พัทลุง - กลุ่มแม่บ้านบ้านชุมพล อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เกิดแนวคิดใหม่ใช้ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาผสมกับอาหารสูตรเดิมเกิดเป็น “ปลาดุกร้าสมุนไพร” จำหน่ายสร้างรายได้เสริม
วันนี้ (24 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ปลาร้า” ถือเป็นภูมิปัญญาอาหารไทยที่ใครหลายคนคงเคยลิ้มลองมาไม่มากก็น้อย ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญในบ้านเรานั้นอยู่ที่ภาคอีสาน ส่วน “ปลาดุกร้า” เป็นภูมิปัญญาอาหารไทยอันโดดเด่นที่มีผลิตกันในบางจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุงนั้น ถือเป็นแหล่งผลิตปลาดุกร้าสำคัญ สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละหลายล้านบาท ให้แก่กลุ่มแม่บ้านที่รวมกลุ่มกันผลิตขายเป็นรายได้เสริม และรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว
ปลาดุกร้า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารของชาวใต้ที่มีมาแต่โบราณนับ 100 ปี โดยเดิมนั้นชาวบ้านจะนำปลาดุกธรรมชาติจากทะเลน้อยมาทำเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันปลาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปลาดุกร้าจะเป็นปลาดุกเลี้ยง เนื่องจากปลาในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของท้องตลาด
ปลาดุกร้า มีลักษณะคล้ายปลาเค็ม แต่มีรสชาติเฉพาะตัวที่แตกต่างคือ มีรสเค็มปนหวาน และมีกลิ่นหมัก เมื่อนำไปทอด หรือย่างปลาดุกร้าจะมีกลิ่นหอมชวนกิน ยิ่งบีบมะนาวกินกับเครื่องเคียงอย่างพริก หอมซอย จะยิ่งเพิ่มรสชาติของปลาดุกร้าให้อร่อยยิ่งขึ้น
สำหรับการทำปลาดุกร้า แต่ละพื้นที่จะมีกระบวนการผลิตหลักคล้ายกัน แตกต่างในรายละเอียดส่วนผสม รวมถึงสูตรการผลิตที่เป็นสูตรใครสูตรมัน โดยวิธีทำ ขั้นตอนหลักในการทำปลาดุกร้า เริ่มจากการคัดปลาดุกสดขนาดตัวเหมาะสมนำมาตัดหัว เอาเครื่องใน ไส้ และไขมันในช่องท้องออก ล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ตัวแห้งหมาดๆ จากนั้นผสมเกลือ น้ำตาล ตามสัดส่วนสูตรใครสูตรมัน คลุกตัวปลา และยัดใส่ท้องปลา แล้วนำไปหมักในโอ่ง หรือภาชนะที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแดด หรือมีกลิ่นรสตามต้องการ
อย่างปลาดุกร้ากลุ่มแม่บ้านบ้านชุมพล ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 241 หมู่ 1 ต.ชุมพล อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง อีกหนึ่งกลุ่มที่ผู้สูงอายุในหมู่บ้านใช้เวลาว่างรวมกลุ่มกันทำปลาดุกร้า สร้างรายได้เสริมจากรายได้ผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท จากรัฐบาล มารวมกลุ่มทำปลาดุกร้าสูตรสมุนไพรจำหน่ายสร้างรายได้
ด้าน นางเพียงเพ็ญ คงแสง ประธานกลุ่มปลาดุกร้าชุมพล กล่าวว่า การทำปลาดุกร้าของกลุ่มขั้นตอนการผลิต และสูตรในการทำแตกต่างไปจากกลุ่มอื่น เนื่องจากเกิดแนวคิดพัฒนาต่อยอดโดยใช้ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานเพิ่มเติมเป็นนวัตกรรมใหม่ ด้วยในพื้นที่อำเภอศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ป่าเขา และเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเงาะป่าซาไก มีภูมิปัญญาด้านยาสมุนไพร มีสูตรยาสมุนไพรรักษาโรค และบำรุงร่างกายหลายสูตร เช่น แก้เบาหวาน บำรุงเลือด บำรุงกำลัง เป็นต้น จึงเกิดแนวคิดในการใช้สรรพคุณจากตัวยาดังกล่าวให้ผสมผสานกบนอาหารที่รับประทานประจำวัน โดยการใช้น้ำสมุนไพรดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการหมักปลาดุก ก็จะได้สรรพคุณทางยาผสมอยู่ในอาหารด้วย