สตูล - ชาวบ้านใน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ผู้เสี่ยงได้รับผลกระทบการทำเหมืองหิน เตรียมร้องคณะกรรมการสิทธิฯ หลังนายทุนรุกหนักระเบิดเขา 8 ลูก ขณะที่ผู้ว่าฯ สตูล สั่งนายอำเภอเร่งหาข้อเท็จจริงว่ากระทบประชาชนด้านไหนบ้าง
วันนี้ (29 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการอนุญาตให้มีการทำประทานบัตรอุตสาหกรรมเหมืองหิน ในพื้นที่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ยังคงรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยถึงทิศทางในการขับเคลื่อนคัดค้านไม่เอาอุตสาหกรรมเหมืองหิน ที่จะเข้ามาตั้งในพื้นที่ พร้อมยอมรับว่า ได้ร้องเรียนผ่านไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนแล้ว เพื่อให้ลงพื้นที่มาดูแลชาวบ้านที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ล่าสุด จะมีการทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของสิทธิชุมชน
นางวณิชต์ชา เส็งอิ้น อยู่บ้านเลขที่ 12/1 หมู่ 6 ต.ป่าแก่บ่อหิน พร้อมกับ นายเจือม ทองฤทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 5 ต.น้ำผุด กล่าวว่า แต่ก็ยังอยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงมาช่วยเหลือ เพราะทุกคนในหมู่บ้านมีความกังวลว่า หากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของเหมืองหินในพื้นที่จริง สิ่งที่จะตามมาคือ ทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องหายไป เพราะภูเขาทั้ง 2 ลูกนี้ เป็นป่าต้นน้ำที่มีน้ำไหลลงจากภูเขามาหล่อเลี้ยงชาวเกษตรกร และมีสัตว์ป่า แม้จะไม่มีสัตว์ขนาดใหญ่แต่ก็เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์
ซึ่งการระเบิดหินทำเหมืองกลางหมู่บ้าน ยิ่งจะสร้างมลพิษทางอากาศ เสียง และอีกหลายอย่างที่ตามมา เนื่องจากเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อยู่ห่างจากบ้านเรือนชาวบ้านไม่มากนัก โรงเรียน วัด มัสยิด ศูนย์เด็กเล็กฯ ก็จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งชาวบ้านจะต้องอยู่ท่ามกลางฝุ่นละออง และเสียงที่จะทำให้รำคาญใจ
ในขณะที่ทางด้านบริษัทที่เข้ามาทำการศึกษาสิ่งแวดล้อม ก็ทำกระบวนการศึกษาไม่โปร่งใส เช่น ครั้งแสดงความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านหลายคนพลาดโอกาสในการเข้าร่วมรับฟัง เนื่องจากมีการเปลี่ยนสถานที่กะทันหัน มองชาวบ้านเป็นอันธพาล กล่าวหาว่าจะมี NGOs เข้ามาบุกยึดเวที เลยต้องเปลี่ยนสถานที่กะทันหัน ซึ่งในเรื่องนี้ชาวบ้านจะร้องให้ศาลปกครอง ช่วยพิจารณาการกระทำที่ไม่โปร่งใสของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัท
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้มีหนังสือสั่งการให้นายอำเภอทุ่งหว้า ลงพื้นที่หาความจริงต่อปัญหาดังกล่าว กรณีเรื่องเหมืองแร่ว่ากระทบต่อชาวบ้านหรือไม่ โดยให้กำหนดวันที่ 4 เมษายน 2560 ส่งเจ้าหน้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ลงตรวจสอบเขาลูกเล็ก และเขาลูกใหญ่ทั้ง 2 ลูก ได้สร้างคุณภาพชีวิตต่อชาวบ้านอย่างไร และวันที่ 5 เมษายน 2560 ให้เปิดเวทีรับฟังจากเสียงของชาวบ้านว่า ต้องการหรือไม่ กระทบอย่างไร และสรุปมาให้แก่ทางจังหวัดทราบโดยทันที
ด้านบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัสแทนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมของบริษัท สตูล ไมน์นิ่ง จำกัด ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2559 ต่อโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยกำหนดใช้หินจากภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
การรุกหนักของนายทุนในการเดินหน้าขอสัมปทานเหมืองหิน ในพื้นที่ จ.สตูล กับภูเขา 8 ลูกที่ถูกประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ทำให้ชาวบ้านที่อยู่รอบภูเขา 3 กลุ่ม ออกมาค้านการระเบิดเขาโต๊ะกรัง รอยต่อ อ.ควนโดน กับ อ.ควนกาหลง คัดค้านระเบิดเขาบังใบ อ.เมือง และเขาลูกเล็ก เขาลูกใหญ่ อ.ทุ่งหว้า ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเกิดความขัดแย้งกันเองภายในชุมชนถึงบางกลุ่มคนอยากให้เกิดอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่
ขณะที่นโยบายจังหวัดที่จะผลักดันให้สตูลเป็นอุทยานธรณีโลก หลังพบแหล่งหินโบราณที่ล้ำค่ายากจะประเมินหลายจุดในพื้นที่ โดยกลางปีนี้ องค์กรยูเนสโกก็จะลงพื้นที่ประเมินว่าควรค่าจะให้เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลกหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน หากภาครัฐ และรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินการในการยกเลิกประกาศแหล่งหินทั้ง 8 ลูก ให้เป็นพื้นที่ทางทรัพยากรธรณีที่ทรงคุณค่า ก็คงเป็นปัญหาในพื้นที่ที่ยากจะแก้ไข ทั้งชาวบ้าน และนายทุน
การประกาศเมื่อปี พ.ศ.2539 ต่อเนื่อง 2540 ตามประกาศอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมสตูล มีด้วยกัน 8 ลูก คือ 1.ภูเขาพลู ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 2.ภูเขาจำปา ภูเขาโต๊ะช่าง และภูเขาเณร หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 3.ภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า 4.เขาลูกช้าง โดยเขาโต๊ะกรัง เป็นลูกเขาในกลุ่มนี้ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 5.เขาวังบุมาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 6.เขาละใบดำ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 7.เขาจุหนุงนุ้ย ต.กำแพง อ.ละงู และ 8.เขาละมุ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล