ยะลา - คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิด 31 สารคดีชุมชน จากนักสื่อสารชุมชนชายแดนใต้ สร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่ได้ตระหนักรู้ และเกิดความรักความสามัคคี อันจะนำไปสู่บรรยากาศแห่งความสุข และเกิดสันติภาพในสังคม
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการพลังชุมชนสื่อสารสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งทางคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ผลิตนักสื่อสารชุมชนชายแดนใต้ โดยผ่านกระบวนการอบรมการผลิตชุดความรู้ชุมชนชายแดนใต้ ตลอดระยะเวลาการอบรม จำนวน 60 ชั่วโมง ภายใต้โจทย์ “ชายแดนใต้บ้านเรา… เรารักชายแดนใต้” ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความงดงามของวิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์รอคอยการมาเยือนของผู้คน
อาจารย์แวอาซีซะห์ ดาหะยี อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ เปิดเผยว่า การผลิตสารคดีชุดความรู้ชุมชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ โดยชุมชนลงพื้นที่ปฏิบัติจริงตั้งแต่ขั้นรวบรวมข้อมูล ถ่ายทำ ตัดต่อ และถ่ายทอด ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการเรียนรู้ชุมชนโดยชุมชน สร้างความภาคภูมิใจของชุมชนผู้ถ่ายทอดในฐานะเจ้าของผลงาน และเจ้าของชุมชน โดยเฉพาะในยุคสื่อออนไลน์การสื่อสารเปิดกว้างใกล้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ก็สามารถสื่อข่าวสารกระจายไปทั่วโลกเกิดการรับรู้ได้มากขึ้น สื่อออนไลน์เป็นสื่อสาธารณะที่สำคัญ และมีอิทธิพลต่อมนุษย์โดยเฉพาะเยาวชน
ทั้งนี้ หากเยาวชนในชุมชนเข้าใจ และได้รับการฝึกทักษะการสื่อสารที่ถูกต้อง นำแง่งามของชายแดนใต้มานำเสนออาจจะทำให้เกิดพลังทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมชายแดนใต้ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
จากสภาวการณ์ด้านการสื่อสารข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และจำเป็นที่ชุมชนในชายแดนใต้ต้องรู้ที่จะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติ และรู้ที่จะสื่อสาร เพื่อสร้างฐานคิด และผลิตชุดความรู้ในมิติเชิงบวกแก่สาธารณะโดยชุมชนเพื่อชุมชน สู่เป้าหมาย และความต้องการเดียวกันคือ “สังคมสันติภาพ”
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการพลังชุมชนสื่อสารสันติภาพชายแดนใต้คือ ผลงานสร้างสรรค์สารคดีชุดความรู้ชุมชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จำนวน 31 เรื่อง ในมิติมิติของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง จ.ยะลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส โดยสามารถเข้าไปรับชมสารคดีดังกล่าวทั้ง 31 เรื่องราวได้ผ่านช่องทางยูทูป โดยพิมพ์คำว่า “โครงการพลังชุมชนสื่อสารสันติภาพชายแดนใต้”
ด้าน นายฮาซัน ยีมะแซ นักศึกษานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งร่วมกับเพื่อนได้ผลิตสารคดีเรื่อง บ้านใหม่ “กำปงดาแร” ซึ่งเป็นหมู่บ้านใน อ.เบตง จ.ยะลา ที่ทั้งหมู่บ้านจะไม่มีโทรทัศน์ในการรับชมข่าวสาร เนื่องจากเป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณ และในปัจจุบันเองก็ได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากมีการนำเสนอเป็นสารคดี ก็ทำให้มีผู้คนรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้มากขึ้น ถือเป็นอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกมุมหนึ่ง
ด้าน นายมูฮัมหมัดอายุป ปาทาน ในฐานะสื่ออาวุโสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ณ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ มีผลต่อสื่อหลักเป็นอย่างมาก ซึ่งความจริงแล้วทั้งสื่อโซเชียล และสื่อกระแสหลักนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันในด้านของการนำเสนอ เมื่อสื่อโซเชียลนำเสนอเรื่องใดที่เป็นประเด็นขึ้นมา สื่อหลักก็พยายามที่จะขวนขวาย หรือหาข้อมูลต่อเนื่อง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมานำเสนอต่อสาธารณชน แต่มีความแตกต่างในด้านกลุ่มเป้าหมาย ที่สื่อโซเชียลจะมีกลุ่มกว้าง แต่สื่อหลักมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และขณะนี้สื่อชุมชนเอง ก็มีการเติบโตมากขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการหนุนเสริมด้านทักษะการนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างจากเนื้อหาข่าวสารทั่วๆ ไป ที่สื่อหลักๆ มีการนำเสนออยู่ ซึ่งบางประเด็นที่มีมุมมองสร้างสรรค์ สื่อหลักก็สามารถนำไปขยายข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีก