รายงานพิเศษ...ศูนย์ข่าวภาคใต้
ภาพยนตร์ “มหาลัยวัวชน” Song From Phatthalung ผลงานเรื่องล่าสุดของ “สืบ” บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับ ลูกชาวนาจาก อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ที่สนใจ และมุ่งมั่นในการทำหนังแนวสร้างสรรค์อย่างเอาจริงเอาจัง โดยหนังเรื่องนี้เป็นที่พูดถึงมาก่อนหน้านี้แล้วนับตั้งแต่เริ่มแถลงข่าวเปิดกล้อง
จนกระทั่งถึงกำหนดเข้าฉายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา แม้ “มหาลัยวัวชน” จะไม่มีโปรแกรมฉายเต็มทุกโรงทั่วประเทศ โดยฉายเยอะที่สุดในโรงภาพยนตร์ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในภาคใต้ โดยมีโปรแกรมฉายยาวมาจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ และขณะนี้โปรแกรมฉายได้ยุติไปหมดแล้ว เหลือเพียงโรงเดียวที่ยังฉาย “มหาลัยวัวชน” คือ โรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอ กรุงเทพฯ ซึ่งมีหนังไทยที่เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกันคือ “สยาม สแควร์” และ “กัดกระชากเกรียน” แต่ปรากฏว่าหนังเรื่อง “มหาลัยวัวชน” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ สร้างความคึกคักให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยได้อย่างเกินความคาดหมาย ดังที่อาจารย์โอ หรืออภิชาต จันทร์แดง ผู้เขียนบท ได้สะท้อนไว้
“หนังเรา ตัวหนังสอบผ่าน ทั้งบท กำกับ นักแสดงแต่เราขาดการประชาสัมพันธ์ คนไม่รู้ว่าหนังเข้า และจากหนังเรื่องนี้มันมีปรากฏการณ์ที่คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้สะท้อนมาว่ามันมีความแปลกใหม่หลายอย่าง คือ นักแสดงไม่ใช่ดารา แถมเป็นชาวบ้าน ทีมงานสร้าง ไม่ใช่คนในวงการหนังทั้งหมด ใช้วิธีการถ่ายแบบไม่ตกแต่งฉากมาก ใช้ทุนน้อยจนไม่น่าเชื่อ เข้าฉายในโรงหนังทั่วไปโดยไม่มีโฆษณาผ่านสื่อแบบหนังเรื่องอื่นๆ เป็นหนังที่เกิดจากท้องถิ่น และอื่นๆ อีกหลายประเด็น”
นอกจากนี้ ยังแว่วๆ มาว่า หนัง “มหาลัยวัวชน” ยังทำรายได้มากกว่าหนังเรื่อง “สยาม สแควร์” และ “กักกระชากเกรียน” ซึ่งต่างก็เป็นหนังจากค่ายใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ แต่กลับถูกหนังบ้านๆ แย่งซีนไปอย่างไม่น่าเชื่อทั้งที่ด้อยกว่าในทุกๆ ด้าน
การที่ บุญส่ง นาคภู่ ในฐานะคนทำหนังมารวมพลังกับพลพรรคศิลปินในเครือ “พาราฮัท” ซึ่งมีผลงานโด่งดังไปทั่วประเทศจากบทเพลง “มหาลัยวัวชน” ของวง “พัทลุง” ทำให้กระแสสังคมเริ่มจับตามองการเคลื่อนของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นว่าจะออกมาอย่างไร เป็นไปในทิศทางไหน แล้วจะเคลื่อนต่อกันไปอย่างไร และที่หลายคนสงสัยคือ ผู้กำกับหนังคนนี้ลงมาคลุกคลีอยู่กับสังคมภาคใต้ตั้งแต่เมื่อไหร่
“ผมพบกับพี่สืบ เมื่อหลายปีก่อนที่ ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ไปเป็นวิทยากรด้วยกัน พี่สืบ เอาหนังเรื่องคนจนผู้ยิ่งใหญ่ มาฉาย คุยกันถูกคอ ผมเลยชวนให้มาฉายให้ลูกศิษย์ผมดูที่ ม.อ.หาดใหญ่ แกตัดสินใจทิ้งตั๋วเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยจองไว้ให้ แล้วเดินทางมาหาดใหญ่กับผม หลังจากนั้น ก็ชวนกันทำหนังสั้นสี่ห้าเรื่อง ถ่ายแถวสงขลา พัทลุง ผมร่วมเขียนบทกับแก ปีที่แล้วโอพาราบอกว่าอยากทำหนังสั้นเกี่ยวกับพาราฮัท ผมเลยพาพี่สืบ มาแนะนำให้โอรู้จัก คุยไปคุยมาเลยคิดทำหนังยาวกัน”
“อาจารย์โอ” หรือ อภิชาติ จันทร์แดง กวี/นักคิด/นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์มหาลัยวัวชน ร่วมกับบุญส่ง นาคภู่ เล่าว่า การได้ไปรู้จักและรับฟังเรื่องราวของกลุ่มศิลปินในค่ายเพลงพาราฮัท ที่มี “ทิวากร แก้วบุญส่ง” หรือ “โอ พารา” เป็นหัวเรือใหญ่ และได้พบกับเทอดพงศ์ เภอบาล หรือ “พงศ์” นักร้องนำวงพัทลุง ทำให้บุญส่ง นาคภู่ ไม่ลังเลใจเลยที่จะนำเรื่องราวเหล่านั้นมาบอกเล่าเป็นภาพยนตร์
บุญส่ง บอกว่า เขาตื่นเต้นมากเมื่อคิดจะทำหนังเรื่องมหาลัยวัวชน แต่ตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องเป็นหนังที่เรียบง่าย ดูแล้วมีชีวิต เล่าถึงวิถีชีวิตจริงๆ ที่เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้พบเจอมา ก่อนที่จะมาประสบความสำเร็จ ให้พวกเขาแสดงเป็นตัวของพวกเขาเอง เพื่อให้พวกเขาเป็นตัวแทนของคนบ้านๆ ทั่วประเทศ คนที่กำลังต่อสู้อยู่กับอะไรต่างๆ ให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถทำอะไรสำเร็จได้ถ้าร่วมมือกัน
“ผมถามโอ พารา ว่า อยากทำมั้ย เขาบอกว่าอยากทำครับ ถามพงศ์ พงศ์ก็อยากทำ ถามอาจารย์โอ ทุกคนตกลงหมด ผมก็ถามต่อว่าแล้วตังค์อ่ะ จะเอาตังค์จากไหน ถ้าไม่มีตังค์เราก็ทำไม่ได้นะ”
เล่ามาถึงตรงนี้ สืบ บุญส่ง นาคภู่ หัวเราะเสียงดังลั่น เขาอยู่กับวงการหนังมานานรู้ดีว่าทำหนังเรื่องหนึ่งต้องใช้อะไรบ้าง ที่หัวเราะเรื่องเงินทุนในการทำหนังนั้น คงเพราะคนทำหนังตัวเล็กๆ อย่างเขาพบเจอกับคำถามสำคัญนี้มาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เหมือนจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว แต่ก็ระลึกได้ดีว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่คนกำกับหนังอย่างเขามักจะหาหนทาง จนพบทางออกมาได้ทุกครั้ง
“เราก็ตกลงกันว่าถ้าอยากทำก็ต้องลงขันกัน ทุกคนตกลงก็ควักเงินกันมา แคะกระปุกกันมา หยิบยืมกันมาบ้าง เพื่อทำความฝันหนังบ้านๆ เรื่องแรกที่จะเป็นหนังที่ดูง่ายที่สุด อย่างที่บอกไว้แล้วว่าไม่ต้องปีนบันไดดู ผู้ใหญ่ดูได้ เด็กดูได้ ทุกเพศทุกวัยดูได้ ผมจะมอบหนังเรื่องนี้เป็นของขวัญแก่คนบ้านๆ ทั่วประเทศ ทั่วโลก คนบ้านๆ ที่มีความคิด ความฝัน และความหวังไม่ต่างกัน หวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ถูกเอาเปรียบ มีเกียรติ และมีคุณค่าต่อสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจนยังไง คนก็คือคนเหมือนกันหมดทั่วโลก ผมจะใช้หนังเรื่องนี้แหละปฏิวัติวงการหนังไทย!”
ปฏิวัติวงการหนังไทย!!!
หนังไทยเป็นอะไร เหตุใดถึงต้องปฏิวัติ หลายคนแทบจะไม่รู้อะไรเลยถึงความเป็นไปในวงการหนังไทย และหลายคนก็ไม่ได้ไปโรงหนังมานานแล้ว ขณะที่ บุญส่ง นาคภู่ บอกว่า ถ้าทำสำเร็จวงการหนังไทยจะเกิดอะไรดีๆ ขึ้นอีกมากมาย
“จะมีหนังไทยดีๆ ให้ดูมากขึ้น มีโรงหนังที่ไม่เก็บค่าดูแพงๆ หรืออาจจะไม่เก็บค่าดูเลยก็ได้ ถ้ามีผู้สนับสนุน คนไทยก็จะได้ใช้หนังนี่แหละเป็นสื่อในการเรียนรู้ได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะคนทำหนังในเชิงสร้างสรรค์ หนังในเชิงสาระ จะมีกำลังใจ กล้าคิดกล้าทำในสิ่งดีๆ ไม่ใช่มีแต่หนังผี หนังตลก แต่มีหนังที่คนดูหัวเราะได้ ดูแล้วได้ทั้งสาระ ทั้งความสุข มันเป็นการยกระดับทางปัญญาของผู้คนที่สังคมไทยควรทำมาตั้งนานแล้ว”
“MGR Online ภาคใต้” สืบค้นข้อมูลของวงการหนังไทยว่ามีสภาพปัญหาอะไรบ้าง เหตุใดหนังไทยจึงเหมือนย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาไปไหน และไม่ค่อยจะมีหนังดีๆ ให้ดูมากนัก หากเทียบกับวงการภาพยนตร์ในต่างประเทศ เช่น เกาหลี เป็นต้น จนกระทั่งพบว่า ช่วงเริ่มศักราชใหม่ ในเดือนมกราคม 2560 ได้มีแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ที่เอาเปรียบผู้ผลิตหนังรายเล็กรายย่อยมานานจนแทบไม่มีที่อยู่ที่ยืน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแถลงการณ์ฉบับนั้นคือ บุญส่ง นาคภู่ นั่นเอง สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคนทำหนังอิสระที่ถูกยกขึ้นมาตั้งคำถามคือ
“สัดส่วนการแบ่งรายได้มีความเท่าเทียมหรือไม่ในการนำภาพยนตร์ไปฉายในเครือใหญ่ จากที่สัปดาห์แรก หารกันในสัดส่วน 55-45 (โรงหนัง - คนทำหนัง) ต่อจากนั้นจะเป็นสัดส่วน 60-40 ในสัปดาห์ที่สอง และแยกค่าใช้จ่ายด้านภาษีอีกต่างหาก ซึ่งถ้าเทียบกับโรงเล็ก เช่น House RCA หรือ Bangkok Screening จะให้หารครึ่ง 50-50 ทั้งรายได้ และภาษี ซึ่งถือว่าไม่มีใครเอาเปรียบใคร คำถามที่อยากถามคือ คนทำหนังควรจะได้การทำธุรกิจแบบเท่าเทียมกันทุกโรงฉาย”
และในแถลงการณ์ในนาม “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดกับภาพยนตร์ไทยในขณะนี้มีความเกี่ยวข้องต่อโรงภาพยนตร์โดยตรง กล่าวคือ โรงภาพยนตร์ไทยในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นระบบมัลติเพล็กซ์ ครอบครองจอฉายจำนวนมาก และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของเครือใหญ่เพียงสองเครือ ส่งผลให้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือก และจัดฉายภาพยนตร์ในทุกช่วงเวลา เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่โรงภาพยนตร์โดยมากทั่วประเทศ จัดฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ (Block Buster) จากฮอลลีวูด ในเวลาพร้อมๆ กัน และเหลือพื้นที่ให้แก่ ภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ประเทศอื่นๆ เพียงเล็กน้อย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของภาพยนตร์เหล่านั้นอย่างร้ายแรง
ข้อเรียกร้องระยะยาว เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ คือ ให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีบทบาทอย่างจริงจังในการสร้างกลไกเพื่อการพัฒนาคุณภาพของทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ไทย และผู้ชมภาพยนตร์ไทย ผ่านวิธีการและการดำเนินในลักษณะต่างๆ โดยให้ผู้สร้างภาพยนตร์เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เช่น การตั้งกองทุนส่งเสริมผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ที่มีเกณฑ์การพิจารณาอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลงานภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ขณะเดียวกัน ก็เกิดผู้ชมที่มีรสนิยมอันหลากหลาย มีจิตใจที่เปิดกว้าง สามารถเพาะบ่มวัฒนธรรมของการชมภาพยนตร์ของประเทศไทยได้อย่างแข็งแรง ทัดเทียมประเทศอื่นทั่วโลกอย่างแท้จริง (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้จาก https://thematter.co/rave/moviethai/16166)
