xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้หญิงศรัทธา” : ก้าวที่กล้าในกระบวนการสันติภาพจากข้างล่าง ท่ามความรุนแรงอันคุกรุ่น / รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


  
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
นำเสนอเนื่องในวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๖๐  
--------------------------------------------------------------------------------
 
ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ขอแถลงถึง “บทบาทผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการพัฒนา” เนื่องในวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ว่า...
 
“ผู้หญิงได้เข้ามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่างๆ อย่างหลากหลาย นับเป็นความสำเร็จในการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่สามารถหนุนเนื่องสู่การสร้างสันติภาพ และสันติสุขในชุมชนและสูงขึ้นไปได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน แนะสร้างสภาวะและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพผู้หญิงเพื่อให้เกิดการเสริมแรงในกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนฐานล่างสู่สันติภาพและสันติสุขที่ยั่งยืน”
 
1.ผู้หญิงศรัทธา
 
ปัญหาความไม่มั่นคง และความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อ ยาวนานและทวีความรุนแรงต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ได้นำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างขนานใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังคมไทยในภาพรวม ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ถูกสะท้อนว่าเป็น “การพัฒนาจากข้างบน” ดังสะท้อนผ่านนโยบาย กลไกเชิงสถาบันจากฝ่ายการเมือง กองทัพ และระบบราชการ
 
แต่ในด้านหนึ่งของสถานการณ์ความไม่มั่นคง และความรุนแรง ได้มีการรวมตัวขององค์กรชุมชนเป็นเครือข่ายความร่วมมือในชื่อ “เครือข่ายชุมชนศรัทธา” หรือ “กำปงตักวา (Kampung Taqwa)” ในภาษามลายู ดำเนินการริเริ่ม “การพัฒนาจากข้างล่าง” ด้วยการสร้างกิจกรรม และโครงการพัฒนาในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่หลากหลาย เช่น โครงการบ้านมั่นคง ออมทรัพย์ สวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประมงพื้นบ้าน ฯลฯ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และการพึ่งตนเอง เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมั่นคงในระยะยาว
 
โดยเป้าหมาย และวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งเครือข่ายชุมชนศรัทธาคือ (1) การพัฒนาวิถีชุมชนให้สอดคล้องต่อหลักการและแนวทางศาสนา (2) การพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนให้เกิดสันติสุข (3) การฟื้นฟูวิถีและวัฒนธรรมชุมชน และ (4) เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแบบพึ่งตนเองของชุมชน  ภายใต้แนวคิด “ใช้หลักศาสนา สร้างศรัทธา พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้” โดยใช้กลไกสี่เสาหลัก ประกอบด้วย ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติ เพื่อสร้างชุมชน และการพัฒนาชุมชนที่เรียกว่า “ความเป็นชุมชนศรัทธา” ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตวิญญาณ
 
การดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนศรัทธา ที่มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างพลังชุมชนจากนั้นจึงยกระดับสู่การสร้างทางเลือกใหม่พัฒนา ทำให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานอัตลักษณ์ชุมชนและวัฒนธรรม การพัฒนากิจกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องต่อความคาดหวังและความต้องการของชุมชน การคิดค้นกิจกรรมสู่ความยั่งยืนและการพึ่งตนเอง ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในแนวทางการพัฒนา หน่วยงานภายนอกให้การยอมรับและมีทัศนคติที่ดีในการส่งเสริม/สนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนมากขึ้น
 
ความน่าสนใจในการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนศรัทธา คือ “ผู้หญิง” ที่เรียกขานตัวเองว่า “ผู้หญิงศรัทธา” ได้เข้ามามีบทบาทอย่างในการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาทั้งในระดับชุมชน และเครือข่ายส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่ความมั่นคง การสร้างสันติภาพ และการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในงานพัฒนา และด้านอื่นๆ มากขึ้น
 
อย่างไรก็ดี บทบาทผู้หญิงในเครือข่ายชุมชนศรัทธา พบว่า การก้าวข้ามสถานะในครอบครัวมาสู่การเป็นผู้นำชุมชนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย หากต้องอาศัยแรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจทั้งจากภายในและนอกชุมชน บุคลิกและการก้าวกล้าความท้าทายใหม่ๆ ความกล้าหาญที่จะเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลง ริเริ่มกระทำการสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ประสบการณ์ชีวิตก็มีส่วนสำคัญในการเสริมเติมความรู้ที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงาน
 
