xs
xsm
sm
md
lg

กรีดเป้าขาก๊วย-ถลกโสร่ง! เพื่อการรู้ทัน? แผนชำเราด้วย “คลองไทย-แลนด์บริดจ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีสัมมนาวิชาการ คลองไทย..พื้นที่ได้ประโยชน์อะไร? ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสมาคมศิษญ์เก่า ม.อ.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
โดย…ศูนย์ข่าวภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
แหลมมลายู คือ พื้นดินที่ยื่นยาวย้อยลงจากแผ่นดินปื้นใหญ่ในซีกโลกเหนือของทวีปเอเชีย ถูกขนาบด้วยมหาสมุทรอินเดียในฝั่งตะวันตก กับมหาสมุทรแปรซิฟิกในฝั่งตะวันออก แล้วไปเปิดเส้นทางให้เดินเรือได้ที่ช่องแคบมะละกา จากนั้นต่อเนื่องเป็นซีกโลกใต้ที่กระจัดกระจายไปด้วยเกาะแก่ง แต่ก็ยังเปิดให้สัญจรทางทะเลเพิ่มได้อีกที่ช่องแคบซุดดา กับช่องแคบลอมบอก ก่อนที่จะไปพบแผ่นดินใหญ่ที่ทวีปออสเตรเลีย แล้วจบลงที่เกาะใหญ่ของนิวซีแลนด์
 
จากกายภาพที่ตั้งดังกล่าว เมื่อประจวบกับการบูมของเศรษฐกิจโลกที่โยกย้ายจากทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา เวลานี้มาคึกคักแบบสุดๆ ที่ทวีปเอเชียตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปรซิฟิก ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ ตามด้วยญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงกลุ่มอาเซียน นั่นย่อมส่งผลให้เวลานี้แหลมมลายูตั้งแต่ตอนใต้ของพม่า ต่อเนื่องถึงภาคใต้ของไทย แล้วยาวไปถึงมาเลเซีย ผืนแผ่นดินส่วนที่ขวางกั้นทะเลเป็นแนวยาวแห่งนี้จึงกำลังเป็นที่จับตาของกลุ่มทุนจากทั่วโลก
 
เวทีสัมมนาวิชาการ คลองไทย..พื้นที่ได้ประโยชน์อะไร? ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสมาคมศิษญ์เก่า ม.อ.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
เนื่องเพราะผืนแผ่นดินเหล่านี้เหมาะที่จะแจ้งเกิดหลายโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่แต่ละโครงการจะใช้เงินลงทุนมหาศาล เพื่อผลักดันให้เป็นได้ทั้ง “ศูนย์กลางขนส่งสินค้าข้ามโลก” และ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” แห่งใหม่?!
 
เวลานี้แผ่นดินตลอด “แหลมมลายู” และโดยเฉพาะ “ด้ามขวานทองไทย” หากเปรียบเป็นหญิงสาว รูปร่างหน้าตาคงแหล่มเริดสะแมนแตนอย่างสุดๆ ความสวยงามไม่น่าจะต่างจากระดับมิสยูนิเวิร์ส และที่สำคัญความขบเผาะนี่แหละที่เป็นที่ต้องตาต้องใจของนายทุนทั่วโลก
 
จึงอย่าได้แปลกใจที่หลายปีมานี้บรรดากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ทั้งทุนข้ามชาติ และทุนไทยต่างจับต้องกันตาเป็นมัน โดยเฉพาะกับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นบนผืนแผนดินด้ามขวานทองไทย อันไม่ใช่แค่ถูกตามจีบกันเท่านั้น หากมีโอกาสก็จะรุมทึ้ง และถ้าจำเป็นต้องฉุกกระชากลากถู บรรดากลุ่มทุนก็จะไม่ยอมละเลยขอมีส่วนร่วมด้วยแน่นอน
 
เวทีสัมมนาวิชาการ คลองไทย..พื้นที่ได้ประโยชน์อะไร? ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสมาคมศิษญ์เก่า ม.อ.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
*** กลุ่มทุนและรัฐไทยพิสมัย “แลนด์บริดจ์”
 
การเดินหน้าปั้นประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ และศูนย์กลางพลังงานโลก ในส่วนของกลุ่มทุนไทยที่ชักใยอยู่หลังรัฐบาลไทย ซึ่งไม่ว่าจะได้อำนาจรัฐมาจากการเลือกตั้ง หรือทำรัฐประหาร รวมทั้งก๊วนหัวขบวนที่กุมกลไกราชการ ล้วนเห็นประโยชน์ตรงกันที่ผลักดันให้เริ่มจากการสร้างอภิมหาเมกะโปรเจกต์ต้นน้ำ หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในรูปแบบของ
 
“สะพานเศรษฐกิจ” หรือ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมฝั่ง 2 ฟากมหาสมุทรในภาคใต้ของไทย!!
 
