พังงา - เกษตรกรพังงา ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ปลูกพืชผักสร้างรายได้เดือนละหลายแสนบาท ไม่มีหนี้สิน ส่งลูกเรียนจนจบด็อกเตอร์ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแท้จริง
สำหรับการทำอาชีพเกษตรกรรมหลายๆ คนคิดว่าไม่สามารถที่จะทำให้มีรายได้มากเพียงพอ เพราะพืชผักทางการเกษตรจะขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด ที่ไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง ซึ่งต่างกับ นายอุดม บุญศรี อายุ 63 ปี และนางสมจิต บุญศรี อายุ 60 ปี เกษตรกร หมู่ที่ 3 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่ได้นำหลักแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในชีวิตการทำเกษตร โดยการปลูกผักทุกอย่างที่สามารถกินได้ ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว บนเนื้อที่แค่ 2 ไร่ โดยทำเป็นเวลามากกว่า 40 ปี จนสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี และปริญญาเอก รายได้ต่อเดือนกว่า 1 แสนบาท
นางสมจิต บุญศรี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ แต่ได้ย้ายถิ่นฐานมาทำการเกษตรที่จังหวัดพังงา เป็นเวลามากกว่า 40 ปี ตั้งแต่มาอยู่พังงาก็ทำเกษตรมาตลอด จนสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี และปริญญาเอก รายได้ต่อเดือนกว่า 1 แสนบาท ในแปลงเกษตรจะปลูกผักบุ้ง ผักเสี้ยน โหระพา ใบแมงลัก ใบกะเพรา ถั่วพู บนพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งพืชผักเหล่านี้สามารถให้ผลผลิตในระยะเวลา 20-23 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งแรงบันดาลใจที่หันมาทำเกษตรก็คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รายได้ในการปลูกพืชผักสามารถพออยู่พอกิน ไม่มีหนี้สิน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ด้าน นายสมชาย บริพันธุ์ เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า พืชหลักของจังหวัดพังงา คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาไม่แน่นอน บางช่วงราคาตกต่ำทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ฉะนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดพยายามที่จะส่งเสริการปลูกพืชผัก หรือว่าพืชเสริมรายได้บางส่วนโดยเฉพาะผัก จังหวัดพังงา นำเข้าจากต่างจังหวัดภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดพังงาเป็นแหล่งที่มีการท่องเที่ยวมีผู้บริโภคจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเราจะเสียดุลการค้าในเรื่องของพืชผักหลายพันล้าน
ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ พยายามที่จะรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรปลูกผักไว้บริโภค และจำหน่ายในครัวเรือน โดยเน้นในเรื่องของพืชผักปลอดภัยจากสารพิษเพื่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ อยากรณรงค์ให้พี่น้องเกษตรกรจังหวัดพังงา ได้มีการขยายพื้นที่ในการปลูกผัก บางพื้นที่อาจมีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คือ ไม่ใช้ดินปลูกผักแบบโรงเรือนระบบปิด หรือผักแบบกางมุ้ง