พัทลุง - ชุมชนท่องเที่ยวใน จ.พัทลุง พาบุกตะลุยป่าเทือกเขาบรรทัด 3 วัน 2 คืน เปิด “น้ำตกหนานญี่ปุ่น” และ “เขาล่อนดอกไม้” เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ผืนป่าครอบคลุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.พัทลุง ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ยังคงเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของผืนป่าเขตร้อน เหมาะสำหรับศึกษาธรรมชาติ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งหลายชุมชนที่อาศัยริมผืนป่าแห่งนี้เริ่มตื่นตัว เพื่อหวังนำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้เข้าชุมชนตามแนวพึ่งพาการอนุรักษ์
อย่างที่ชุมชนบ้านไสถั่ว ม.5 ต.กงหรา อ.กงหรา จ.พัทลุง กลุ่มเยาวชน และผู้นำท้องถิ่นได้เล็งเห็นถึงความสวยงามของผืนป่า จากเดิมที่เคยหาของป่า ล่าสัตว์อยู่ในอดีต จึงหันมาหยุดล่าสัตว์เพื่ออนุรักษ์ และรักษามานานนับ 10 ปี จึงได้ปรับทิศทางมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เที่ยวชมธรรมชาติของผืนป่าที่เคยเดินทางไปพบสิ่งที่สวยงามในผืนป่าแห่งนี้ และได้มีการออกเดินเท้าลุยป่าสำรวจแหล่งท่องเที่ยวกันอย่างจริงจัง
โดยได้รับการสนับสนุนให้ความรู้ จากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงจังหวัดพัทลุง เพื่อต่อยอดเป็นผู้นำทาง และดูแลนักท่องเที่ยวหากมาเที่ยวฝืนป่าแห่งนี้ โดยการการกำหนดเส้นทางจากหมู่บ้านไต่ไปตามหลีบเขา เพื่อไปยัง “น้ำตกหนานญี่ปุ่น” และ “เขาล่อนดอกไม้” โปรแกรม 3 วัน 2 คืน หวังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.พัทลุง
นายณัฐวุฒิ นวลพรหม อายุ 30 ปี ประธานกลุ่มเดินป่าศึกษาธรรมชาติเชิงนิเวศภูเขาบรรทัด อยู่บ้านเลขที่ 148 ม.5 ต.กงหรา อ.กงหรา จ.พัทลุง กล่าวว่า สำหรับเส้นทางเดินป่าชม “น้ำตกหนานญี่ปุ่น” และ “เขาล่อนดอกไม้” นั้น เป็นเส้นทางที่เดินไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปต่อนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมความงดงามของน้ำตก
โดยวันแรกใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 6-7 ชั่วโมง ผ่านควนอ่าวขี้หนอน ควนไสมะนาว พักมื้อเที่ยงที่หาดทรายขาว แล้วเดินทางต่อผ่านสันค่างเผือก ดงเสม็ดภูเขา หลังจากนั้น ก็พักค้างแรมที่แคมป์น้ำตกญี่ปุ่น ที่เป็นจุดไฮไลต์ “น้ำตกหนานญี่ปุ่น” เมื่อทุกคนมาถึงความเหนื่อยล้าก็ปลิดทิ้ง เพราะเบื้องหน้าเป็นความสวย และงดงามของธรรมชาติที่สรรค์สร้างเอาไว้กลางป่า เป็นน้ำตก 3 ชั้น ขนาดความกว้างประมาณ 50 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร น้ำไหลกระแซะเซ็นกระทบก้อนหินเป็นละอองผ่านแสงแดดเป็นสายรุ้ง
จากนั้นตื่นเช้าวันที่สองนั่งจิบกาแฟ พร้อมทานอาหารท่ามกลางสายน้ำ และไออุ่นของแสงแดดที่ลอดผ่านใบไม้ในยามเช้า หลังเสร็จสิ้นภารกิจก็เตรียมสัมภาระพร้อมเดินเท้าต่อไปยังเป้าหมายที่ 2 คือ “ค่ายไม้ไผ่” อดีตเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อปี 2518 ที่มีร่องรอยของหลุมหลบภัย บังเกอร์ และเสื้อผ้าเครื่องใช้ที่ยังมีให้เห็นหลงเหลืออยู่
หลังจากดูร่องรอยประวัติศาสตร์ของอดีต ผกค.แล้ว ก็ลุยเดินเท้าบนเส้นทางที่สูงชันต่อจนไปถึงยอด “เขาล่อนดอกไม้” ซึ่งเป็นลักษณะป่าหญ้ากระจูดหนู สลับกับไม้แคระ ดงหม้อข้าวหม้อแกงลิง เทียนน้ำ และรองเท้านารี ก่อนค่ำพระอาทิตย์ตกทางฝั่งของ จ.ตรัง และเช้าขึ้นทางฝั่ง จ.พัทลุง ขณะที่จุดชมวิวมองเห็นทั้ง 2 จังหวัดได้ชัดเจน แต่วันไหนที่มีหมอกปกคลุมทำให้การมองเห็นไม่ค่อยชัด แต่ก็สวยงามไปอีกแบบของผืนป่าเทือกเขาบรรทัดพัทลุง-ตรัง
นายกมลพรรณ อินทรฤทธิพงษ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ศักยภาพของการท่องเที่ยวธรรมชาติป่าเขาของ จ.พัทลุง ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ แต่ที่ผ่านมา ยังขาดการบริหารจัดการ และการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน ที่สามารถสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนบ้านไสถั่ว ที่เยาวชนตื่นตัวในการท่องเที่ยว การบริหารจัดการท่องเที่ยว ตลอดจนถึงดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยือนในอนาคต
นายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การที่เยาวชน และคนในชุมชนตื่นตัวด้านการท่องเที่ยว นับเป็นเรื่องที่ดีที่คนในชุมชน และเยาวชนได้รู้จักหวงแหนธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ และนำปรับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวคนใดสนใจก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายณัฐวุฒิ นวลพรหม โทร. 09-2594-9249 และนายเจริญชัย ช่วยชู โทร. 08-9494-4651