 5 ราย และปุ๋ยอินทรีย์ 6 ราย
 
เมื่อดำเนินการเปิดซองเสนอราคา และสรุปผลการประมูลซื้อปุ๋ย ของ กยท.ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง ปรากฏว่าเป็นราคาที่แพงกว่าท้องตลาด และสูงกว่าราคาในพื้นที่อื่นๆ ที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานอื่นของ กยท.
 
โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ราคาโดยทั่วไปประมาณไม่เกินตันละ 3,000 บาท รวมค่าขนส่งภาคตะวันออก ประมาณ 300 บาท/ตัน ภาคใต้ตอนบนประมาณ 500 บาท/ตัน ภาคใต้ตอนกลางประมาณ 800 บาท/ตัน และภาคใต้ตอนล่าง ประมาณ 1,200 บาท/ตัน แต่ กยท.ดำเนินการประมูลได้ในราคาตันละ 4,900 บาทขึ้นไป
 
แถมทั้งหมดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ผง เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ปุ๋ยอินทรีย์ผงจะมีการฟุ้งกระจาย ไม่สะดวกในเวลาใส่ นำไปใช้ เกษตรกรไม่นิยมใช้ 
 
การประมูลปุ๋ยอินทรีย์ไม่มีการระบุว่า เป็นปุ๋ยอินทรีย์ประเภทใด ระบุไว้เพียงว่าไม่เป็นปุ๋ยอินทรีย์เหลว ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้
 
บทส่งท้ายคือ ค่าบริหารจัดการของหน่วยธุรกิจ (BU) เป็นการมัดมือชกชาวสวนยางหรือเปล่า ?
 

 
--------------------------------------------------------------------------------
 
หมายเหตุ : ค่าดำเนินการ ค่าบริหารจัดการ รวมค่าขนส่ง+กำไร ในปีก่อนๆ จะซ่อนอยู่ในรายได้ของสหกรณ์, กลุ่มเกษตรกร, สถาบันเกษตรกรต่างๆ โดยมี สกย.เป็นผู้กำหนดบทบาท และชักใยอยู่เบื้องหลัง ร่วมกับบริษัทค้าปุ๋ย
 

กำลังโหลดความคิดเห็น