และสิ่งที่ยืนยันได้ถึงสภาพปัญหาของวงการหนังไทยตามการเรียกร้องของเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ ได้เกิดขึ้นแล้วกับภาพยนตร์มหาลัยวัวชน เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา โรงหนังรายใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ถอดหนังเรื่องนี้ออกจากโปรแกรมการฉาย หลังจากมีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองในโรงหนังได้เพียง 7 วัน และระหว่างการฉายก็มีรอบฉายให้เพียง 2 รอบ คือ รอบเวลา 11.00 น. กับรอบเวลา 17.00 น.ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนจะเข้าโรงหนัง กทม.เหลือเพียงโรงหนัง House RCA โรงเดียว ที่ยังคงฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่โรงหนังในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ากระแสปากต่อปาก และกระแสบอกเล่ากันในสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้คนหลั่งไหลกันไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนกลับออกมาจากโรงหนังด้วยความรู้สึกดีๆ เช่น ครูคนหนึ่งชาว จ.ตรัง บรรยายความรู้สึกไว้ในเฟซบุ๊ก วันที่ 5 เม.ย. ว่า
“มหาลัยวัวชน วิจารณ์ไม่เป็นหรอกนะแต่ขอเล่าดีกว่า หลังจากออกมาจากโรงหนัง SF CINEMR
โรบินสันตรังค่ะ ยิ่งกว่าอิ่มค่ะ ทุกอารมณ์ หัวเราะจนน้ำตาไหล เศร้าจนอยากร้องไห้ตาม มีเรื่องราวร้อยเรียงต่อเนื่องกลมกลืน สอดแทรกเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงสำคัญ นำเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นมาเสนอได้อย่างแนบเนียน น่าสนใจ และชี้นำให้เห็นคุณค่าอย่าน่าทึ่ง คนดูเต็มโรง วันนี้เชื่อเถอะ 120 บาท ที่จ่ายไป คุณได้กลับมามากกว่าแน่นอนค่ะ หนังนี้ดีจริง”
นอกจากนี้ พบว่าในช่วงวันที่ 5 เม.ย.มีบุคคลสาธารณะ เช่น เอกชัย ศรีวิชัย หรือแม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่าง จำลอง ฝั่งชลจิตร ต่างออกมาแสดงความเห็นเชิญชวนให้คนที่ยังไม่ได้ดู ควรไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะคนใต้ควรจะต้องดูเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับกระแสเสียงจากคนในวงการหนังที่ชื่นชม และยังเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในสังคมออนไลน์มานับตั้งแต่รอบปฐมทัศน์ ส่งผลให้ในคืนวันที่ 5 เม.ย.โรงหนังที่ฉายภาพยนตร์มหาลัยวัวชนใน อ.หาดใหญ่ และในตัว อ.เมืองสงขลา มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นจำนวนมาก จนคนทำหนังต้องอุทานว่า “นี่มันเกิดอะไรขึ้น”
จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนชื่อดังชาว จ.นครศรีธรรมราช อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ในเฟซบุ๊กว่า..ลองวิเคราะห์...กระแสเริ่มก่อเค้าก็แบบนี้ วันนี้ (6 เม.ย.) เมืองคอนเพิ่มโรงฉายที่สิชล เล่นแบบ chaos คือ การแตกตัวในที่เล็กๆ แล้วค่อยกระจายออกไป กระจายไปในท้องถิ่นที่มีวัวชน มีเรื่องราวของวัวชน แตกแบบหัวเชือก