ทั้งนี้ เพราะบรรดาเมกะโปรเจกต์มากมายก่ายกองเหล่านั้นจะถูกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ นอกจากจะเพื่อช่วยให้การออกแรงผลักดันทำได้ง่ายดายขึ้น โดยเฉพาะด้านการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว ยังสามารถกระจายเงินลงทุนไปในแต่ละโครงการได้คล่องตัวสอดรับต่อศักยภาพของกลุ่มทุนไทยด้วย และที่สำคัญความเป็นเจ้าของยังไม่หลุดมือไปจากอำนาจรัฐไทย และกลุ่มทุนไทย
 
เวทีสัมมนาวิชาการ คลองไทย..พื้นที่ได้ประโยชน์อะไร? ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสมาคมศิษญ์เก่า ม.อ.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
อันอย่าได้แปลกใจที่เวลานี้จะเห็นอาการเร่งเต็มสูบกับบรรดาเมกะโปรเจกต์ในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ฝั่งอันดามัน “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ฝั่งอ่าวไทย แล้วให้เชื่อมโยงกันด้วย “ถนนมอเตอร์เวย์” กับ “เส้นทางรถไฟ” และ “ท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ” ซึ่งนั่นก็คือส่วนประกอบหลักของ “แลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด” ตามแผน “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” ที่ถูกกำหนดให้รองรับการขยายตัวลงมากจากแผน “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” นั่นเอง
 
นอกจากนี้ ยังมีเมกะโปรเจกต์อื่นๆ อีกมากมายที่ถูกกำหนดสร้างรายรอบแลนด์บริดจ์ที่ว่านี้ ซึ่งก็ล้วนเป็นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน อันปรากฏเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่องมาตลอด ส่วนที่แจ้งเกิดไปแล้วใน จ.สงขลา ประกอบด้วย “โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย” กับ “โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะนะ 1” และ “โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะนะ 2” ซึ่งที่ 2 โรงขนาด 800 เมกะวัตต์ “นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง)” เป็นต้น
 
ส่วนที่จะกำลังเร่งแจ้งเกิดโดยเร็วใน จ.สงขลา ได้แก่ “ถนนมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทยมาเลเซีย” และ “ถนนวงแหวนเมืองหาดใหญ่” ตามด้วย “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ที่ จ.ปัตตานี มี “โรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ” กับ “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล” และที่ จ.กระบี่ “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” อีกทั้งยังจะพ่วงด้วย “โรงไฟฟ้าถ่าน” รวมถึง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” แถมด้วย “โรงไฟฟ้าชีวิมวล” ที่ประกาศจะปักหมุดกระจายในแทบทุกจังหวัดของภาคใต้ อันเป็นแผนให้เชื่อมการลงทุนแบต่อเนื่องจากอีสเทิร์นซีบอร์ดลงสู่เซาเทิร์นซีบอร์ด
 
แนวสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเมกะโปรเจกต์อื่นๆ อีก เช่น “ท่าเรือน้ำลึกชุมพร” ที่เชื่อมกับ “ท่าเรือน้ำลึกระนอง” ที่อันหลังสร้างแล้วตามแนวแลนด์บริดจ์ภาคใต้ตอนบน ที่ จ.นครศรีธรรมราช มี “โรงแยกก๊าซขนอม” กับ “โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนอม 1” และ  “โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนอม 2” ขนาด 800 เมกะวัตต์เท่ากัน รวมทั้ง “ถนนเซาเทิร์นฯ” หรือ “ทางหลวงแผนดินหลายเลข 44” เชื่อมระหว่าง จ.นครศรีธรรมราช กับ จ.กระบี่ ซึ่งก็คือถนนมอเตอร์เวย์ตามแนวแลนด์บริดจ์ภาคใต้ตอนกลาง และที่ จ.สุราษฎร์ธานี คือ “นิคมอุตสาหกรรมบ้านนาเดิม” 
 
