xs
xsm
sm
md
lg

ลงดาบ! ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 14 ปี นายกประมงตรัง และพวกในคดีค้ามนุษย์ปี 58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 14 ปี นายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง ร่วมกับพวกในคดีค้ามนุษย์ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2558 พร้อมสั่งคัดค้านการประกันตัว รวมทั้งสั่งยกฟ้อง 4 ราย จากผู้ต้องหาทั้งหมด 11 ราย

วันนี้ (17 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณาบัลลังก์ 6 ศาลจังหวัดตรัง ศาลชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ หมายเลขคดีที่ 838/2558 สภ.กันตัง จ.ตรัง กรณีที่ นายสมพล จิโรจน์มนตรี หรือโกนั้ง อายุ 66 ปี ซึ่งเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ แพปลาบุญลาภ เป็นนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง และประธาน กต.ตร.สภ.กันตัง จ.ตรัง ตกเป็นผู้ต้องหาพร้อมพวกรวม 11 ราย โดยมีครอบครัว และทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย

สำหรับจำเลย 11 ราย ประกอบด้วย 1.น.ส.สมจิต ศรีสว่าง หรือแมซอ 2.นายไพวงศ์ ไชยพลฤทธิ์ 3.นายสมพล จิโรจน์มนตรี หรือโกหนั้ง 4.นายวิชัย เรียบร้อย หรือยามเหลี้ยม 5.นายชูชาติ ศรีวับ ไต๋กงเรือโภคา 4 6.นายคำมี ประดาสุข หรือไต๋วี ไต้ก๋งเรือโภคาสถาพร 19 7.นายถาวร จันทรักษ์ ไต้ก๋งเรือโภคาสถาพร 24 8.นายประวิทย์ ลิ้มซ้าย ไต๋กงเรือวนิชประมง 9.น.ส.กัลยาณี ชุมอิน 10.หจก.บุญลาภการประมง และ 11.นายเมมิว
 

 
ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาลงโทษ จำเลยที่ 1 น.ส.สมจิต จำเลยที่ 2 นายไพวงศ์ จำเลยที่ 3 นายสมพล หรือโกหนั้ง จำเลยที่ 8 นายประวิทย์ จำเลยที่ 9 น.ส.กัลยาณี และจำเลยที่ 11 นายเมมิว ให้จำคุกคนละ 14 ปี และสั่งปรับ หจก.บุญลาภการประมง จำนวน 600,000 บาท ขณะเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง นายวิชัย นายชูชาติ นายคำมี และนายถาวร พร้อมสั่งคัดค้านการประกันตัว ส่วนเหตุผลที่ศาลตัดสินลงโทษ นายสมพล หรือโกหนั้ง และพวก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการบังคับแรงงานของ น.ส.สมจิต และนายประวิทย์ ไต้ก๋งเรือวนิชประมง ส่วนไต้ก๋งเรือที่ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้บังคับแรงงาน รวมทั้ง นายวิชัย ซึ่งได้ทำตามหน้าที่ยาม

โดย นายสมพล หรือโกหนั้ง และพวก ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งบุคคลอายุเกินกว่าสิบห้าแต่ไม่เกินสิบแปดปี เอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยใช้กักขังผู้อื่นหรือกระทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้สืบเนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ โดยศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ทัพเรือภาคที่ 3 สำนักงานปราบปราบการฟอกเงิน (ปปง.) และมูลนิธิ EJF ได้ร่วมกัน ตร.บช.ภ.9 และ ตร.ภ.จว.ตรัง ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง พบว่า มีการใช้แรงงานโดยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จำนวน 11 ราย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนขอศาลจังหวัดตรังออกหมายจับผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์และสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยมีผู้ต้องหา จำนวน 11 ราย และจับกุมได้เมื่อวันที่ 7 พ.ย.58 ก่อนควบคุมตัวนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายดังกล่าว
 
กำลังโหลดความคิดเห็น