นครศรีธรรมราช - เครือข่ายชาวสวนยางพารา จัดตั้งเวทีประท้วงการยางแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ยุติการประมูลยางในสต๊อกของรัฐบาลเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากจะส่งผลให้ราคายางตกอย่างหนักในทุกครั้งที่ผ่านมา
วันนี้ (29 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อย จำนวน 9 องค์กร ได้รวมตัวบริเวณประตูทางเข้าตลาดประมูลยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และได้นำเอาแผ่นป้ายซึ่งมีข้อความประท้วงการเปิดประมูลยางพาราในสต๊อกของรัฐบาล จำนวน 3.1 แสนตัน ที่กำลังจะเปิดประมูลอีกครั้งในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 โดย 4 ครั้งแรกนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำให้ราคายางชั้นฐานราก คือ จากชาวสวนยางราคาตกอย่างหนักทุกครั้ง เสมือนกับเป็นการจงใจควบคุมราคายางไม่ให้สูง
ส่วนบนเวทีปราศรัย แกนนำชาวสวนยางรายย่อย เช่น นายทศพล ขวัญรอด นายเรืองยศ เพ็งสกุล นายทวีศักดิ์ เพิ่ม และนายมนัส บุญพัฒน์ ผลัดเปลี่ยนกันเปิดเผยปราศรัยถึงข้อมูลความไม่ปกติในการเปิดประมูล พร้อมทั้งเตรียมที่จะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้อง จำนวน 5 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี คือ
1.ให้ผู้ว่าการยาง และบอร์ดบริหารทั้งคณะลาออก และหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางไม่ไว้วางใจในการทำงาน
2.หยุดการประมูลยางที่เหลือของ กยท.โดยเอายางที่เหลือไปใช้ในหน่วยงานโครงการของภาครัฐ ตามวัตถุประสงค์เดิม
3.เช็กสต๊อกยางที่เหลือโดยให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบ
4.ตรวจสอบการไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมการบริหาร กยท. ซึ่งขัดต่อคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ห้ามหน่วยงานภาครัฐไปดูงานต่างประเทศ
และ 5.เร่งรัดโครงการการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 8 กระทรวง ตามโครงการใช้ยางในประเทศหนึ่งแสนตัน
นายทศพล ขวัญรอด เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ สต๊อกยาง 3.1 แสนตัน การนำออกมาประมูลทุกครั้งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างหนัก สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของ กยท.ล้มเหลว และมาในครั้งนี้หากไม่ยุติการเปิดประมูลยางพาราที่มาราคาเกือบ 70 บาท จะร่วงมาที่ 50 บาทเศษทันที ดังนั้น ควรยุติการประมูลเนื่องจากยางพาราใหม่กำลังจะเข้าสู่ตลาดนับล้านตัน