“เชือกวัวลากยาวถึงไหน แตกตัวไปถึงที่นั่น เด็กตัดหญ้าวัวไปตัดถึงคูน้ำ หนองน้ำ หรือสวนยางไหน กระแส Chaos จะไปถึงนั้น”
ภาพยนตร์มหาลัยวัวชน ที่บุญส่ง นาคภู่ บอกว่าเขาจะใช้มันเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติวงการหนังไทย ได้ทำปฏิบัติการต่อสังคมไทยแล้ว ทำให้หลายคนเริ่มจับตาอีกครั้งว่ากระแสนี้จะนำไปสู่อะไร
หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่านักแสดงของบุญส่ง นาคภู่ ในเรื่องมหาลัยวัวชนเป็นใคร มาจากไหน และทำไมทุกคนถึงแสดงได้ดีเป็นธรรมชาติ อย่างที่ผู้กำกับหนังชื่อดัง “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” บอกว่า “พวกเขาแสดงเหมือนไม่แสดง”
คำตอบคือ นอกจากจะร่วมมือกับค่ายเพลงพาราฮัทแล้ว บุญส่ง ยังได้รับความช่วยเหลือ ความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายนักเขียน และศิลปินในภาคใต้ ที่ต่างก็มีตัวแทนมาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะตัวแสดงประกอบ เช่น แสง ธรรมดา ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง แสดงเป็น “สหายผู้ไม่ยอมกลับบ้าน” นิยุติ สงสมพันธ์ ศิลปินวงใต้สวรรค์ ผู้ร่วมก่อตั้งบ้านนักเขียนและหลาดใต้โหนด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง แสดงในบทที่นักวิจารณ์หนังในกรุงเทพฯ เรียกว่า “จิตวิญญาณแห่งสวนยาง” ขณะที่ ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลศิลปาธร แสดงเป็น “เจ้าของร้านถังแดง 3008”
ซึ่งกล่าวได้ว่านักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคน “ขบถ” แทบทั้งสิ้น และหลายคนมีชื่อเสียงในสังคมภาคใต้ในระดับไอดอล หรือเซเลบ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นใหม่ นี่อาจจะเป็นทีเด็ด เป็นเอกลักษณ์ของบุญส่ง นาคภู่ ที่สามารถประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ใช้ทรัพยากรทุกอย่างเท่าที่มีมาประกอบสร้างเป็นภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่อง ความสามารถนี้อาจไม่มีอยู่ในผู้กำกับหนังทุนหนาคนอื่นๆ
“ผมรู้จักคุณสืบ ในฐานะนักทำหนังอินดี้ที่มีคนติดตามอยู่จำนวนมาก การได้มาทำหนังมหาลัยวัวชน เป็นก้าวกระโดดได้รับการตอบรับอย่างมหาศาล มีแต่คนบอกว่าอยากพาลูกหลานไปดู เด็กประมาณ ป.4 ถามไถ่กัน ปรากฏการณ์นี้สำคัญมาก มันไม่เคยเกิด สืบ ไม่ใช่คนที่ไม่มีที่มาที่ไป เท่าที่รู้เขาอยู่ในวงการหนังมานาน มีแต่คนขบถเท่านั้นแหละที่ทำหนังแบบนี้ได้ คนที่ยังสยบยอมต่ออำนาจเขาทำแบบนี้ไม่ได้หรอก”
แสง ธรรมดา หัวขบวนในเครือข่ายศิลปินภาคใต้ กล่าวถึงผู้กำกับ และหนังมหาลัยวัวชน ว่า หนังเรื่องนี้พูดใต้ทั้งเรื่อง ซึ่งหนังใต้ทำมาเยอะแล้ว ที่ล้มเหลวก็เยอะ ส่วนมากก็ไม่ประสบความสำเร็จ หนังเรื่องล่าสุดที่ทำได้ดีคือ มหาลัยเหมืองแร่
“หนังเรื่องนี้สามารถเทียบชั้นมหาลัยเหมืองแร่ได้เลย อย่างมีศักดิ์ศรี หนังเรื่องนี้กำลังบอกว่าต่อไปนี้กรุงเทพฯ จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป ที่ไหนก็เป็นศูนย์กลางของโลกได้ นี่แหละคือความหมายของโลกไร้พรมแดน คนชายขอบจะมีบทบาทมีพลังมากขึ้น”
แสง ธรรมดา มองว่า ต่อไปนี้หากบุญส่ง นาคภู่ ยังสนใจทำหนังเกี่ยวกับภาคใต้ หรือภาคอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ผ่านศิลปะภาพยนตร์ ก็จะช่วยส่งเสริมให้สังคมมีการยกระดับคุณภาพทางการเรียนรู้ได้ สร้างพลังให้แก่สังคมได้ในหลากหลายมิติอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ปัญหาใหญ่ภาคใต้ เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิคมอุตสาหกรรมหนัก เมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่จะเข้ามาและจะส่งผลกระทบต่อชุมชนภาคใต้ สิ่งเหล่านี้คนใต้ต่อสู้กันมานาน เพราะอยากอยู่กับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ มีทะเลสะอาดผลิตอาหารเพื่อคนทั้งประเทศ แต่การพัฒนาโดยปัจจัยอำนาจรัฐร่วมมือกับนายทุนผ่านสื่อ
