xs
xsm
sm
md
lg

“สองล้อรักษ์บ้านเกิด” บทบาทนักอนุรักษ์วัยโจ๋ เมื่อเยาวนชนรับไม่ได้ที่ผู้ใหญ่โกหก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
รายงานพิเศษ...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

ผู้มีอำนาจที่ชอบประกาศว่ารักชาติ รักประชาชน มุ่งปกป้องทรัพยากรเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ และประชาชน น่าจะนอนตายตาหลับ ถ้าได้เห็นภาพ และรับรู้เรื่องราวความเป็นมาของเยาวชนในกลุ่ม “ส้องล้อรักษ์บ้านเกิด” แห่ง อ.ละงู จ.สตูล จากเดิมที่เป็นเด็กแว้นขี่จักรยานยนต์สร้างความรำคาญไปวันๆ จู่ๆ กลับหันมาทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใน จ.สตูล บ้านเกิด ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ทั้งบนบก และทะเลถูกประกาศเป็นเขตสงวนที่ต้องช่วยกันปกป้องรักษาให้อยู่คู่กับประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลังสืบไป

“ไม่นึกว่ากลุ่มเยาวชนจะมีความตื่นตัวต่อกิจกรรมของกลุ่มอย่างเป็นวงกว้าง และเพิ่มขยายในทุกๆ วัน กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ก่อตั้งมาเพื่อแสดงบทบาทของเด็กที่ไม่เอาไหน เด็กที่สังคมไม่ค่อยจะยอมรับสักเท่าไหร่ จากเด็กที่ขับรถเร็วบ้าง ท่อดังบ้าง ยกล้อบ้าง เปลี่ยนมุมจากภาพเดิมๆ ที่สังคมเคยมอง มาเป็นเด็กแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เด็กรักบ้านเกิด จากที่สังคมเคยมองว่าเด็กไม่สามารถทำอะไรๆ ในสังคมได้ ทุกอย่างต้องมาจากแนวความคิดของผู้ใหญ่เสมอ จนมาถึงวันนี้พวกเรากลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็นว่า พวกเรากลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ทำได้ และก็จะทำต่อๆ ไปจากรุ่นสู่รุ่น”

อานนท์ จวนใหม่ ผู้ประสานงสานกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด บอกว่า คาดไม่ถึงต่อการตื่นตัวของเยาวชนในพื้นที่ต่อกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม จากที่ก่อนหน้านี้ เด็กๆ และเยาวชนในกลุ่มสองล้อรักบ้านเกิด ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากนัก แต่ตอนนี้กลับมามีบทบาทหลักในการกำหนดอนาคต และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นบทบาทของผู้ใหญ่เสียเป็นส่วนมาก
 

 
เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 16 มีนาคม 2560 นั้น เจ้าหน้าที่ข่าวกรองหลายหน่วยงานที่ถูกสั่งให้มาแทรกซึม และติดตามความเคลื่อนไหวเครือข่ายประชาชน ติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล น่าจะนำเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่า เยาวชนเกือบ 300 คนที่ขี่รถจักรยานยนต์ไปแสดงออกที่สถานที่จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1 (เวที ค.1) ที่โรงเรียนบ้านปากบาง ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล ไม่ได้เป็นเยาวชนที่ถูกหลอก และรับจ้างใครมา

แต่ทั้งหมดเป็นเยาวชนในพื้นที่ที่มีความสนใจติดตามข้อมูล และความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนาจังหวัดสตูล มาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีมาแล้ว โดยร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนจากหลากหลายวงการที่มีอุดมการณ์เดียวกันต่อทิศทางการพัฒนาประเทศที่เห็นว่าประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นกันว่า ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ปกป้องรักษาทรัพยากรของชุมชน และการขัดขวางถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง

“แรกเริ่มเดิมทีเราก็ไม่ได้มีจิตสำนึก หรือว่ามีอุดมการณ์อะไรกันนักหรอก ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ ในพื้นที่ละงู อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาเที่ยวมาจอดโชว์กันที่ลาน 18 ล้าน ก็ที่ที่เขาจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารานั่นแหละครับ ตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน ถือเป็นที่รวมตัวของวัยรุ่นด้วย เพราะใครก็สามารถมาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมได้”
 