และที่สำคัญคือ การทำงานพัฒนาในยามสถานการณ์ที่พื้นที่/ชุมชนของผู้หญิงตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของความรุนแรง แปลกแยกแตกต่าง อันเนื่องมาจากปัญหา และการแสวงหาแนวทางการแก้ไขที่สอดคล้องต่อความต้องการ ด้วยการริเริ่มกิจกรรมสาธารณะ เช่น การออมทรัพย์ อสม. กลุ่มอาชีพ กลุ่มสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
ผู้นำหญิงศรัทธาจะใช้ฐานความรู้จากประสบการณ์เดิมผสานเข้ากับการจัดการและองค์ความรู้สมัยใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนเติมเต็มจากหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน โดยกระบวนการพื้นฐานที่ผู้นำหญิงนำมาประยุกต์กับกิจกรรมการพัฒนาในชุมชนของตน คือ การสร้างความสัมพันธ์พื้นฐานผ่านการพูดคุย สนทนาในชีวิตประจำวัน การสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อน การริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ใกล้ๆ ตัว
 
จากนั้นจึงยกระดับการประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่สามารถถ่ายเท/จัดสรรทรัพยากรให้ชุมชนได้ ดังนั้น การทำงานในระยะแรกที่แม้เพื่อการพัฒนาชุมชน แก้ไขปัญหาใน แต่จะค่อยๆ พัฒนาประสบการณ์ไปสู่การทำงานเชิงพัฒนาในระดับเครือข่าย หรือสูงขึ้นไป
 
“ชุมชนศรัทธาเหมาะสมต่อชาวบ้าน ทำให้ปัญหาในชุมชนลดลง และเกิดสันติภาพ...สันติภาพที่ไม่ใช่เพียงแค่การเยียวยาเท่านั้น แต่คือความพยายามในการสร้างพื้นที่เสรีภาพในชุมชน”
 
บทบาทของผู้หญิงศรัทธาวันนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่เพียงนำไปสู่การทำงานพัฒนาชุมชนที่หนุนเนื่องสู่การสร้างสันติภาพ และสันติสุขเท่านั้น หากคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจสู่ความร่วมมือที่เท่ากันมากขึ้น
 

 
2. รูปธรรมพื้นที่ : ผู้หญิงกับการออมทรัพย์และการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจ 
 
เครือข่ายชุมชนศรัทธา ได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ.2559 เพื่อใช้กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เป็นเครื่องมือในการเริ่มกระบวนการสร้างให้เกิดความร่วมมือกันของผู้คนในชุมชน อีกทั้งเป็นการปูพื้นฐานการรวมกลุ่มในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในเชิงเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยดำเนินการใน 10 ชุมชน
 
ทั้งนี้ในระยะเริ่มต้นการปฏิบัติการ บางพื้นที่อาจจะพบกับอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น ชาวชุมชนเบื่อหน่ายกิจกรรมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพราะที่ผ่านมากิจกรรมนี้มีความล้มเหลว จึงต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่ หลายพื้นที่ที่มีกองทุนหมู่บ้านอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินงานกองทุนฯ ต่อไปได้เนื่องจากชุมชนหมดความเชื่อมั่นต่อกองทุน จึงมีเงินเหลือตกค้างอยู่ในกองทุนจำนวนมาก เป็นต้น
 
การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์มีขั้นตอน ประกอบด้วย การทำเวทีชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการระดับชุมชน  การประชุมแกนนำอาสาเพื่อยกร่างกติกากลุ่มออมทรัพย์ การสร้างเวทีเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน  และการพัฒนาศักยภาพกรรมการกลุ่มฯ และการเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ทั้งการร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม การร่วมกันยกร่างกติกากลุ่มออมทรัพย์ การนำเสนอกติกาให้สมาชิกรับรองและปรับแก้ร่วมกัน การรับสมัครสมาชิก  การดำเนินการคัดเลือกกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์
 
ทำให้มีผู้เข้าร่วมมากถึง 547 คน ประกอบด้วย แกนนำ สี่เสาหลัก กรรมการชุมชน สมาชิกชุมชน แบ่งเป็นผู้หญิง 329 คน ผู้ชายจำนวน 218 คน กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ทำให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้ามชุมชน/พื้นที่ เกิดแกนนำอาสาดำเนินการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ใน 10 พื้นที่ๆ ละ 20-25 คน รวมทั้งหมด 265 คน เป็นชาย 80 คน หญิง185 คน
 
กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้ชุมชนได้ปฏิบัติการเรียนรู้ด้วยแบบรวมหมู่ ส่งผลเกิดแรงศรัทธาต่อผู้นำสี่เสาหลัก เกิดกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความสามัคคีที่ชาวชุมชนสัมผัสได้จริงด้วยตนเอง เกิดการเรียนรู้คน กิจกรรม วิธีการออม การทำงานเป็นทีม การให้ความช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม
 
การได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ จากโลกภายนอก ทำให้สมาชิกมีความรับผิดชอบมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในและนอกเวที มีการขยายผลไปยังพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง และยกระดับไปสู่การ “กระบวนการการเงินชุมชน” หรือ “ธนาคารชุมชนศรัทธา” ที่เปรียบเสมือน “ธนาคารย่อย” ในชุมชน และมีธนาคารแม่อยู่ที่เครือข่าย ที่มีนโยบายดูแลผู้อ่อนแอ ช่วยเหลือผู้ยากไร้
 

 
3. ข้อเสนอจากผู้หญิงสู่เส้นทางสร้างสันติภาพ 
 
จากวิวัฒนาการและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนศรัทธาและบทบาทผู้หญิงในเครือข่ายที่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมชุมชนครอบคลุมหลายมิติ สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ผู้หญิงมีบทบาทและศักยภาพในการเรียนรู้ ขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับชุมชน เครือข่ายและสูงขึ้นไป มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอย่างลึกซึ่งกับกระบวนการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องผ่าน
 
(1) การ “สร้างสภาวะและสภาพแวดล้อมระดับชุมชน” ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพผู้หญิงให้สามารถขับเคลื่อนชุมชนอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยง ผ่านกิจกรรม โครงการต่างๆ ท่ามกลาง “การปฏิบัติการจริงผ่านกลุ่ม/องค์กรผู้หญิง” ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม/โครงการส่งเสริมอาชีพ เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองการออมทรัพย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่สามารถความมั่นคงของครัวเรือน-ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมและเปิดบทบาทให้ผู้หญิงอย่างเต็มที่ของภาครัฐ ภาคสังคม/ประชาสังคม ทั้งในแง่องค์ความรู้ เวทีการเรียนรู้ และงบประมาณ
 
อันจะทำให้ผู้หญิงเป็น “แรงเสริม” และเป็นการ “เสริมแรง” สำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนฐานล่างและการหนุนเนื่องสู่การสร้างสันติภาพและสันติสุขที่มั่นคง ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้   
 
(2) การสนับสนุนบทบาทผู้หญิงในกระบวนการพัฒนาระดับชุมชน ที่หนุนเนื่องสู่การขับเคลื่อนสันติภาพและสันติสุขในภาพรวมของพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้หญิง และการพัฒนาชุมชนในรูปกิจกรรม และโครงการที่ริเริ่มโดยผู้หญิงในชุมชน/เครือข่าย ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทชุมชน ภายใต้ความร่วมมือกับแกนนำสี่เสาหลักของแต่ละชุมชน/เครือข่าย
 
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงถึงในวันนี้ก็คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและสนับสนุนบทบาทผู้หญิงในกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กิจกรรมที่ผู้หญิงได้ริเริ่ม และ/หรือร่วมกับผู้นำในชุมชน จะเป็นก้าวที่สำคัญของการการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน การสร้างสันติภาพและสันติสุขที่มั่งคง ยั่งยืน และเสมอเสมอภาค และเป็นธรรม
 
เนื่องเพราะการแก้ไขปัญหาแบบ “รวมศูนย์การตัดสิน” ระบบราชการที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับชุมชนระดับล่างได้อย่างลื่นไหลและลงตัว ทำให้ “กระบวนการสร้างสันติภาพและสันติสุขที่แปลกแปร่งและไกลไปจากโลกชีวิตของผู้คนในชุมชน” เกิดการสะดุด กระทั่งชะงักงันในบางระยะ ในเกือบทุกระดับ ตั้งแต่นโยบายถึงการปฏิบัติ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น