แล้วล่าสุดก็ไม่ลืมเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำดิบรองรับการพัฒนา ด้วยข้ออ้างเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ซ้ำซากด้วยเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ในรูปแบบ “เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ กว่า 20 แห่ง” แต่ที่นับว่าร้อนแรง และต้องจับตาเป็นพิเศษแบบสุดๆ คือ แผนแจ้งเกิด “9 เขื่อนกับ 1 คลอง” ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงยังไม่นับรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ ที่มีทั้งขยายให้ใหญ่ขึ้น หรือคิดที่จะสร้างขึ้นใหม่ เช่น สนามบิน ถนนหนทาง และท่าเรือต่างๆ เป็นต้น
 
แน่นอนว่าจาก “แบตเตอรี่ไทย” ที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อแตกตัวลงสู่ดินแดนเบื้องล่างได้ถูกทำให้พองตัวขึ้นอีกหลายเท่าจนกลายเป็น “แบตเตอรี่โลก” ภาพที่ผู้คนเล็งเห็นแจ่มชัดในสิ่งที่จะตามมานั่นก็คือ ต่อไปภาคใต้จะมี “โรงกลั่นน้ำมัน” กับ “โรงแยกก๊าซ” เกิดขึ้นตามมาเป็นแผง แล้วขับดันให้เกิดการตั้ง “ฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก อันจะใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้แก่การเกิดขึ้นของบรรดา “นิคมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” ที่จะผุดพรายกระจัดกระจายได้เต็มแผ่นดินด้ามขวานทองของไทยในที่สุด
 
อันนำมาสู่การทำสงครามแย่งชิงทรัพยากรกับคนในพื้นที่ สร้างความหวาดหวั่นในผลกระทบที่จะติดตามมามากมาย ทั้งผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งในเวลานี้ปรากฏเป็นความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายพื้นที่ภาคใต้?!
 
แนวสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์อีสเทิร์นซีบอร์ด
 
*** จีนวางเกมเค้นคอขอขุด “คลองไทย”
 
แต่แล้วเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่เพิ่งผ่านมา กลับมีเรื่องที่สร้างความแปลกใจปนฉงนสนเท่ห์ต่อผู้คนยิ่งนัก นั่นก็คือ การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือกับสมาคมศิษย์เก่า ม.อ.ขันอาสารับหน้าเสื่อลุกขึ้นมาจัดอีเวนต์ยิ่งใหญ่ โดยใช้ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีที่ทั้งใหญ่ และหรูในรั้ว ม.อ.เองเป็นสถานที่จัดงาน อันเป็นการโยนหินถามทางอย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดตัวแผนลงทุนระดับอภิมหาเมกะโปรเจกต์สะท้านสะเทือนโลก โดยถือเป็นการยื่นเสนอแก่สังคมไทย โดยเฉพาะกับคนปักษ์ใต้ว่า
 
เห็นด้วยไหมหากจะให้มีการขุด “คลองไทย” ขึ้นในผืนแผ่นดินด้ามขวาน??
 
ความจริงแล้วแนวคิดให้ขุดคลองที่ภาคใต้ของไทย อันมุ่งหมายสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าและพลังงานข้ามโลกทางทะเลบนดินแดนของทวีปเอเชียไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดนี้สืบสาวไปได้ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือกว่า 300 ปีมาแล้ว จากที่เรียกว่า “คอคอดกระ” ตามด้วย “คลองกระ” แล้วมาจบลงที่ชื่อ “คลองไทย” เพื่อเทียบเคียงกับยุทธศาสตร์ “คลองสุเอซ” ในทวีปยุโรปต่อเนื่องถึงตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปี กับ “คลองปานามา” ที่ผ่ากลางทวีปอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 115 ปีที่แล้วนั่นเอง
 
ความเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสรา้งแลดน์บริดจ์ของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
 
แต่ที่นับว่าใหม่ และถูกจับตาทั้งจากทุนโลกบาล และทุนไทยเป็นพิเศษ ก็เนื่องจากผู้อยู่เบื้องหลังในการออกแรงผลักดันครั้งนี้ แทนที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจจากซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ทว่า กลับกลายเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งในซีกโลกตะวันออกอย่าง “จีน” พญามังกรที่กำลังลุกขึ้นมาผงาดหว่านโปรยเงินลงทุนไปทั่ว และทะยานไปแทบจะทุกมุมบนโลกใบนี้
 