 
ชวลิต ชูสกุล หรือดีน ตัวแทนกลุ่มสองล้อรักบ้านเกิด บอกว่า สมาชิกในกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิดก่อนหน้านี้ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วๆ ไปคือ รักอิสระ ชอบขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวกันเป็นกลุ่มๆ ขี่ซิ่ง ขี่ยกล้อก็มี ตระเวนไปเรื่อยตามสถานที่ต่างๆ แต่สำหรับใน อ.ละงู บริเวณชายหาดปากบารา ถือเป็นจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวที่ไหนกันมา สุดท้ายทุกคนก็จะกลับมาจอดรถรวมกลุ่ม ดูพระอาทิตย์ตกกันที่ลาน 18 ล้าน อ่าวปากบารา บ้านเกิด สถานที่ที่มีความผูกพันกับพวกเขา และครอบครัวมาเนิ่นนาน

“วันหนึ่งมีพี่ๆ ผู้ใหญ่ๆ เขามาจัดกิจกรรมกัน บางคนเราก็รู้จักดี เช่น บังยศ บังแกน บางคนเป็นญาติเรา อย่างบังไกร เป็นญาติผม เขามาเปิดเวทีต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารากัน บางครั้งเป็นเวทีพูดคุย บางครั้งก็มีดนตรีมาเล่นด้วย เป็นศิลปินที่เรารู้จักดี เช่น น้าแสง ธรรมดา เป็นเวทีที่ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ แรกๆ เราก็แค่ฟัง และดูอยู่ห่างๆ ว่าผู้ใหญ่เขาออกมาทำอะไร มาพูดเรื่องอะไรกัน พอรู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านเรา เราก็เริ่มเข้าไปช่วย ยกโต๊ะ ยกเก้าอี้ ช่วยจัดสถานที่ แล้วก็รอฟังเพลงกัน”

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกประมาณปี 2548 มี NGOs ที่เป็นคน จ.สตูล แท้ๆ กลุ่มหนึ่งเป็นหัวขบวนในการเดินสายบอกให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ได้รู้ล่วงหน้าว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อชุมชนของพวกเขาจนนำมาสู่การจัดตั้งเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ขึ้น ก่อนที่จะขยายเป็นเครือข่ายในระดับภาคที่กำลังก่อร่างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา การคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราของคน จ.สตูล เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้างผ่านสื่อมวลชนภาคใต้ และส่วนกลางที่เกาะติดเรื่องนี้
 

 
หลายครั้งกิจกรรมคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ถูกจัดขึ้นที่ลาน 18 ล้าน (ลานสาธารณะริมอ่าวปากบารา ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่างบ 18 ล้าน แต่ปรับภูมิทัศน์ได้แค่นี้ จึงเรียกสถานที่นี้ว่าลาน 18 ล้านนับแต่นั้นมา) การจัดกิจกรรมคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ลาน 18 ล้าน ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่เหมือนจะเข้าใจยาก ได้ค่อยๆ ซึมลึกเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนในกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ที่ต่อมากลายเป็นขาประจำ และสุดท้ายก็สมัครใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล หลังจากข้อมูลบางอย่างในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ถูกเปิดเผยออกมา

สมยศ โต๊ะหลัง NGOs จ.สตูล บอกว่า ทำเรื่องขออยู่นานกว่าจะได้อีไอเอโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งทำเสร็จในปี 2552 มาศึกษาข้อมูล และพบว่ามีข้อมูลหลายอย่างที่เป็นข้อมูลเท็จ

“จริงๆ แล้วการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ประชาชนในพื้นที่เริ่มตื่นตัวมาตั้งแต่ปี 2550 แล้วล่ะ หลังจากได้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อชุมชนบ้าง หากเกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพราะมันไม่ได้มีแต่ท่าเรือแต่ยังมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกมาก แต่ละโครงการต้องใช้ทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิตของชุมชน เช่น การระเบิดเขาเอามาถมทะเล การยกเลิกอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคนใน จ.สตูลและสังคมวงกว้างมีความหวงแหนตรงนี้ แต่ภาครัฐพยายามปกปิดไม่บอกให้สังคมรู้ ข้อมูลที่เรานำไปบอกชาวบ้าน ก็เป็นข้อมูลจากภาครัฐเอง แต่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง เช่นเดียวกับข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในอีไอเอของโครงการ ภาครัฐจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำขึ้นมา เมื่อชาวบ้านรับรับรู้ว่าเขาเขียนถึงบ้านเราอย่างไรบ้าง คนในพื้นที่รับไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีส่วนสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกบิดเบือนในอีไอเอท่าเรือปากบาราให้สาธารณชนได้รับทราบความจริง”
 

