xs
xsm
sm
md
lg

ตร.สุราษฎร์ฯ บุกจับสมาชิกพีมูฟ 8 คน ไม่มีเงินประกันตัว นอนคุกข้อหาอั้งยี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - ตำรวจสุราษฎร์ฯ จับสมาชิกพีมูฟ 8 คน ตั้งข้อหาอั้งยี่ ไม่มีเงินประกันตัว ถูกขังคุก 6 คน พีมูฟจี้รัฐบาลทำตามข้อตกลง-ยุติคดี ตั้งข้อสังเกตจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คาดว่าจะจับเพิ่มอีก

นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 22 เม.ย. 2560 สมาชิก สกต. ในพื้นที่ชุมชนน้ำแดง ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไป 8 คน และจะมีการจับกุมอีกเพิ่มเติม โดยไม่ได้มีหมายเรียกก่อนเข้ามาจับกุม

หลังจากจับกุมได้มีการแจ้งข้อหา 3 ข้อหา ได้แก่ 1.บุกรุก 2.ลักทรัพย์ 3.ซ่องโจร โดยในวันแรกตั้งวงเงินประกันตัวข้อหาละ 90,000 บาท รวม 3 ข้อหาเป็นเงินคนละ 270,000 บาท หลังจากนั้น วันต่อมาได้เพิ่มวงเงินประกันตัวเป็นข้อหาละ 200,000 บาท รวม 3 ข้อหา เป็นเงินคนละ 600,000 บาท ชาวบ้านมีฐานะยากจน ไม่มีความสามารถหาเงินมาประกันตัว ศาลฝากขังที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 6 คน  ส่วนผู้ถูกจับกุมอีก 2 คน ได้รับการประกันตัว โดยได้ยืมเงินของญาติมาเช่าหลักทรัพย์ 

“ตำรวจไม่ได้มีหมายเรียก เข้ามาจับกุมในชุมชนเลย เจ้าตัวไม่ได้รู้ล่วงหน้าว่าจะถูกจับ ต้องถูกขังคุก ไม่มีโอกาสยื่นขอประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม เขามองชาวบ้านเป็นอะไร ทำผิดอะไรร้ายแรงหรือ เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน และวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่การสลายชุมชนในอนาคต ทำไมชาวบ้านถูกคดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นซ่องโจร ทั้งๆ ที่เปิดเผยตัวมาโดยตลอด มีการเจรจา มีกลไกแก้ปัญหากับรัฐมาหลายชุด มีการดำเนินตามนโยบายรัฐมาโดยตลอด”

นายธีรเนตร กล่าวว่า ชุมชนดังกล่าวเดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน ต่อมา นายทุนสิงคโปร์ได้มากว้านซื้อที่ดิน และเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์มน้ำมัน มีการออกเอกสารสิทธิบางส่วน หลังจากนั้น พ.ศ.2531 บริษัทประสบปัญหาล้มละลาย กลายเป็นที่ดิน NPL และทิ้งร้างไป ต่อมา พ.ศ.2551 เกษตรกรไร้ที่ดินได้รวมกลุ่มกันเข้าไปใช้ประโยชน์ เปลี่ยนจากสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย โดยเป็นสมาชิกของ สกต. และพีมูฟ

นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า พีมูฟ มีข้อตกลงกับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาประชุมกับพีมูฟ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2560 มีข้อตกลงว่าจะมีการสั่งการให้ชะลอการดำเนินการที่สร้างผลกระทบไว้ก่อน แต่ตำรวจสุราษฎร์ธานี ตำรวจภูธรภาค 8 กลับนำหมายจับไปจับกุมสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิบางส่วนในพื้นที่ พบว่า มีข้อสงสัยหลายประการ อาจมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ

“ตำรวจไม่ได้ออกหมายเรียกสมาชิก 8 คน ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาก่อนจับกุม ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังจากจับกุมแล้วได้แจ้งข้อกล่าวหาอั้งยี่ ซึ่งมีโทษรุนแรง ทั้งที่ชุมชนน้ำแดง มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ พ.ศ.2551 โดยสงบ เปิดเผย ไม่ได้มีการใช้กำลังคุกคามใคร และตั้งข้อสังเกตว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งให้สมาชิกรับโทษรุนแรง ปิดโอกาสประกันตัวต่อสู้คดี” นายประยงค์ กล่าว

ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า พีมูฟขอเรียกร้องให้ รมต.ออมสิน ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล สั่งการให้ตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจสุราษฎร์ธานี ยุติการดำเนินคดีต่อสมาชิกพีมูฟโดยทันที และขอให้มีการสั่งการให้กองทุนยุติธรรมอนุมัติกองทุนเพื่อประกันตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดให้ได้มีโอกาสต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

สำหรับชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งอยู่ ม.9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เดิมเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน 4 หมู่บ้าน ต่อมา พ.ศ.2520 ได้มีนายทุนชาวสิงคโปร์ร่วมกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเพียงไร่ละ 100-200 บาท มีการเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์ม จำนวน 2,545 ไร่ โดยมีการออกเอกสารสิทธิบางส่วน และจดทะเบียนในนาม บริษัทสากลทรัพยากร จำกัด ต่อมา ในปี พ.ศ.2531 บริษัทสากลทรัพยากร จำกัด ประสบปัญหาภาวะหนี้สิน จนถูกฟ้องล้มละลาย กลายเป็นที่ดิน NPL ถูกปล่อยทิ้งร้าง

พ.ศ.2551 เกษตรกรไร้ที่ดินได้รวมกลุ่มกันเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เปลี่ยนจากสวนปาล์มทิ้งร้าง เป็นที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของคนจน โดยเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2552 สกต. ได้มีการร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว ผลการตรวจสอบที่ดินส่วนหนึ่งพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินมิชอบ ไม่ได้มีร่องรอยการใช้ประโยชน์ในที่ดินในช่วงปี พ.ศ.2497-2505 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีที่ดินที่ถูกทิ้งร้าง และที่ดินที่หมดสัญญาเช่าจำนวนมาก โดยใน พ.ศ.2546 ภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน พบว่า รัฐเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งไทย และต่างชาติเช่าที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยใน พ.ศ.2546 มีพื้นที่หมดสัญญาเช่าประมาณ 70,000 ไร่ ในขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากไร้ที่ดินทำกิน

แม้รัฐบาลมีมติ ครม. วันที่ 26 ส.ค.46 ให้เร่งรัดสำรวจพื้นที่ทั้งที่หมดอายุและยังไม่หมดอายุการอนุญาต และนำมาจัดระเบียบการอนุญาตได้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้ไม่มีการนำที่ดินหมดสัญญาเช่า และที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมาจัดสรรให้คนจน
กำลังโหลดความคิดเห็น