ตรัง - ชาวบ้าน 2 ตำบลของ อ.นาโยง จ.ตรัง ยังร่วมใจกันนำ “ต้นสาคู” ไม้พื้นถิ่นที่สำคัญของภาคใต้ มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการทำขนมหวานทั้งไทย และเทศ แถมมีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่นใด
วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางละเมียด รัตนะ ประธานกลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ จ.ตรัง กล่าวว่า อ.นาโยง โดยเฉพาะใน ต.นาข้าวเสีย และ ต.โคกสะบ้า ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองลำชาน นับเป็นแหล่งป่าสาคู ไม้พื้นถิ่นที่สำคัญของภาคใต้ จนทำให้ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2550 และสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้ให้งบประมาณ 2.8 ล้านบาท มาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ป่าสาคู เมื่อปี 2553 ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ทางระบบนิเวศแล้ว ยังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะแทบจะทุกส่วนจากยอดถึงราก สามารถนำมาใช้ และขายได้
โดยชาวบ้านจะนิยมตัดใบเพื่อนำไปเย็บเป็นจากใช้ในการมุงหลังคา เพราะมีความแข็งแรง และมีอายุการใช้งานนานกว่าใบพืชชนิดอื่นๆ รวมทั้งนำก้านไปใช้ทำไม้กวาด เสื่อ หรือเครื่องจักสานต่างๆ แต่ที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ การนำลำต้นมาสกัดเอาแป้งเพื่อทำขนมหวานได้มากมายหลายสิบชนิด เช่น ขนมลอดช่อง ขนมบวด ขนมจาก ขนมโค ขนมด้วง ขนมครก ขนมเปียกปูน ขนมสาคูไส้หมูไส้ไก่ ขนมคุกกี้ หรือยังสามารถนำไปทำเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งเส้นพาสต้า อาหารขึ้นชื่อของฝรั่ง
ทั้งนี้ โดยเฉพาะขนมลอดช่อง ซึ่งทำมาจากแป้งสาคู จะมีกลิ่น และรสที่อร่อยแตกต่างไปจากการใช้แป้งชนิดอื่น รวมทั้งยังมีสีน้ำตาลธรรมชาติ ที่แปลกไปจากขนมลอดช่องที่อื่น ซึ่งมักจะเป็นสีเขียว หรือสีขาว นับเป็นเมนูขนมหวานยอดฮิตที่ขายดิบขายดี จนสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านอย่างงดงาม นอกเหนือไปจากการทำสวนยางพารา เพราะมียอดสั่งซื้อแป้งสาคูเพื่อไปทำขนมเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนผลิตไม่ทัน ซึ่งสาคูเพียง 1 ต้น เมื่อสกัดมาเป็นแป้ง และทำเป็นขนมขายแล้ว จะสามารถสร้างเงินให้ได้มากถึง 1-2 หมื่นบาทเลยทีเดียว