 
วันหนึ่ง หลังจากที่ได้ซึมซับข้อมูลความรู้ และอุดมการณ์ของผู้ใหญ่ที่คัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้ว เยาวชนกลุ่มสองล้อเกิดความรู้สึกว่า การขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง ยกล้อผาดโผน เสียงดัง กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปเลย ถ้าเทียบกับการปกป้องบ้านเกิด จึงเกิดการท้าทายกันในสมาชิกกลุ่มว่า “พวกเรากล้ามั้ย ถ้าจะทำเรื่องที่มีประโยชน์บ้าง เช่น เก็บขยะริมทะเล” ไม่มีใครไม่กล้า ตั้งแต่นั้นมาเยาวชนในนามกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ก็เริ่มมีตัวตนขึ้นมา พวกเขาจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดปากบาราทุกอาทิตย์ เริ่มแรกถูกมองว่าจะไปได้สักกี่น้ำ ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ ชาวบ้านเริ่มนำถุงดำมาให้ คนที่จะทิ้งขยะบนชายหาดเริ่มมีความละอาย หลายคนมาช่วยเก็บขยะ ผู้ปกครองที่เคยหนักใจตอนลูกขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน เปลี่ยนเป็นภาคภูมิใจ จากห้ามปราม เปลี่ยนเป็นสนับสนุน และส่งเสริม

“ในกลุ่มพวกเราเองก็มีความเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ ดูเหมือนว่าแต่ละคนจะเรียบร้อยขึ้น ไม่กล้าบิดคันเร่งให้เสียงดัง จากแต่ก่อนที่ไม่เคยสนใจว่าใครจะด่าจะว่า แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว”

ชวลิต ชูสกุล หรือดีน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด เล่าว่า กิจกรรมเก็บขยะที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้องๆ หลายคนค่อยๆ มีระเบียบวินัย มีความรัก และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อยากมีส่วนร่วมในการปกป้องบ้านเกิดเหมือนที่ผู้ใหญ่กำลังทำ จึงไปขอก๊อบปี้เอกสารอีไอเอโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา มาศึกษาข้อมูล
 

 
“เอกสารหนาหลายหน้า เราไม่ใช่เด็กเรียน เลยแบ่งหัวข้อกันอ่านแล้วมาล้อมวงพูดคุยกัน ยิ่งอ่านยิ่งได้รู้อะไรมากขึ้น จุดที่เรารับไม่ได้คือ ที่อีไอเอท่าเรือน้ำลึกปากบาราเขียนว่าในอ่าวปากบารามีเรืออวนปลาทู 2 ลำ คุณเอาอะไรมาคิดถึงเขียนออกมาแบบนี้ เพราะถ้าใครอยากมาพิสูจน์ แค่มองด้วยตาเปล่าก็รู้แล้วว่าไม่ได้มีแค่ 2 ลำ แล้วยังมีข้อมูลอื่นๆ อีก เช่น ความหลากหลายใต้ทะเล สถานที่ขาวแห่ง เช่น กองหินขาวเป็นแหล่งที่มีปะการังหายาก แต่อีไอเอฉบับนี้ไม่เอ่ยถึงแม้แต่นิดเดียว ข้อมูลเท็จที่พวกเรารับรู้ ทำให้น้องๆ เยาวชนเขาทนไม่ได้ เขาไม่คิดว่าผู้ใหญ่จะทำกันอย่างนี้”

หลังจากได้อ่านข้อมูลจากรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ได้ร่วมแรงแข็งขันกับอาสาสมัครจากวงการอื่นๆ ที่รวมตัวกันเป็นทีมสำรวจทรัพยากรอ่าวปากบารา ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งหมดในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา เพื่อเผยให้สังคมมองเห็นถึงความมีคุณค่าของทะเลสตูล เพื่อให้สาธารณชนใช้ประกอบการตัดสินใจ ภาพความสวยงามของโลกใต้ทะเล จ.สตูล ที่คนจำนวนมากไม่เคยเห็นมาก่อนได้ถูกนำออกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก ทั้งก่อนและหลังเวที ค.1 ที่ยุติการจัดไปเพราะถูกกลุ่มคัดค้านท่าเรือน้ำลึกยึดเวที

การเข้ายึดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายบุกยึดสถานที่มีกลุ่มเด็กวัยรุ่นเป็นกำลังหลัก ส่วนฝ่ายที่จะจัดเวที และจะมายึดเวทีคืนมีนายทหารเป็นผู้บัญชาการ มี อส. ชรบ. ตำรวจ และทหาร เป็นกำลังหลัก แต่ปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่จะมีความชอบธรรมเพียงใด เพราะจากการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระหน่วยงานหนึ่ง ระบุว่า เพียงแค่เริ่มต้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ทำผิดแล้ว
 

