คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
--------------------------------------------------------------------------------
“เขียดจิก” “เขียดเขียว” “เขียดบัว” หรือ “กบบัว” (อังกฤษ : Green paddy frog, Red-eared frog, Leaf frog, Common green frog ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hylarana erythraea) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็กชนิดหนึ่งในวงศ์กบนา (Ranidae) กระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
พบได้ทุกภาคในประเทศไทย มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีกอพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เช่น บัว ผักตบ จอกแหน เป็นต้น
หากินในเวลากลางคืน มีความว่องไวมาก เมื่อเป็นลูกอ๊อดมีนิสัยการกินอาหารแบบผู้ล่า และมีพฤติกรรมล่าเหยื่อที่อยู่ในน้ำ
เมื่อตัวเต็มวัย ด้านหลัง และด้านข้างลำตัวจะมีสีเขียว ขอบด้านล่างของด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดสีเข้มกระจายอยู่ที่ด้านข้างลำตัว กับบนหลังทางส่วนท้ายของลำตัว ขอบปากบนสีขาว ด้านท้องสีขาว แผ่นเยื่อแก้วหูสีน้ำตาล ขาหน้าและขาหลังสีน้ำตาล และมีแถบสีเข้มพาดตามความยาวของขา
ขาหน้าเรียว และนิ้วตีนยาว ขาหลังเรียวยาว และนิ้วตีนยาว เมื่อพับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้า ข้อตีนอยู่ในตำแหน่งช่องเปิดจมูก นิ้วตีนหน้าไม่มีแผ่นหนังระหว่างนิ้ว นิ้วตีนหลังมีแผ่นหนังเกือบเต็มความยาวนิ้ว
มีขนาดจากปลายปากถึงรูก้นประมาณ 70 มิลลิเมตร ลำตัวเรียว ผิวหนังลำตัวเรียบ มีแผ่นหนังหนา สีขาว หรือสีครีม ขอบสีน้ำตาลเข้มค่อนข้างกว้างอยู่ที่ขอบด้านนอกลำตัว แผ่นหนังนี้เริ่มต้นจากด้านท้ายตาไปที่ส่วนต้นขาหลัง
มีเสียงร้อง “จิ๊กๆๆๆๆๆ...” ประกอบกับมักหลบซ่อนอยู่ตามกอบัว จึงเป็นที่มาของชื่อ “เขียดจิก” หรือ “กบบัว”
ครับหากพฤติกรรมของเสียงร้อง และที่อยู่อาศัยเป็นตัวกำหนดชื่อ
ด้วยความเคารพ หากเราท่านใช้กบมา “เหลาชีวิต” ก็จะไม่เป็นกบที่อยู่พื้นที่เล็กๆ ในกะลาที่มีแต่ความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญน้อยในกรอบแคบๆ และเมื่อก้าวอออกไปจากกะลา เผชิญโลกกว้าง ชีวิตก็จะได้ก้าวกระโดดไม่ลำบากนะขอรับ
--------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
- https://th.wikipedia.org/wiki/เขียดจิก