นานมาแล้วที่การลงทุนบนโลกใบนี้ถูกยึดครองโดยชาติตะวันตก “ธนาคารโลก (World Bank)” ตำแหน่งประธานต้องมาจากอเมริกันเท่านั้น “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)” ประธานต้องมาจากยุโรปเท่านั้น และ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)” ประธานต้องมาจากญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ไม่กี่ปีมานี้จีนเดินสายเกาะเกี่ยวประเทศใหญ่ๆ ในโลกอย่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ให้มาร่วมกันตั้งสถานบันการเงินขึ้นสู้ จึงนำมาสู้การเกิดขึ้นของ “ธนาคารบิคส์ (BRICS Bank)” และที่เน้นการลงทุนในเอเชียโดยเฉพาะคือ “ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)” ซึ่งก็มีไทยเข้าร่วมอยู่
 
หลายสิบปีมาแล้วที่จีนแสดวงตัวชัดเจนมาตลอดว่า พิสมัยในทุกโครงการลงทุนในไทย โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ถนนหนทางต่างๆ จีนแทบจะไม่ยอมรามือให้แก่ใครง่ายๆ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เมกะโปรเจกต์ในภาคใต้ที่จะดันไทยตั้งศูนย์กลางลอจิสติกส์และพลังงานระดับโลก จีนได้แทรกตัวเข้าไปขอมีส่วนแบ่งในทุกโครงการ ซึ่งเป็นความชัดแจ้งแบบสุดๆ ไปแล้วก็อย่างการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศผู้ชนะประมูลไปแล้ว ได้แก่ “กิจการร่วมค้าพาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า” หรือก็คือกลุ่มทุนจากจีนนั่นเอง
 
ความเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสรา้งแลดน์บริดจ์ของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
 
แต่การทุ่มทุนให้มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จับมือกับอีกหลายมหาวิทยาลัยดังของจีน แล้วเชื่อมต่อมายังมหาวิทยาลัยไทย อีกทั้งเด็ดยอดนักวิชาการไทยดึงไปร่วมศึกษามาหลายปี มีการหว่านโปรยเงินลงไปถึงผู้นำท้องถิ่น และท้องที่ในทุกชุมชนตามแนวเส้นทางที่จะขุดคลองกว่า 130 กิโลเมตร แถมเมื่อปีก่อนให้ CCTV สื่อยักษ์ใหญ่สายเลือดมังกรลงพื้นที่ทำสกู๊ปพิเศษไปเผยแพร่หลายตอนอย่างเอิกเกริกจนเป็นที่สนใจไปทั่วโลก จากนั้นจัดเปิดตัวตามอำเภอต่างๆ ใน 4-5 จังหวัดที่สายคลองจะพาดผ่าน แล้วมาลงเอยที่มอบให้มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของภาคใต้อย่าง ม.อ.ทำแกรนด์โอเพนนิ่งคลองไทยอย่างยิ่งใหญ่ แผนการนี้ของจีนจึงเป็นที่โจษจัน และจ้องจับตากันเลยทีเดียว
 
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ติดตามมาหลังเปิดตัวคลองไทยระลอกใหม่ว่า แท้จริงแล้วจีนต้องการที่จะฮุบทั้งด้านผลประโยชน์ที่จะเกิดจากการลงทุน และความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้ไปไว้ในมือ ทั้งนี้ ก็เพื่อเสริมฐานความเป็นมหาอำนาจในแหล่งเศรษฐกิจใหม่ของซีกโลกตะวันออกให้ได้อย่างเป็นเสร็จเด็ดขาด ภายหลังจากเดินเกมดึงประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกเข้ามาเป็นเครือข่าย ยึดเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ทั้งที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ และเกาะเตียวหยู ทำฐานทัพ ซึ่งเชื่อกันว่าพื้นที่โดยรอบอุดมไปด้วยแหล่งน้ำมัน และก๊าซมหาศาล
 
ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนจะได้ครอบครอง “อภิมหาเมกะโปรเจกต์คลองไทย” นั่นก็จะส่งผลให้จีนได้ควบคุม และมีอิทธิพลเหนือ “ศูนย์กลางการขนส่งข้ามโลก” และ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง 
 
ความเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสรา้งแลดน์บริดจ์ของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
 
*** มหกรรมขอรุม “ชำเรา” ระดับโลก 
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า 2 อภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าวทั้ง “แลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด” กับ “คลองไทย” ล้วนตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ทับซ้อนกัน แล้วสามารถที่จะดันไทยให้ทะยานสู่การเป็นได้ทั้งศูนย์กลางลอจิสติกส์ และพลังงานระดับโลกได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ขนาดของการลงทุนต่างกันลิบลับ ว่ากันว่าโครงการหลังจากการศึกษาแนวเส้นทางที่จะขุดไว้กว่า 10 เส้นทาง ฝ่ายจีนต้องการแนวด้านล่างสุดของไทยที่คาบเกี่ยวไปยังมาเลเซียบางส่วน ซึ่งใช้เม็ดเงิน และขนาดของการพัฒนาจะใหญ่กว่าโครงการแรกเกิน 20 เท่าตัว
 