 
“สื่อมวลชนที่ไม่ได้ตามมาทำข่าวตอนชาวบ้านเข้ามายึดสถานที่จัดประชุม พวกเขาจะรู้กันหรือเปล่าว่า รั้วลวดหนามทางฝั่งประตูที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ไม่ใช่ชาวบ้านฝ่ายคัดค้านท่าเรือที่เป็นคนเอามากั้นทางเข้าไว้ เป็นฝ่ายจัดเวทีที่เอามากั้นไว้ตั้งแต่แรก แต่นายทหารที่นำกำลังมาสลายการชุมนุมของฝ่ายคัดค้านท่าเรือ ก่อนจะเข้าไปในสถานที่จัดประชุม เขาสั่งให้ตำรวจรีบไปหาคีมมาตัดลวดหนามออก แล้วพูดว่าพวกที่มายึดเวทีประชุมไม่มีสิทธิเอาลวดหนามมาปิดกั้นคนอื่นที่อยากเข้าร่วมเวที ค.1 ซึ่งถ้านายทหารคนนั้นไม่รู้ที่มาของรั้วลวดหนามว่าใครเอามากั้น แบบนั้นก็นับว่าแปลก แต่ถ้ารู้ก็เท่ากับว่าเขาตั้งใจจะใส่ร้ายชาวบ้านกลุ่มคัดค้านท่าเรือ แบบนั้นหรือไม่”

การลุกขึ้นมาขัดขวางการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมจากภาครัฐของประชาชน และคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่จะเกิดโครงการขนาดใหญ่ อย่างเช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบาราใน จ.สตูล เป็นตัวอย่างที่สะท้อนภาพ และตอกย้ำถึงความไม่โปร่งใสของกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เกิดข้อครหาในเกือบจะทุกโครงการ

ผลจากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่คัดค้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นส่วนประกอบของอีไอเอ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ ประเด็นแรกคือ นายกฯ ตำหนิเอ็นจีโอ ประเด็นที่สองคือ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งทำไปแล้วในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการต่างๆ มองว่า กระบวนการที่รัฐบาลพยายามทำไม่ได้ส่งผลดีต่อปัญหาโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนมาอย่างยาวนาน เพราะภาครัฐไม่ยอมรับความจริงว่ากระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม การให้ข้อมูล และการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม คือต้นตอของปัญหาทั้งหมด จึงควรแก้ปัญหาที่สาเหตุมากกว่า
 

 
คนทั่วไปที่ไม่ได้อาศัย หรือใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ที่รัฐจะสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ อาจตั้งคำถามว่า เหตุใดกระบวนการจัดทำอีไอเอจึงต้องมีการใส่ข้อมูลเท็จลงไปหรือมีการบิดเบือนข้อมูลทั้งๆ ที่รู้ว่าหากมีการตรวจพบก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของโครงการได้

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งเชื่อมั่นในกระบวนการจัดทำอีไอเอ เคยกล่าวไว้ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ว่า โครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน มีกระบวนการที่สำคัญคือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าโครงการแต่ละโครงการควรจะสร้างหรือไม่ควรสร้าง แต่ภาครัฐกลับมองกระบวนการนี้เป็นเพียงพิธีกรรม เพราะทำออกมาอย่างไรก็ผ่าน ครั้งแรกไม่ผ่านก็มีโอกาสทำใหม่ จนกว่าจะผ่าน

“หากจัดทำอีไอเอโดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรงไปตรงมา กระบวนการนี้จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างมากว่าโครงการที่ภาครัฐคิดขึ้นมาควรจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ซึ่งด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะสองฝั่งทะเลภาคใต้ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัย และพื้นที่ผลิตอาหารของผู้คนจำนวนมาก เชื่อว่าหากทำอีไอเอโดยยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง จะไม่มีโครงการไหนเลยที่จะได้สร้างในประเทศไทย นี่คือคำยืนยันว่าแผ่นดินนี้มีทรัพยากรที่มีคุณค่าเกินกว่าจะแลกต่ออุตสาหกรรม เมื่อภาครัฐจะทำโครงการอะไร เขาจึงมักเริ่มต้นด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะพูดความจริงเป็นอันดับแรก”

อย่างไรก็ตาม จนถึงสงกรานต์นี้ถือว่าอยู่ในช่วง 45 วันตามระเบียบเรื่องกรอบเวลาการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา ครั้งที่ 1 ที่ต้องล้มเลิกไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ว่า จะกลับมาจัดเวทีอีกครั้งให้ได้ภายใน 45 วัน น่าจับตาว่าภาครัฐได้สรุปบทเรียนบ้างหรือไม่ในความล้มเหลวจากครั้งที่ผ่านมา ก่อนที่จะเติมเชื้อไฟรอบใหม่ให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
 
กำลังโหลดความคิดเห็น