“ถามว่าปัญหาแบบนี้ผู้สร้างหนังอิสระที่อยากทำอะไรสร้างสรรค์ คุณกล้านำเสนอประเด็นเหล่านี้ในภาพยนตร์ของคุณหรือไม่ ถ้าคุณกล้าทำคุณจะนำพาสังคมเล็กๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ซึ่งนั่นคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก อย่างหนังมหาลัยวัวชนเป็นตัวอย่างการเริ่มต้นที่ดี ถ้าคุณมีทีมที่มีพลังในการสร้างสรรค์แบบนี้ คุณจะทำอะไรต่อไปก็ได้ เรื่องเกี่ยวกับภาคใต้ คนต่อสู้เพื่อทรัพยากร เพื่อบ้านเกิด เพื่อสังคม เพื่อความถูกต้อง คนเหล่านี้มีคุณภาพมีเรื่องราวมีการต่อสู้มีคาแร็กเตอร์ คุณจะหาพระเอก นางเอก ได้ทุกหนทุกแห่ง มีคนพร้อมเป็นนักแสดงให้คุณโดยที่คุณไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องไปลงทุนเยอะเหมือนหนังอื่นๆ แต่ก็เป็นหนังที่มีคุณภาพดีได้”
ไม่น่าเชื่อว่าการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ล้วนประกอบไปด้วยนักแสดงหน้าใหม่ นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนตัวเล็กๆ กลุ่มเด็กบ้านๆ ชานเมือง เล่าเรื่องสังคมชนบท วิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น จะสามารถจุดไฟสร้างพลังสร้างความหวังให้แก่คนชายขอบอีกจำนวนมากที่ตั้งตารอว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้รับความสนใจ ได้รับความเท่าเทียมจากโครงสร้างอำนาจส่วนบน
บุญส่ง นาคภู่ บอกว่า สำหรับในมุมมองการปฏิวัติ มองว่ามีหลายวิธี การทำหนังเป็นอีกวิธีที่ตนเองถนัด และทำได้ไม่ต้องไปประท้วงอะไร แต่ให้ตัวหนัง และวิธีการมันปฏิวัติเอง ซึ่งตอนนี้ อย่างที่เห็น ตัวหนังมันได้ปฏิวัติเรียบร้อยแล้ว และวิธีการที่เราทำก็เป็นการปฏิวัติอย่างชัดเจน
“ในฐานะคนทำหนัง ผมต้องยืนบนฐานของความยุติธรรมแน่นอน อยากมากในการลงไปเล่าเรื่องของดีๆ เรื่องที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมีมากมายในประเทศเรา และยินดีมากๆ ถ้ามีคนสนับสนุนให้โอกาส
แต่เราต้องทำตัวเป็นคนทำหนัง เป็นศิลปิน ต้องเป็นกลาง เป็นคนของทุกพื้นที่ที่มีปัญหา แต่ไมใช่เป็นคนของใคร ถ้าจะเอียงข้างก็บอกได้เลยว่า ผมเป็นคนของคนทุกข์คนยากทุกคน และก็จะไม่ยอมเป็นเครื่องมือของนายทุนเด็ดขาด ศัตรูของผมคือ ทุกคนที่ทำให้คนทุกข์คนยากเดือดร้อน ใครก็ตามที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรม แนวทางหนังของผมคือ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อสังคม อย่างที่ จิตร ภูมิศักดิ์ (ทีปกร) เขียนไว้ในหนังสือชื่อศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อสังคม”
ปรากฏการณ์ “มหาลัยวัวชน เดอะ มูฟวี่” กำลังดำเนินไปในกระแสที่เครือข่ายภาคประชาชนทั่วภาคใต้ก็กำลังผสานพลังกัน และกันเพื่อสร้างสังคมภาคใต้ให้เป็นตัวอย่างของสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ทุกคนคาดหวังว่านอกจากงานวิชาการ ศิลปะ บทเพลง และเสียงดนตรีแล้ว ภาพยนตร์โดยคนทำหนังบ้านๆ นามว่า “บุญส่ง นาคภู่” คนนี้แหละ พร้อมด้วยทีมงานนักคิดนักเขียน ศิลปิน และสื่อมวลชน เพื่อนของเขาที่น่าจะมาช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนนำพาสังคมบ้านๆ ไปสู่ความฝันนั้นได้อีกทางหนึ่งในวันข้างหน้า