สตูล - ชาวบ้านใน ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล เริ่มตื่นตัวช่วยกันคัดแยกขยะผ่าน “บ้านขยะอันตราย” โดยทำเป็นชุมชนนำร่อง หลังท้องถิ่นได้ให้ความรู้ถึงพิษภัย และอันตรายที่ปนเปื้อนมากับขยะเหล่านี้
วันนี้ (22 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาขยะได้ทำให้หลายท้องถิ่นเริ่มขยับ ซึ่งถือว่าเป็นวาระสำคัญในการบริหาร เช่น ที่ชุมชนตำบลฉลุง อ.เมือง จ.สตูล ตื่นตัวในการจัดการขยะอันตราย และขณะที่มีสารพิษมากยิ่งขึ้น หลังท้องถิ่นได้ให้ความรู้ถึงพิษภัย และอันตรายที่ปนเปื้อนมากับขยะเหล่านี้ หากไม่มีการจัดการแยกขยะอันตรายออกจากชุมชนที่อาจจะทิ้งมลพิษทางน้ำ ทางสิ่งแวดล้อมในชุมชน และท้องถิ่นได้
นายอภิศักดิ์ แดงตี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านโต๊ะวัง ต.ฉลุง ยอมรับว่า นับวันขยะอันตรายและขยะที่มีสารพิษปนเปื้อน จะมีปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขยะจากหลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอร์รี่โทรศัพท์ และสเปรย์ เป็นต้น หลังจากชาวบ้านได้รับความรู้ถึงพิษภัยของขยะเหล่านี้ หากไม่มีการจัดเก็บหรือคัดแยกออก จะส่งผลเสียในระยะยาว ทำให้ชาวบ้านในชุมชนตำบลฉลุง มีการตื่นตัวในการออกมาคัดแยกขยะมากยิ่งขึ้น หลังทางท้องถิ่น อบต.ฉลุง ได้จัดที่ออกบริการถึงบ้านเรือนในการคัดแยกขยะสารพิษ
นายภูษิต สายกิ้มซ้วน ปลัด อบต.ฉลุง กล่าวว่า นายชนะ ยากะจิ นายกฯ อบต.ฉลุง พร้อมด้วย นายรัตนชัย กาหนุง รองนายกฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของขยะอันตราย จึงได้เปิดโครงการ “ฉลุงน่าอยู่อย่างยั่งยืน” (ฉลุงร่วมใจขจัดสิ้นขยะอันตราย ชุมชนปลอดมลพิษ) โดยจะเน้นให้ความรู้ชาวบ้านในชุมชนให้เกิดความรู้เรื่องพิษภัย และการบริหารจัดการขยะ เรื่องขยะอันตราย และการคัดแยกขยะ เพื่อการจัดเก็บที่ถูกต้องให้ตำบลน่าอยู่โดยถังขยะที่ใช้ในการจัดเก็บ โดยทาง อบต.ได้จัดงบประมาณในการทำบ้านขยะอันตราย คัดแยกลงไปตามหมู่บ้านนำร่อง จำนวน 28 หลัง โดยการออกแนวคิดการสร้างบ้านถังขยะสารพิษ แบ่งจ่ายหมู่บ้านละ 2 หลัง
โดยเป็นบ้านมี 4 ห้อง แบ่งเป็น 3 ชั้น และห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง ได้แก่ ห้องกระป๋องสีสเปรย์ ห้องถ่านไฟฉาย ห้องแบตเตอรี่โทรศัพท์ และห้องใหญ่คือห้องหลอดไฟฟ้า โดยเป็นแนวคิดของผู้บริหารที่ต้องการเน้นให้ในชุมชนรู้จักขยะที่มีอันตราย และขยะทั่วไป เป็นการปลุกจิตสำนักให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ก่อนไปในสังคมใหญ่ๆ
นายอาลี ยะฝา ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะสารพิษในปัจจุบันพบมาก ทั้งหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย และแบตเตอรี่โทรศัพท์ที่พังชำรุด เพราะคนในปัจจุบันมีความมักง่ายอย่างมาก ทิ้งได้ที่ไหนก็ทิ้ง ดังนั้น ทาง อบต.ฉลุง จึงมีแนวคิดสร้างสรรค์ประยุกต์บ้านเรือนขยะที่ใส่พวกขยะสารพิษเท่านั้น
อบต.ฉลุง มี 14 หมู่บ้าน โดยจะแบ่งบ้านเรือนถังขยะสารพิษลงหมู่บ้านละ 2 จุด เพื่อให้ประชาชนได้ทิ้งขยะได้ โดยไม่ต้องนำมาร่วมกับถังขยะในปัจจุบันนี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของ อบต.ไปเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และจะตั้งใกล้สถานที่ดูแลของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้นๆ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาบ้านเรือนขยะสารพิษเหล่านี้ ซึ่งถังขยะจะได้ทยอยลงสู่ชุมชนต่อไป สำหรับขยะที่จัดเก็บได้จะรวบรวมส่ง อบจ. ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมในการส่งขยะไปทำลายที่กรุงเทพฯ ต่อไป