ดังนั้น กับคลองไทยในเวลานี้ท่าทีรัฐไทย และทุนไทยจึงยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องเพราะยังขาดโนว์ฮาว เทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุดคือ เงินลงทุน แต่สำคัญฝ่ายจีนแล้วเวลานี้กำลังพยายามทุกวิถีทางให้คนไทยยอมรับ โดยเฉพาะต้องการโยนใส่มือรัฐบาลไทยให้รับเข้าไปร่วมพิจารณาควบคู่กับแลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด
ความเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสรา้งแลดน์บริดจ์ของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
 
เวลานี้กลุ่มทุนไทย และกลุ่มทุนข้ามชาติต่างก็กำลังจับจ้องกันชนิดทั้งตา และปากเป็นมัน นอกจาก “นายทุนกางเกงขาก๊วย” จะใช้วิธีกดดันหนักแล้ว บรรดา “นายทุนสวมโสร่ง” โดยเฉพาะกับแถบอาเซียนด้วยกันก็ไม่ยอมที่จะพลาดโอกาสของมีความแจมด้วย มิพักต้องพูดถึงพวก “นายทุนสวมสูท” ที่มีโอกาสในการสร้างผลประโยชน์ก็จะไม่ปล่อยให้หลุดมือ
 
ทว่า เมื่อหันมาดูประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกับคนที่ลงหลักปักฐานอยู่ตลอดผืนแผ่นดินด้ามขวานกลับพบว่า ตลอดหลายปีต่อเนื่องมานี้ หลากชุมชนคนปักษ์ใต้ได้ลุกขึ้นทายท้า บ้างถึงขั้นสู้รบแล้วแนวคิดการพัฒนาทั้งในทิศทางที่จะสร้างเมกะโปรเจกต์กระจัดกระจายในรูปแบบ “แลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด” และการสร้างอภิมหาเมกะโปรเจกต์กระจุกอย่าง “คลองไทย” เพราะต่างเล็งเห็นได้ถึงการล่มสลาย และความเดือดร้อนที่จะตามมา
 
แนวการขุดคลองไทยที่มีการโยนหินถามทางในเวทีที่ ม.อ.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2560
 
อย่างไรก็ตาม มหกรรมเร่งดันบรรดาเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี อันมีกลไกรัฐรับผิดชอบในหน้าฉาก ขณะที่กลุ่มทุนชักใยอยู่หลังฉาก ซึ่งก็เกิดขึ้นควบคู่ไปกับกิจกรรมคัดค้านและต่อต้านของเครือข่ายประชาชน ทั้งในลักษณะแยกกันตบและรุมกันตี นับจากนี้ไปภาพเหล่านี้ก็มีแต่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะไปจบลงตรงไหนนั้นมีแต่จะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป
 
แต่ต้องไม่ลืมว่า ห้วงเวลานับสิบปีมานี้ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้และติดตามดูปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน ซึ่งก็น่าจะไม่ต่างอะไรกับที่ได้มีปฏิบัติการ “กรีดเป้ากางเกงขาก๊วย” และ “ถลกโสร่ง” พวกบรรดานายทุนกันมาต่อเนื่อง จนมองเห็นเครื่องเคราที่จะใช้ชำเรากันได้อย่างอล่างฉ่างแล้วนั่นเอง
 

แนวการขุดคลองไทยเส้นด้านล่างสุดในภาคใต้ที่จีนเล็งไว้อย่างตาเป็นมัน ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งตัดผ่านประเทศมาเลเซีย แต่ขนาดการลงทุนสามารถขยายให้ใหญ่กว่าแลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ดได้ถึงกว่า 20 เท่าตัว
แนวเส้นทางที่เคนมีการศึกษาเพื่อขุดคลองไทยในพื้นที่ภาคใต้
ภาพจินตนาการของการพัฒนาภาคใต้หากมีการสร้างแลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด หรือขุดคลองไทย ซึ่งภาคประชาชนร่วมกันเอ็นจีโอเคยทำไว้
ภาพจินตนาการของการพัฒนาภาคใต้หากมีการสร้างแลนด์บริดจ์เซาเทิร์นซีบอร์ด หรือขุดคลองไทย ซึ่งภาคประชาชนร่วมกันเอ็นจีโอเคยทำไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น