ยะลา - “กลุ่มมาราปัตตานี” ออกแถลงการณ์ประณามคนร้ายก่อเหตุรุนแรง อ้างไม่เกี่ยวเหตุยิงครอบครัว 4 ศพที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เผยทางกลุ่มเห็นพ้องเสนอ 5 อำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัย เตรียมเลือก 1 ใน 5 อำเภอเป็นพื้นที่นำร่อง
จากกรณีที่ นายสมชาย ทองจันทร์ อายุ 47 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านธรรมเจริญ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ นราธิวาส ได้ขับรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ ดีแมคซ์ สีบรอนซ์ทอง ป้ายทะเบียน บจ 9958 ยะลา เพื่อไปส่งนักเรียนที่โรงเรียนอนุบาลรือเสาะ โดยมีผู้นั่งอยู่รวมกันในกระบะ 6 คน แต่เมื่อมาระหว่างทางบนถนนในหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่รถยนต์กระบะคันดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ นายสมชาย ทองจันทร์ รวมทั้งภรรยา และบุตรเสียชีวิตรวม 4 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และบาดเจ็บจากรถยนต์เสียหลักเล็กน้อยอีก 1 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 07.40 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าวันนี้ (5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กลุ่มมาราปัตตานี นำโดย อาบู ฮาฟิซ อัล ฮากีม แกนนำกลุ่มมาราปัตตานี พร้อมด้วย ดร.มุฮำหมัด ซากี จากบีไอพีพี, อุสตาซ มะ ชูโว จากบีอาร์เอ็น, หมอ ดิง จากบีไอพีพี โฆษกมาราปาตานี, อุสตาซ สุกรี ฮารี จากบีอาร์เอ็น หัวหน้าคณะการพูดคุยสันติภาพของมาราปาตานี, อาบู นัจฮาน จากขบวนการพูโล และอัซมาน อับบาส จากมุจาฮีดีน ได้ออกแถลงการณ์ขอประณามการก่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พร้อมปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกด้วยว่า ในที่ประชุมวันนี้ คณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (JWG-PDP) ได้ยืนยัน และอนุมัติกรอบทั่วไปในการดำเนินงานพื้นที่ปลอดภัย (general framework for safety zone implimentation) และเห็นพ้องกันกับการเสนอ 5 อำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัยคือ 1 อำเภอใน จ.ปัตตานี 2 อำเภอใน จ.ยะลา และอีก 2 อำเภอใน จ.นราธิวาส โดยจะเลือก 1 ใน 5 อำเภอนั้นเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง
หลังจากนั้น คณะทำงานทางเทคนิคร่วม (Joint Technical Team/JTT) จะถกเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของกฎระเบียบ และขั้นตอนของการดำเนินการเพื่อจะจัดตั้งทีมประเมิน (assessment team) เพื่อเดินทางไปตรวจสอบอำเภอที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ต่อไปก็จะการเสนอให้คณะทำงานทางเทคนิคร่วม (Joint Technical Team/JTT) และคณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (JWG-PDP) เพื่อที่จะจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการร่วมกัน (JAC) ในอำเภอที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง โดยคณะกรรมการดำเนินการร่วมกัน (JAC) จะมีตัวแทนของปาร์ตี้ เอ, ปาร์ตี้ บี, เอ็นจีโอ/ซีเอ็สโอ และชาวบ้านเพื่อที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย