พัทลุง - สองสามีภรรยานำความรู้จากการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 10 ปี กลับมาที่บ้านเกิด จ.พัทลุง จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรง ต.ปันแต อ.ควนขนุน สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ตลอดทั้งปี
วันนี้ (4 เม.ย.) ผึ้งเป็นแมลงที่สังคมที่อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ หรือเป็นกลุ่มสมาชิกภายในรัง แต่ละรังจะเป็นหนึ่งครอบครัว ประกอบด้วย 3 วรรณะ คือ ผึ้งนางพญา (queen) ผึ้งตัวผู้ (drone) ผึ้งงาน (worker) ซึ่งภายในหนึ่งรังจะมีผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งตัวผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานเป็นหมื่นๆ ตัวหรือมากกว่านั้น
ผึ้งโพรง เป็นผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทย โดยธรรมชาติจะทำรังด้วยการสร้างรวงซ้อนกันเป็นขั้นๆ อยู่ในโพรงไม้ โพรงดินภายในใต้หลังคา หรือตามฝาบ้านที่มีปากทางเข้าออกค่อนข้างเล็ก แต่ภายในมีกว้างพอที่จะสร้างรวงรังได้ ชอบสร้างรังในที่มืดมิดชิด ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่มีอัตราการแยกรังค่อนข้างบ่อยครั้ง เมื่ออาหารขาดแคลน มีโรค หรือศัตรูรบกวน
การเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรง ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่ม มีการนำนวัตกรรม องค์ความรู้ ร่วมกับการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ และอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างดี
นายวีระพล ห้วนแจ่ม อดีตผู้ช่วยนักวิจัยการเลี้ยงผึ้งชันโรง และแมลงผสมเกสร นำความรู้จากการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 10 ปี กลับมาพัฒนาการเลี้ยงผึ้งที่บ้านเกิดใน จ.พัทลุง หลังพบว่าที่แห่งนี้มีแหล่งอาหารผึ้งสมบูรณ์ และสามารถสร้างรายได้ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้ เขาจึงตัดสินใจชักชวนภรรยา นางวีรยา ห้วนแจ่ม ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทกีฏวิทยา และมีความเชี่ยวชาญด้านผึ้งโพรง และชันโรง รวมกลุ่มชาวบ้านจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ต.ปันแต อ.ควนขนุน ผลิตน้ำผึ้ง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการศึกษาวิจัยจนทำให้สามารถเลี้ยงแบบเก็บน้ำผึ้งได้เกือบตลอดทั้งปี
นายวีระพล บอกว่า การเลี้ยงผึ้งโพรงจะใช้วิธีย้ายรังจากในธรรมชาติ โดยนำรวงผึ้งที่มีตัวอ่อน และติดน้ำผึ้งประมาณ 1 เซนติเมตร กรีดรวงประกบกับลวดสเตนเลส ใช้เชือกกล้วยมัด นำคอนใส่ในรัง พร้อมกับผึ้งตัวเต็มวัย และนางพญาผึ้ง ในช่วง 5 วันแรก ให้ระวังมด และแมลงศัตรูผึ้ง เพียง 2 เดือนก็สามารถเก็บน้ำหวานได้
ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงขายน้ำผึ้งแล้ว ยังผลิตรังผึ้งขายให้แก่เกษตรกรที่จนใจอีกด้วย พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ชาวบ้านที่สนใจทั้งนอก และในพื้นที่ เพื่อเป็นองค์ความรู้ต่อยอดนำไปเลี้ยงด้วยตัวเองอีกด้วย โดยมีภรรยา นางวีรยา ห้วนแจ่ม ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทกีฏวิทยา และมีความเชี่ยวชาญด้านผึ้งโพรงและชันโรง เป็นผู้แบ่งปันความรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
นางวีรยา ห้วนแจ่ม กล่าวว่า ปัจจุบันที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ต.ปันแต แห่งนี้ยังได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำผึ้งอีกมากมาย ควบคู่กับการอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งและชันโรง เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งโพรง แก้ปัญหาการย้ายรัง การเก็บน้ำผึ้งด้วยการสลัดน้ำผึ้งไม่ให้กระทบต่อการสร้างรังของผึ้ง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป หากผู้ใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางวีรยา ห้วนแจ่ม หมายเลข 09-1803-8881