นราธิวาส - นราธิวาสมอบโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี มอบแล้วกว่า 2,000 แปลง ชาวบ้านเผยต่อสู้มากว่า 20 ปี ในที่สุดก็สมหวัง ขอบคุณทุกฝ่ายที่จริงใจต่อการแก้ปัญหา จนสามารถออกโฉนดให้ชาวบ้าน
วันนี้ (21 มี.ค.) ณ ที่ว่าการอำเภอยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส นายยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอยี่งอ เป็นประธานในพิธีมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนชาวอำเภอยี่งอ ตามโครงการ “แจกโฉนดทั่วทิศ พัฒนาคุณภาพชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างหาที่สุดไม่ได้
ซึ่งศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินการสำรวจรังวัด และทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเดินสำรวจเพื่อแก้ปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี โดยในวันนี้ได้มอบโฉนดที่ดินแก่ประชาชนในพื้นที่ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ต.ตะปอเยาะ 160 แปลง 103 ราย ต.ลุโบะบายะ 85 แปลง 69 ราย รวมทั้งสิ้น 245 แปลง จำนวน 172 ราย
นางปานทิพย์ เปี่ยมนุ่ม ผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน มีนโยบายให้มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินให้แก่พี่น้องประชาชน ให้เกิดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน พร้อมกับสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ทั้งนี้ กรมที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาดำเนินการสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตามโครงการเดินสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการออกโฉนดในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอรือเสาะ อำเภอบาเจาะ และอำเภอยี่งอ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วกว่า 4,000 แปลง ขณะเดียวกัน ได้มีการแจกโฉนดที่ดินไปแล้วจำนวน 2,000 แปลง ซึ่งเป็นงบประมาณปี 59 และปี 60 และจะเตรียมแจกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินอีกให้ได้ตามเป้าหมายเฉพาะปี 60 ครบ 3,500 แปลง
ด้าน นางนิรอมา อามีเนทรานนท์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 106/2 ม.1 ต.ลูโบบายะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน หรือโฉนดที่ดิน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านเกิดมานานบนอาณาเขตเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี อันสืบเนื่องจากประชาชนในยุคปู่ย่าตายายได้จับจองที่ดิน และทำประโยชน์ ปลูกสวนยางพารา สวนทุเรียน เงาะ และพืชผลไม้อื่นนับเป็น 100 ปี ต่อมา ทางรัฐบาลได้มีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติบูโดขสุไหงปาดี ทำให้พื้นที่ชาวบ้านที่ทำกินสมัยปู่ย่าตายายมีปัญหาเรื่อยมา
ชาวบ้านไม่สามารถเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์ในที่ดินอีก ชาวบ้านจึงเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐส่วนเกี่ยวข้อง หากนับเป็นการต่อสู้ไม่น้อยกว่า 20 ปี เพื่อให้รัฐส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในที่ดินทำกินว่าเป็นของชาวบ้านก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
“และในที่สุดประสบความสำเร็จ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่จริงใจต่อการแก้ปัญหา จนสามารถออกโฉนดให้ชาวบ้าน ซึ่งทุกคนดีใจที่จะได้เป็นเจ้าของในที่ดินถูกต้องตามกฎหมายเสียที่ สมกับที่รอคอยมายาวนาน และเมื่อมีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย ชาวบ้านจะได้ทำให้เกิดประโยชน์ในการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว และบางท่านจะแปลงทรัพย์สินเป็นทุน เพื่อประกอบธุรกิจเพื่อลงทุน อันนั้นสุดแล้วแต่ชาวบ้านแต่ละคน ในส่วนตัวจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไป” นางนิรอมา กล่าว