คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
“กฎหมายมีไว้สำหรับให้ความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่กฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยที่จะต้องบังคับกับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงกันข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี และอยู่ได้ด้วยความสงบ”
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันรพี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๑)
กฎหมาย มีวิวัฒนาการมาตามความรู้ และความคิดของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันยาวนานมาแล้ว ความรู้ในกฎหมายเกิดจากความคิดเห็น การวิเคราะห์ วิจารณ์สิ่งที่ปรากฏอยู่ หรือการแสวงหาสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่มีอยู่
ในทางปรัชญากฎหมายถือว่า การพัฒนาความคิดในทางกฎหมายมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดความเข้าใจในหลักกฎหมาย หลักการสำคัญทางกฎหมาย ประกอบด้วย หลักความยุติธรรม และหลักสิทธิเสรีภาพ
ปรัชญากฎหมาย หรือนิติปรัชญา คือการวิเคราะห์ วิจารณ์หลักการพื้นฐานในทางกฎหมาย โดยอาศัยวิธีการ และประสบการณ์ทางรัฐศาสตร์ สังคมวิทยามานุษยวิทยา หรือเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาประยุกต์
สำนักความคิดทางกฎหมายคือ แนวคิดหลัก หรือทฤษฎีทางกฎหมายของนักคิดทั้งหลาย ซึ่งมีความคิดเห็นตรงกัน แม้ว่าแต่ละคนหรือแต่ละแนวความคิดจะต่างยุคต่างสมัยกันก็ตาม
สำนักความคิดทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ สำนักความคิดทางกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายฝ่ายบ้านเมือง กฎหมายฝ่ายคอมมิวนิสต์ กฎหมายฝ่ายสังคมวิทยา กฎหมายฝ่ายสัจจนิยม และกฎหมายฝ่ายประวัติศาสตร์
กฎหมายธรรมชาติ หมายถึงกฎหมายซึ่งเกิดจากธรรมชาติ มีอยู่แล้วในธรรมชาติ และมีอำนาจบังคับตามธรรมชาติ เชื่อว่ากฎหมายตามธรรมชาติอยู่เหนือกฎหมายมนุษย์ และใช้ได้ไม่จำกัดเวลา หรือสถานที่ สาระสำคัญของกฎหมายธรรมชาติอยู่ที่พิจารณาคุณค่าของการกระทำว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก ตามคุณค่าทางจริยธรรม
กฎหมายฝ่ายบ้านเมือง คือกฎหมายที่ตราขึ้นบังคับใช้ในบ้านเมือง ต้องใช้ตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะต้องดูบทนิยามศัพท์ของกฎหมาย
กฎหมายฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีความคิดโน้มเอียงไปทางกฎหมายบ้านเมือง มีความเห็นว่า กฎหมายคือปรากฏการณ์อันหนึ่งซึ่งเป็นผลสะเทือนจากการเมือง เองเกิลส์ (Angels) นักคิดคนสำคัญในสำนักความคิดนี้กล่าวว่า กฎหมายจะมีความสำคัญอยู่ก็เพียงชั่วขณะหนึ่ง เพื่อจัดระเบียบ และกลไกต่างๆ ในสังคมเท่านั้น เมื่อสังคมเคลื่อนเปลี่ยนจากระยะนายทุนเข้าสูระยะสังคมนิยม กฎหมายจะลดความสำคัญลงเกือบสิ้นเชิง ในที่สุดเมื่อเข้าสู่ระยะสัมบูรณ์ อันเป็นปลายทางของระยะทั้งปวงและเป็นจุดจบของวิวัฒนาการทั้งหลาย กฎหมายก็จะสูญสลายไปสิ้น
มาร์กซ์ และเองเกิลส์ เรียกทฤษฎีนี้ว่า “ทฤษฎีว่าด้วยปลาสนาการของรัฐและกฎหมาย”
ปรัชญาของกฎหมายฝ่ายคอมมิวนิสต์คือ ความไม่เชื่อในกฎหมาย กล่าวคือไม่เชื่อในกฎแห่งธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่เหนือขอบเขตของกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง
กฎหมายฝ่ายสังคมวิทยา เชื่อว่ากฎหมายคือ ระเบียบของสังคม (social norm) ซึ่งผันแปรไปตามยุคของปรัชญา ออกุสต์คองต์ แบ่งเป็น ๓ ยุคคือ ๑) ยุคเทวนิยม กฎหมายไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก เป็นเรื่องของสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ ๒) ยุคอภิปรัชญา ปรัชญากฎหมายเริ่มก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ปรัชญาเมธีเริ่มแสดงทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของกฎหมายในสังคมมากขึ้น ๓) ยุคปฏิฐานนิยม กฎหมายเริ่มมีลักษณะในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น การจัดการ การตีความ ตลอดจนการใช้กฎหมายเริ่มตรงต่อสภาพความเป็นจริงในสังคมมากขึ้น
กฎหมายฝ่ายสัจจนิยมมี ๒ กลุ่มคือ ๑) กลุ่มอเมริกัน ๒) กลุ่มสแกนดิเนเวียน กลุ่มอเมริกัน พยายามมองกฎหมายในแง่ที่เป็นจริง โดยเน้นให้เห็นความไม่แน่นอนของกฎหมาย ถือว่ากฎหมายคือสิ่งที่ศาลทำ ไม่ใช่สิ่งที่ศาลพูด จนกว่าศาลจะได้ตัดสิน ไม่มีใครบอกได้แน่นอนว่ากฎหมายเกี่ยวกับคดีนั้นมีอยู่อย่างไรแน่ ทนายความก็ได้แต่เพียงคาดคะเนว่าศาลจะตัดสินอย่างไร
กลุ่มสัจจนิยมสแกนดิเนเวียน ไม่เชื่อว่ากฎหมายมีอะไรเกี่ยวกับความยุติธรรม หรือความดี ความชั่ว เชื่อว่ากฎหมายมีฐานอยู่บนความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศัพท์แสงทางกฎหมายทำให้เกิดมนต์ขลัง ผูกพันเราทางด้านจิตวิทยา กฎหมายมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเอง ไม่เชื่อว่าประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมีโทษทัณฑ์สำหรับผู้ฝ่าฝืน เชื่อว่าประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายก็เพราะสำนึกในจิตใจว่า ตนมีความผูกพันจะต้องปฏิบัติตามความผูกพัน เป็นผลทางจิตวิทยา
ลองทบทวน ตรวจทานดูว่า ตลอดเวลาที่สังคมไทยมีกฎหมายบังคับใช้ นักปกครองในสังคมไทยได้ยึดตามหลักปรัชญาของสำนักความคิดไหนเป็นสำคัญ มันเพราะอะไร สมมุติฐานเบื้องต้นอาจจะมาจาก...
“สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม ชนชั้นผู้ตรากฎหมายไม่ได้มาจากชนชั้นที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ และที่สำคัญเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายไม่ได้เพื่อความสงบสุขของสังคม แต่อยู่ที่การแสดงอำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์จากกฎหมาย...
“และที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายเมืองไทยเหมือนใยแมงมุม คือจับได้แต่สัตว์เล็กๆ ส่วนสัตว์ใหญ่ทำอะไรมันไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะมันเต็มไปด้วยข้อยกเว้น อำนาจบังคับใช้จึงตกแก่คนจน คนด้อยโอกาสเท่านั้น”